ADS


Breaking News

ชมรมพลังใจแผ่นดินสยาม จัดเสวนา "บทบาทสตรีสยาม อดีต ปัจจุบัน และอนาคต" ใน วันสตรีสากล

บทบาทสตรีสยาม อดีต ปัจจุบัน และอนาคต "วันสตรีสากล"
     8 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมปิคนิค ซ.รางน้ำ เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ได้มีการจัดประชุมเสวนาเรื่อง "บทบาทสตรีสยาม อดีต ปัจจุบัน และอนาคต" จัดโดย ชมรมพลังใจแผ่นดินสยาม 
     นางศุภบุณณ์ศิริ ภัทร์ชลวัฒน์ ประธานชมรมพลังใจแผ่นดินสยาม และผู้นำกลุ่มสมัชชาสตรีประชาธิปไตย และสตรีนักธุรกิจแห่งชาติ ได้กล่าวว่า  ขอเป็นตัวแทนของสตรีทั้งแผ่นดินสยาม เพื่อเป็นสื่อกลางในการให้ข้อมูลข่าวสารทางการเมือง และความรู้เกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยยึดหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตลอดจนดำเนินกิจกรรมที่เป็นสิ่งดีๆ มีประโยชน์ต่อประชาชน ทั้งในรูปแบบ การให้ความรู้ การพัฒนาทางความคิด และการสร้างสัมมาอาชีพที่เหมาะสมตรงกับวิถีชีวิตรวมทั้งการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ แก่ผู้ด้อยโอกาส
     เนื่องจากในวันนี้เป็นวันสตรีสากล ถือกำเนิดมาจากขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิของคนงาน จนกลายเป็นวันสำคัญประจำปีของโลกที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้การรับรอง จุดเริ่มต้นของวันนี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1908 เมื่อผู้หญิง 15,000 คน เดินขบวนไปทั่วนครนิวยอร์ก เพื่อเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง เพิ่มค่าแรง และให้สตรีมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง หนึ่งปีต่อมา พรรคสังคมนิยมแห่งอเมริกา ได้ประกาศให้มีวันสตรีแห่งชาติเป็นครั้งแรกแต่แนวคิดที่ทำให้วันดังกล่าวกลายเป็นวันสากลสำหรับทั่วโลกนั้นมาจาก คลารา เซทคิน นักการเมืองผู้สนับสนุนสิทธิสตรีชาวเยอรมัน ที่เสนอแนวคิดในปี 1910 ต่อที่ประชุมนานาชาติของผู้หญิงทำงาน ในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งมีผู้หญิงเข้าร่วม 100 คนจาก 17 ประเทศ และทั้งหมดมีมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ วันสตรีสากลไม่ใช่เพียงวันธรรมดาวันหนึ่งบนปฏิทิน แต่คือวันที่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์การต่อสู้ของผู้หญิงทุกยุคทุกสมัย เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและโอกาสที่พวกเธอพึงมีเท่าเทียมกับผู้ชาย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการส่งเสริมสิทธิสตรีอย่างกว้างขวาง นับเป็นก้าวกระโดดสำคัญที่สังคมยุคใหม่สะท้อนถึงการได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา วันสตรีสากลได้กลายเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองความสำเร็จและความก้าวหน้าของผู้หญิงทางด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ
     นางศุภบุณณ์ศิริ ฯ  กล่าวต่ออีกว่า สำหรับในแผ่นดินสยามของเราในอดีตนั้น วีรสตรีในประวัติศาสตร์นั้น ก็ได้จารึกไว้หลายท่าน เช่น สมเด็จพระสุริโยทัย พระองค์ทรงสละพระชนม์ชีพอย่างกล้าหาญ เพื่อป้องกันพระราชสวามีให้พ้นจากอันตรายในสนามรบระหว่างไทยกับพม่าเมื่อ พ.ศ. 2091 การเสียสละพระชนม์ชีพของสมเด็จพระสุริโยทัย มิใช่เกิดขึ้น เพราะความรักความกตัญญุต่อพระราชสวามีเท่านั้น แต่เป็นการเสียสละอย่างกล้าหาญเพื่อชาติสยาม เพราะหากว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงพ่ายแพ้ หรือสวรรคตในวันนั้น ก็หมายถึงการแพ้สงคราม ซึ่งชาติสยามจะต้องสูญเสียเอกราชท้าวเทพกระกษัตรี-ท้าวศรีสุนทร ชาวเมืองถลาง ได้พร้อมใจกันร่วมรบกับทหารพม่า ที่ล้อมเมืองอยู่เดือนกว่า ก็ไม่สามารถตีได้ จึงถอยทัพกลับไป ในศึกสงครามในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ท้าวสุรนารี หรือคุณหญิงโม ผู้นำสตรีในนครราชสีมา ได้แนะนำกลอุบายและคุมพลเมืองหญิงถืออาวุธเข้าช่วยผู้ชายต่อสู้อย่างกล้าหาญ จนทหารลาวตายไปกว่า 2,000 คน ในที่สุดทหารลาวก็ยอมแพ้ ถอยกลับไป ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังมีผู้นำสตรีในแผ่นดินอีกจำนวนมากมายที่ได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับชาติสยาม ที่ดิฉันมิได้นำมากล่าวในที่นี้
     ปัจจุบันสตรีได้มีบทบาทในเรื่องการเมือง และการปกครองเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีผู้บริหารระดับสูงหลายหน่วยงานก็ได้รับการส่งเสริมให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ เช่น นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา นายกสมาคมฟุตบอล ฯลฯ แต่ยังคงมีปัจจัยอีกหลายด้านที่ทำให้ บทบาทของสตรีต้องถูกจำกัด เช่น ต้องเป็นแม่บ้านที่จะต้องดูแลลูก เป็นเมียที่จะต้องเชื่อฟัง และปฏิบัติตามคำสั่งของสามี ตลอดจนพละกำลัง และความกล้าหาญ ฯลฯ
     ดังนั้นในวันสตรีสากลนี้ ดิฉันประธานชมรมพลังใจแผ่นดินสยาม จึงขออาสาในการรวมพลังของสตรีสยามเพื่อให้สตรีทุกท่านในแผ่นดิน ได้เรียนรู้และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน และเลือกที่จะท้าทายความสามารถ และความไม่เสมอภาคทางเพศ ตลอดจนเพื่อช่วยกันสร้างโลกที่เปิดกว้าง ให้สตรีสามารถทำงานได้อย่างไร้อคติ เดินตามความฝันและแรงบันดาลใจที่มีอยู่ของตนเอง ทำให้สิ่งนั้นไปสู่จุดมุ่งหมายแห่งความสำเร็จ และนำความสำเร็จของตนเองไปโอบอุ้มโลกให้ได้รับความอบอุ่น ความสุข และความมั่นคงต่อครอบครัว ด้วยสองมือของสตรีผู้เป็นเพศแม่ ณ โอกาสในวันสตรีสากลนี้ ดิฉันขอประกาศเป็นผู้นำ ในการสร้างประชาธิปไตย สืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกรัชกาลด้วยความตั้งใจจริง และขอเป็นตัวอย่างในการทำความดี ก่อให้เกิดสิ่งที่ดีๆ ขยายตัวออกไปได้อย่างกว้างขวาง และเป็นแบบอย่างในสังคมต่อไป พร้อมกันนี้ขอมอบถ้อยคำเพื่อเป็นกำลังใจให้กับสตรีทุกท่านดังนี้
“สตรีท้อได้ แต่ห้ามถอย”
“สตรีต้องเก่งและแกร่งขึ้น”
“สตรีต้องกล้า และห้ามกลัว”
“สตรีผู้สวยงาม และสร้างความสุขให้กับทุกคนได้เสมอ”  นางศุภบุณณ์ศิริ ฯ  ได้กล่าวทิ้งท้าย