วช. หนุน มรภ.อุบลฯ นำกระบวนการวิศวกรสังคม ตอบโจทย์ปัญหาของชุมชน ด้วยโมเดลการจัดการพื้นที่ฝายกั้นน้ำแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ณ ชุมชนบ้านซำหวาย
วช. หนุน มรภ.อุบลราชธานี นำกระบวนการวิศวกรสังคม แก้ไขโจทย์ปัญหาของชุมชน ด้วยโมเดลการจัดการพื้นที่ฝายกั้นน้ำแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ณ ชุมชนบ้านซำหวาย จ.อุบลราชธานี
วันที่ 15 มีนาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ติดตามผลการดำเนินงานโครงการบ่มเพาะวิศวกรสังคมด้วยวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมนี้ ผศ.สพ.ญ.ดร.สุรีรัตน์ บุตรพรหม รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และคณะนักวิจัย ให้การต้อนรับ ณ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยราชภัฏ ในการบ่มเพาะวิศวกรสังคมด้วยกระบวนการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อแก้โจทย์ปัญหาเชิงพื้นที่ โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้เลือกประเด็นตามความต้องการของพื้นที่ โดยนำการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านซำหวาย อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี มาเป็นการดำเนินการในกระบวนการบ่มเพาะวิศวกรสังคมด้วยวิจัยและนวัตกรรม โครงการดังกล่าว ได้เข้าไปหนุนเสริมการสนับสนุนนักศึกษาที่ผ่านกระบวนการวิศวกรสังคม นำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยและนวัตกรรม ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น ส่งเสริมให้นักศึกษาวิศวกรสังคมสามารถดำเนินการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ และได้นำหลักแนวคิดวิศวกรสังคมมาสู่การสร้างโจทย์และการปฏิบัติงานร่วมกับท้องถิ่นได้อย่างมีส่วนร่วม
ผศ.รัตน์ชฎาพร ศรีสุระ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หัวหน้าโครงการวิจัย ได้กล่าวถึง การดำเนินงานวิจัยโครงการการสร้างฝายกั้นน้ำแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริ โดยกระบวนการวิศวกรสังคมและการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านซำหวาย อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. เพื่อพัฒนาทักษะนักศึกษาวิศวกรสังคม การศึกษาการสร้างฝายกั้นน้ำ และการเก็บข้อมูลเพื่อทำแผนที่พืชสมุนไพร โดยใช้กระบวนการ Soft skills เครื่องมือสร้างบัณฑิตให้เป็นนักคิด นักปฏิบัติ ผ่านเครื่องมือวิศวกรสังคมทั้ง 5 เครื่องมือ ได้แก่ ฟ้าประทาน นาฬิกาชีวิต Timeline กระบวนการ Timeline พัฒนาการ และ M.I.C. Model ด้วยการ เรียน รู้เข้าใจ ใช้เป็น เห็นเหตุผล ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษาฝึกนำเครื่องมือของวิศวกรสังคมไปใช้บูรณาการด้านการพัฒนาชุมชนอย่างเหมาะสม และพัฒนานวัตกรรมที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาของชุมชน พร้อมทั้ง นักศึกษาตัวแทนวิศวกรสังคม ได้นำเสนอถึงข้อมูลในการสำรวจพื้นที่ และการนำเครื่องมือในกระบวนการวิศวกรสังคม ไปใช้ในการลงพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูล และได้นำมาต่อยอดกับแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนผ่านการจัดการพื้นที่ฝายกั้นน้ำ
ทั้งนี้ คณะผู้ทรงคุณวุฒิจาก วช. ได้ให้ความคิดเห็นกับโครงการดังกล่าว ซึ่งได้นำทักษะด้านศาสตร์สาขาที่เรียนมาบูรณาการการทำงานร่วมกันกับชุมชนในการสร้างฝายกั้นน้ำเป็นการน้อมนำศาสตร์พระราชามาบูรณาการร่วมกับความรู้และทักษะของนักศึกษาวิศวกรสังคม ในการแก้ไขปัญหาของชุมชน อีกทั้งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม จะเห็นได้ว่าการนำหลักคิดในการสร้างฝายกั้นน้ำจะนำไปสู่ความเข้าใจในการชะลอการไหลของกระแสน้ำ การลดการชะล้างพังทลายของตลิ่ง รวมไปถึงการอนุรักษ์พรรณพืชและสัตว์ป่า และสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ชุมชนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน