อินฟอร์มาฯ ตอกย้ำความร่วมมือ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย จัดใหญ่ “Electric Vehicle Asia 2024” ปฏิรูปการผลิตไทยสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก
อินฟอร์มาฯ สานต่อความร่วมมือ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย จัดงาน “Electric Vehicle Asia 2024” ยกระดับการผลิตไทยสู่การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก
อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย พร้อมด้วยสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) สานต่อความร่วมมือจัดงาน “Electric Vehicle Asia (EVA) และ iEVTech 2024” งานแสดงเทคโนโลยีด้านยานยนต์ไฟฟ้างานแรกที่จัดมาอย่างยาวนานที่สุดในไทย รวบรวมเทคโนโลยีและการประชุมเฉพาะทางด้านยานยนต์ไฟฟ้าระดับนานาชาติไว้อย่างครบวงจร เป็นงานที่ได้รับการสนับสนุนจาก กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง วางเป้าเสริมแกร่งผู้ประกอบการใน ตลาด EV และภาคการผลิตเพื่อขานรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยในระดับภูมิภาค ปักธงเตรียมจัดงานใหญ่ ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีหมุดหมายในการสร้างเครือข่าย ต่อยอดธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า และเตรียมความพร้อมไทยสู่การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) อย่างยั่งยืนในอนาคต
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวว่า ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก EV-Volumes.com ระบุว่า ยอดการส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ทั้งแบบใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ (BEV) และแบบปลั๊กอิน-ไฮบริด (PHEV) ในปี 2023 มีปริมาณ 14.2 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับปี 2022 และในปี 2024 คาดการณ์ว่าจะมียอดการส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 2 ประเภท รวมกันราว 17.8 ล้านคัน ส่งผลให้จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าสะสมทั่วโลกอยู่ที่ราว 40 ล้านคัน โดยเฉพาะประเทศไทยในปี 2023 กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าในประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่จดทะเบียนใหม่มีอัตราการเติบโตในภาพรวมจากปีก่อนราว 690% หรือราว 76,366 คัน ขณะที่รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามียอดการเติบโตที่ 121% หรือราว 21,927 คัน ซึ่งปัจจัยบวกสำคัญมาจากนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า อย่าง มาตรการ EV 3.0 และ 3.5 ที่ให้เงินอุดหนุน ลดภาษีนำเข้า และลดภาษีสรรพสามิตสำหรับค่ายรถยนต์ที่ลงนามในข้อตกลง MoU กับกรมสรรพสามิต เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศตามมาตรการสนับสนุน ยกระดับให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค โดยมาตรการ EV 3.5 มีผลบังคับใช้ในปี 2024-2027 เพื่อสนับสนุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ที่กำหนดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV ภายในประเทศ ในปี 2026 ที่อัตราส่วนการผลิต 2 คัน ต่อการนำเข้า 1 คัน และในปี 2027 กำหนดการผลิตภายในประเทศ 3 คันต่อการนำเข้า 1 คัน นอกจากนี้แล้วยังมีแนวโน้มการลงทุนเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่น่าสนใจ อาทิ ยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Driving) ข้อมูลสำหรับเชื่อมต่อยานยนต์กับการสื่อสาร (Data-Driven & Connected Service) และ การแบ่งปันการใช้งาน (Shared Service) จะเข้ามาช่วยในการสนับสนุนการเติบโตทางธุรกิจของยานยนต์สมัยใหม่
"โดยที่ผ่านมาสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยได้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้ในด้านต่างๆเกี่ยวข้อง ทั้งระบบขับเคลื่อน แบตเตอรี่ ระบบการชาร์จ รวมถึงเทคโนโลยี simulation ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต เราทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยหนึ่งเวทีที่สำคัญ คือ การจัดการประชุมนานาชาติ iEVTech 2024 ร่วมกับทางอินฟอร์มาฯ ในงาน Electric Vehicle Asia ต่อเนื่องทุกปี โดยในปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อ "Global EV Industry Transformation Towards Decarbonization " เป็นเวทีที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญระดับโลก นักวิจัย นักพัฒนา ผู้กำหนดนโยบาย และซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้องในแวดวงยานยนต์ไฟฟ้ามาร่วมแลกเปลี่ยน องค์ความรู้ใหม่ๆร่วมกัน ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองในการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรม EV อย่างครบวงจรและเป็นก้าวที่สำคัญในการยกระดับการขนส่งพลังงานสะอาดของไทยสู่การเป็นผู้นำในอาเซียนต่อไป" นายกฤษฎา กล่าวเสริม
นายสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ – ประเทศไทย กล่าวว่า อินฟอร์มาฯ เล็งเห็นโอกาสและมองเห็นทิศทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานมาอย่างต่อเนื่องและได้เริ่มจัดแสดงเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าเป็นรายแรกในไทยผ่านการจัดงาน "Electric Vehicle Asia" โดยจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 ซึ่งในระยะแรกมีเป้าหมายที่สำคัญในการชี้เทรนด์รวมถึงสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับยานยนต์ดังกล่าว ปัจจุบันงานนี้กลายเป็นเวทีที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค โดยได้ขนทัพเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยด้านยานยนต์ไฟฟ้ามาจัดแสดงจากกว่า 25 ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น มอเตอร์ แบตเตอรี่ สถานีชาร์จ ชิ้นส่วน รวมถึงยานยนต์ต้นแบบ อาทิ ABB, Bossard, Delta, Grob, Trumpf, Carl Zeiss, Wima เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังมีพาวิเลียนนานาชาติกว่า 7 ประเทศ ทั้ง เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลี จีน สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และไต้หวัน ทั้งนี้ยังได้รวบรวมผู้นำและผู้เชี่ยวชาญจากเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าจากทั่วทุกมุมโลกครอบคลุมในมิติของระบบนิเวศทางธุรกิจของยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV Eco System ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำในทุกห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเสริมแกร่งให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะในภาคการผลิตมีความพร้อมในทุกด้านสู่การเป็นฐานการผลิตและเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมในอนาคตของภูมิภาค
ปีนี้งาน EVA 2024 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “EV Ecosystem Transformation Towards Net Zero” หรือ การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้าสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ด้วยปัจจุบันทุกภาคส่วนมีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และหนึ่งปัจจัยในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งระบบนิเวศน์ต้องมีการปรับตัวรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ อีกทั้งในฐานะผู้จัดงานเราให้ความสำคัญในการสร้างเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ เรามีการเชิญ Delegation จากหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งประชาสัมพันธ์งานสู่ผู้ซื้อคุณภาพทั่วโลก ผ่านเครือข่ายและฐานข้อมูลในแวดวงยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อตอกย้ำความพร้อมการเป็นศูนย์กลางในการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในทุกห่วงโซ่อุปทานด้าน EV เรายังมีไฮไลต์สำคัญ คือ การประชุมนานาชาติด้านยานยนต์ไฟฟ้า iEVTech ที่รวบรวมหัวข้อเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าต่างๆอย่างครอบคลุม เราเชื่อมั่นว่า งานนี้จะเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญของทั้งผู้ผลิต ผู้ขาย รวมทั้งผู้ซื้อ ในการขับเคลื่อนศักยภาพของไทยในฐานะผู้นำด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค นายสรรชาย กล่าวเสริม
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยสู่ระดับโลกที่งาน "Electric Vehicle Asia" และ "iEVTech 2024" โดยจัดขึ้นพร้อมกับงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2024 (ASEW) งานแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีและการประชุมนานาชาติด้านพลังงานทดแทน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และระบบกักเก็บพลังงานที่ครบครันที่สุดในภูมิภาค ซึ่งทั้ง 2 งานนี้จะเสริมสร้างอนาคตความมั่นคงด้านพลังงานและอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มุ่งสู่สังคมคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) อย่างยั่งยืน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ติดตามข่าวสารที่ www.evasia-expo.com