ADS


Breaking News

เผยเสน่ห์ความสัมพันธ์ไทย-จีน ผ่าน“ต้าวตี้เจียง” หมู่บ้านชนบทในมุมมองนักศึกษาไทยในจีน

เปิดมุมมองความสัมพันธ์ไทย-จีน ผ่าน“ต้าวตี้เจียง” หมู่บ้านชนบทในสายตานักศึกษาไทยในจีน

     อดีตนักศึกษาไทยในจีนเปิดเผยมุมมองความสัมพันธ์ ไทย- จีน ผ่าน “ต้าวตี้เจียง” หมู่บ้านชนบทของจีน เปรียบเทียบวัฒนธรรมและความสำเร็จด้านการพัฒนาการเกษตรของจีนกับไทย ที่กำลังมุ่งสู่การพัฒนาการเกษตรที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน

      จิตสุภา ธนกิจยิ่งสกุล นักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยศรีปทุม และคณะศิลปศาสตร์ สาขาภาษาจีนสื่อสารธุรกิจ มหาวิทยาลัยซีอัน ประเทศจีน เปิดเผยถึงประสบการณ์เดินทางขณะศึกษาอยู่ในประเทศจีนเมื่อปี 2566 ว่าได้มีโอกาสได้เดินทางไปเยี่ยมชมหมู่บ้าน “ต้าวตี้เจียง” ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเทือกเขาฉินหลิ่ง ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ได้เห็นถึงความทันสมัยและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในพื้นที่ชนบทของจีน แต่ยังได้เห็นถึงวัฒนธรรมการเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของจีนที่แตกต่างกับไทยอีกด้วย

     “ต้าวตี้เจียง” เป็นหมู่บ้านที่มีการปลูกข้าวมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก และเป็นหมู่บ้านที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ตั้งอยู่เชิงเขาจงหนานซึ่งเป็นเขตที่รู้จักกันในนาม “ดินแดนแห่งปลาและข้าว”  ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงจะมีทิวทัศน์ที่งดงามมาก และเป็นสน่ห์ดูดสายตานักท่องเที่ยวผู้มาเยือนได้เป็นอย่างมาก 

     “ภาพนาข้าวสีทองของ “ต้าวตี้เจียง” ในช่วงใกล้ฤดูเก็บเกี่ยว ที่กำลังเคลื่อนไหวเป็นระลอกตามสายลมราวกับจะบอกเล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาที่ยาวนานของพื้นที่แห่งนี้ คือภาพที่น่าประทับใจมาก และช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของจีนนั้นก็มีความสำคัญ เพราะไม่ได้เป็นเพียงแค่การเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรเท่านั้น แต่ยังเป็นช่วงเวลาของเฉลิมฉลอง และเป็นวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์จีนอีกด้วย” 

     ในปี 2566 ที่ผ่านมา นาข้าวหลายพันเอเคอร์ในหมู่บ้านต้าวตี้เจียงยังได้กลายเป็น “ฐานสาธิตฟื้นฟูทางการเกษตร” โดยมี “ต้นออสมันตัส”(Osmanthus) หรือหอมหมื่นลี้ และข้าวอินทรีย์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมและขายดีที่สุดในประเทศด้วย ซึ่งหมู่บ้านต้าวตี้เจียงนั้นถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของการพัฒนาการเกษตรของจีน ที่มีความทันสมัยควบคู่ไปกับวัฒนธรรมดั้งเดิมในชุมชน โดยการทำเกษตรของจีน จะมีการใช้เทคโนโลยีการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้แรงงาน ซึ่งเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมมากก็คือ การใช้โดรนทางการเกษตร 

     “ในระหว่างการเดินทางเยือนหมู่บ้านต้าวตี้เจียงครั้งนี้ นอกจากการเรียนรู้วัฒนธรรมการเกษตรของจีนแล้ว ยังมีโอกาสได้ลิ้มรสอาหารดั้งเดิมของฐานเกษตรกรรมเจียงชุนที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ ทำให้สัมผัสได้ถึงความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมอาหารของจีนและไทย ที่สำคัญคือยังได้มีโอกาสเรียนรู้คำในภาษาจีนที่มีความหมายลึกซึ้ง คือ “เหล่าเซียง” ที่มีความหมายถึง “คนบ้านเดียว” และชาวจีนท้องถิ่นก็ให้ความสนใจกับนักเรียนไทยเป็นอย่างมาก และมีการแบ่งปันวัฒนธรรมด้านอาหารให้แก่กัน ซึ่งทำให้รู้สึกได้ถึงความใกล้ชิดระหว่างสองประเทศมากขึ้น เปรียบเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกันจริง ๆ

     ในขณะที่ด้านการเกษตรนั้น แม้ว่าการพัฒนาการเกษตรของไทยและจีนจะมีความแตกต่างกัน แต่ทั้งสองประเทศต่างก็กำลังมุ่งสู่การพัฒนาการเกษตรที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนเหมือน ๆ กัน ในฐานะนักศึกษาไทยก็เชื่อว่าจะได้มีส่วนทำหน้าที่ส่งเสริมแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างจีนและไทย ตลอดจนร่วมกันพัฒนาการเกษตรของแต่ละประเทศให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต”  จิตสุภา ธนกิจยิ่งสกุล กล่าวทิ้งท้าย