ADS


Breaking News

สวพส.ยกระดับการถ่ายทอดองค์ความรู้ มุ่งเป้าแก้ไขปัญหาความยากจน ลดการเผา และฝุ่นละออง PM 2.5 ณ บ้านแม่วาก ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

“สวพส.บูรณาการถ่ายทอดองค์ความรู้ มุ่งเป้าแก้ไขปัญหาความยากจน ลดการเผา และฝุ่นละออง PM 2.5” ณ บ้านแม่วาก ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

     เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. จัดงาน “วันถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ลดการเผา และฝุ่นละออง PM 2.5  แบบบูรณาการและมุ่งเป้า” ณ บ้านแม่วาก ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่  โดยได้รับเกียรติจาก ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิด เพื่อร่วมบูรณาการแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่การทำเกษตรอย่างครบวงจรและยั่งยืน ด้วยการจัดทำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลง กำหนดเขตพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร พื้นที่ทำกิน พร้อมกับการปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยปลูกพืชผักในโรงเรือนซึ่งใช้พื้นที่น้อยสร้างรายได้สูง

     นางสาวเบญจพร  ชาครานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเปิดงานว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายสำคัญในการสร้างรายได้ สร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิต ทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาเรื่องฝุ่นละออง PM 2.5  สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) นับเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาพื้นที่สูง ป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5  ในภาคการเกษตรโดยประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากโครงการหลวง และจากผลงานวิจัยในการปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างรายได้และยังช่วยลดการเผาในพื้นที่เกษตร ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดฝุ่น PM 2.5 ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนและหน่วยงานต่างๆ โดยการบริหารจัดการฐานข้อมูล การพัฒนาแหล่งน้ำ การจัดการเศษวัสดุการเกษตรเพื่อนำไปทำปุ๋ยปรับปรุงบำรุงดิน และชีวมวล ตลอดจนการรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย (GAP PM 2.5 Free) การตลาดและโลจิสต์ติกส์  อย่างเป็นระบบครบวงจร ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

     นางสาวเพชรดา อยู่สุข รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า สวพส. ได้ดำเนินงาน  “โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง” มุ่งเน้นการดำเนินงานแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนตามบริบทเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น การประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากผลงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนา โดยเฉพาะ “การปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ส่งเสริมและพัฒนาการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดเดิม และเพิ่มชนิดพืชทดแทนการปลูกข้าวโพด เช่น พืชผัก ไม้ผลยืนต้น เงาะ ส้มโอ มะม่วง อะโวคาโด รวมถึงการพัฒนาอาชีพบนฐานความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยนำผลการวิจัยที่สำเร็จแล้วถ่ายทอดสู่เกษตรกร เช่น การส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเหลื่อมด้วยพืชตระกูลถั่ว เพื่อลดการเผาและเพิ่มธาตุอาหารในดิน ส่งเสริมการปลูกพืชทางเลือกใหม่ที่ให้ผลตอบแทนเร็ว ใช้พื้นที่จำกัด ใช้ปริมาณน้ำน้อย โดยมีชุมชนหรือพื้นที่ต้นแบบที่ประสบผลสำเร็จ (Good Practice) ซึ่งได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

            จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ก่อให้เกิดผลสำเร็จและประโยชน์ในด้านต่าง ๆ แก่ชุมชนบนพื้นที่สูงจำนวนมาก จึงได้นำผลสำเร็จจากพื้นที่ต้นแบบบ้านแม่วาก มาขยายผลไปยังชุมชนบนพื้นที่สูงอื่น ๆ ภายใต้ความร่วมมือของ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ชุมชนและหน่วยงานทุกภาคส่วน ควบคู่กับการประยุกต์ใช้งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้สอดคล้องกับปัญหาและบริบทภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ นำไปสู่การลดปัญหาและบริหารจัดการจุดความร้อน (Hotspot) และพื้นที่เผาไหม้ (Burn Scar) ในพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งกำเนิดของฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่เป้าหมายเร่งด่วนภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญ

     นางสาวเพชรดา อยู่สุข กล่าวเพิ่มเติมว่า  การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร  เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง คณะทำงานบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม กลุ่มเกษตรกรเครือข่าย และประชาชนทั่วไป โดยมีกิจกรรมฐานเรียนรู้ 6 ฐาน ประกอบด้วย

     การจัดทำและบริหารจัดการฐานข้อมูลนิทรรศการแสดงผลสำเร็จของงานวิจัยและงานพัฒนาที่สำคัญ ทั้งในเชิงพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง และในแต่ละมิติของการพัฒนา

     สร้างป่าสร้างรายได้ ไม้เศรษฐกิจ ไม้ผล ไม้ยืนต้น กาแฟ  

     การจัดการเศษวัสดุทางการเกษตร (อัดก้อน ชีวมวล อาหารสัตว์)

     การจัดการเศษวัสดุทางการเกษตร (ไถกลบ คันปุ๋ย ปุ๋ยหมัก)

     พืชไร่ในระบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

     ผักอินทรีย์ในโรงเรือน + Eco Brand