วช. - อผศ. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตแก่ผู้พิการ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ
วช. - อผศ. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตแก่ผู้พิการ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ กระทรวงกลาโหม (กห.) โดย องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตแก่ผู้พิการเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการให้ดียิ่งขึ้น โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมเป็นสักขีพยานในครั้งนี้ ซึ่งลงนามโดย ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ พลเอก เดชนิธิศ เหลืองงามขำ ผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เป็นผู้แทนลงนามของสององค์กร ในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2567 ณ เวทีกลาง Event Hall 101 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า "กระทรวง อว. ได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อความต้องการของผู้พิการในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นการดำรงชีวิตประจำวัน การส่งเสริมสุขภาพกาย และจิตใจ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวง อว. พ.ศ. 2563 - 2570 ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับทิศทางของยุทธศาสตร์ชาติ โดยหนึ่งในเป้าประสงค์ที่สำคัญคือการวิจัย และสร้างนวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ที่เกิดขึ้นในสังคมโดยมุ่งเน้นการพัฒนาคนในทุกช่วงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำรงชีวิตด้วยตนเองได้อย่างมีคุณค่า และสร้างกลไกที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทั้งทางด้านเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ช่วยเหลือการดำรงชีวิต (Assisted living) สำหรับช่วยเหลือให้ผู้พิการสามารถดำรงชีวิตด้วยตนเองได้อย่างมีคุณภาพ และมีความปลอดภัยสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต วช.ในฐานะหน่วยงานให้ทุนวิจัย ภายใต้กระทรวง อว. ให้การสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยผลักดัน ริเริ่มขับเคลื่อนและประสานการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ ทำให้งานวิจัยสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือการผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตแก่ผู้พิการในวันนี้ เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การขยายผลต่อกลุ่มเป้าหมาย และผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมโดยการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของทหารผ่านศึกพิการ ครอบครัวทหารผ่านศึก และพลเรือนที่มีความพิการทุพพลภาพให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ในระยะแรกของความร่วมมือ จะดำเนินโครงการร่วมกันคือ เท้าเทียมไดนามิกคุณภาพสูง ที่พัฒนาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ ให้มีโอกาสเข้าถึงนวัตกรรมที่ทันสมัย โดยวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต เป็นอุปกรณ์ที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับสากล เหมาะสมกับลักษณะผู้พิการแต่ละราย กระทรวง อว. มีความยินดีและพร้อมให้การสนับสนุนเพื่อให้ได้นวัตกรรมพร้อมใช้ที่ตรงกับความต้องการและมีมาตรฐานทั้งในด้านการผลิตความปลอดภัย พร้อมผลักดันสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งของผู้พิการตลอดจนผู้ดูแลที่จะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง" รมว.อว.กล่าว
นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า "กระทรวงกลาโหม (กห.) จะใช้ผลงานที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ขับเคลื่อนและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ กลไกสำคัญคือความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วนนั้น มีส่วนสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการ นับเป็นความร่วมมือที่สร้างประโยชน์อันดี ที่ได้ดำเนินการร่วมกัน เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคนในทุกช่วงวัย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ในนามกระทรวงกลาโหม เป็นหน่วยที่กำกับดูแลองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ซึ่งมีหน้าที่ดูแลทหารผ่านศึกทั่วประเทศ สำหรับทหารผ่านศึกที่พิการจากการปฏิบัติหน้าที่ จะมีโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ให้การดูแลและรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถยืนหยัดและใช้ชีวิตได้อย่างปกติมากที่สุด โดยปัจจุบันงานกายอุปกรณ์ถือว่าเป็นงานที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึกมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก และมีมาตรฐานจนเป็นที่ยอมรับจากหลายหน่วยงาน ดังนั้นการสร้างความร่วมมือในครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสอันดีของสองหน่วยงานเพื่อประโยชน์สุขของผู้พิการในสังคม"
ทั้งนี้ พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือการผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตแก่ผู้พิการในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการตระหนักถึงความสำคัญต่อความต้องการของผู้พิการในการดำรงชีวิตประจำวันแล้วนั้น จะนำไปสู่การขยายผลไปสู่กลุ่มเป้าหมาย จนเกิดการใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมตามบันทึกข้อที่ได้กำหนดไว้ร่วมกัน