สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ จัดใหญ่ แถลงข่าว ย้ำการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อภาคการเกษตร และแนวทางแก้ไข
สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 พร้อมแถลงข่าว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อภาคการเกษตร และแนวทางแก้ไข
วันที่ 8 ธ.ค. 2566 สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 ณ ห้องรวยปัญญา 2 โรงแรมมารวยการ์เด้น โดยได้รับเกียรติจาก ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ เปิดการประชุม
ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ |
จากปรากฎการณ์เอลนิโญ ทำให้เกิดภาวะภัยแล้งที่มีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการผลิตพืช โดยเฉพาะพืชกลุ่มข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคต โดยกลุ่มเกษตรกรพืช ทั้ง4 กลุ่ม ได้มีความเห็นร่วมกันว่า ภูมิอากาศในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก่อให้เกิดสภาวะแล้ง และการระบาดของศัตรูพืชเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อผลผลิตและคุณภาพ โดยพันธุ์พืชที่เพาะปลูกทั้ง4ชนิด ไม่มีพันธุ์ไหนที่ทนแล้ง และ ต้านศัตรูพืชได้ ทำให้เกษตรกรต้องหาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก และใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต และไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้วยข้อจำกัดของการพัฒนาพันธุ์พืชด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม หรือ วิธีมาตรฐาน เป็นการผสมข้ามระหว่างสายพันธุ์ที่มีพันธุกรรมที่ต้องการ กับ สายพันธุ์ที่ต้องการปรับปรุง จากนั้นก็มีการคัดเลือกอีกหลายครั้งในรุ่นลูก ก่อนที่จะ ได้สายพันธุ์ที่ต้องการ ซึ่งต้องใช้เวลามากกว่า 5 - 10 ปี ขึ้นกับชนิดพืช รวมทั้งต้องใช้พื้นที่ แรงงาน และงบประมาณจำนวนมาก และการพัฒนาพันธุ์พืชด้วยวิธีการดังกล่าว จะไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และการวิวัฒนาการของศัตรูพืช ในบางกรณีอาจไม่มีพันธุกรรมของลักษณะที่ต้องการ ทำให้ไม่สามารถใช้วิธีการดังกล่าวได้
แต่จาก (ร่าง)ข้อเสนอ/เรียกร้อง ของกลุ่มเกษตรกรและนักวิชาการเพื่อขอให้สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ในการพัฒนาการผลิตพืชบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ภายใต้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่ระบุถึง การพัฒนาพันธุ์พืชด้วยเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ อาทิ เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม เป็นเทคโนโลยีที่ถ่ายฝากชิ้นส่วนของดีเอ็นเอหรือสารพันธุกรรมจากชนิดพันธุ์อื่น ให้กับชนิดพันธุ์พืชที่ต้องการ พันธุ์พืชที่ได้เรียกพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรม มีการใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม เพื่อพัฒนาพันธุ์พืชให้มีลักษณะทางการเกษตร และ ทางคุณภาพ ตามต้องการ และในปัจจุบันมีการเพาะปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมบนพื้นที่มากกว่า 1,000 ล้านไร่ ในเกือบ 30 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งยังใช้ประโยชน์เป็นอาหาร อาหารสัตว์และแปรรูป เกือบ 80 ประเทศทั่วโลก สำหรับลักษณะที่นำมาพัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรม เช่น ทนแล้ง เพิ่มประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสง ทนทานสารกำจัดวัชพืช ต้านทานแมลงศัตรู , เทคโนโลยีการแก้ไขยีน เป็นเทคโนโลยีที่สามารถปรับเปลี่ยนยีนของพืชได้อย่างแม่นยำ ซึ่งทำได้ง่าย ใช้เวลาสั้น มีต้นทุนต่ำและ ไม่ต่างจากเทคโนโลยีการกลายพันธ์ รวมทั้งช่วยให้สามารถทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น และเทคโนโลยีการแก้ไขยีน จะแตกต่างจากเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม ตรงที่ไม่มีการถ่ายฝากชิ้นส่วนของดีเอ็นเอหรือสารพันธุกรรมจากชนิดพันธุ์อื่น และเทคนิคที่รู้จักกันดี คือ CRISPR ปัจจุบันพืชที่แก้ไขยีนด้วย CRISPR มีจำหน่ายแล้วในตลาดญี่ปุ่น คือ มะเขือเทศที่มีปริมาณ GABA เพิ่มขึ้น และในตลาดสหรัฐอเมริกา คือ ผักมัสตาร์ดที่ไม่มีรสขม โดยไม่ผ่านการกำกับดูแลเหมือนพืชดัดแปลงพันธุกรรมและพืชแก้ไขยีนชนิดอื่นที่คาคว่าจะเข้าสู่ตลาดภายในปี พ.ศ. 2573 ได้แก่ ข้าวโพดต้านทานการหักล้ม และคาโนลาที่ฝักไม่แตก ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียพืชผลระหว่างการเก็บเกี่ยว
สำหรับด้านการประเมินความปลอดภัยทางชีวภาพ และ การกำกับดูแล พืชที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม ก่อนนำไปใช้ประโยชน์ต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่ดำเนินการตามหลักสากล ทั้งในห้องปฏิบัติการ โรงเรือนปิด และในสภาพแปลงเปิด , ประเทศไทย กำกับดูแลโดยใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่ ในด้านสิ่งแวดล้อม ใช้ พ.ร.บ. กักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และในด้านสุขอนามัยของมนุษย์ ใช้ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม , ปัจจุบัน มี ร่าง พ.ร.บ. ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ........................
เพื่อควบคุมผลกระทบจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งอยู่ในหมวด 6 ของร่าง พ.ร.บ. ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกา ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการกำกับดูแลพืชที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีการแก้ไขยีน ,มีการศึกษามากกว่า 3,000 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมของพืชดัดแปลงพันธุกรรม จาก 30 ปีของการใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมทั่วโลกได้พิสูจน์แล้วว่า มีความปลอดภัยและยั่งยืน โดยไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่แสดงถึงอันตรายหรือปัญหาด้านความปลอดภัย อีกทั้ง องค์กรวิทยาศาสตร์จำนวน 280 แห่งทั่วโลกได้ประกาศว่า "สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมมีความปลอดภัยพอ ๆ กับอาหารที่ไม่ได้มาจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม และไม่มีความเสี่ยงใด ๆ เป็นพิเศษ"
สำหรับอุปสรรคของประเทศไทยที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ในมุมมองของนักวิจัย จะมีขั้นตอนการปฏิบัติหรือการกำกับดูแลก่อนการปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมที่ยุ่งยากและซับซ้อน และในมุมมองผู้กำกับดูแลนั้นยังไม่มีความชัดเจนของการกำกับดูแลใน ร่าง พ.ร.บ. ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ................ ส่วนมุมมองของเกษตรกรนั้น การสื่อสารข้อมูลที่เป็นจริง ถูกต้อง ไปสู่เกษตรกร มีน้อยมาก
ทางภาคเกษตรกร จึงมีข้อเสนอ/ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ในภาพรวม ดังนี้ คือขอการสนับสนุนและส่งเสริมการหาแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเพาะปลูก และต้องการพันธุ์พืชที่ทนแล้งและต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ รวมทั้งคุณภาพที่ดี ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีอะไรก็ตามมาช่วยในการปรับปรุงพันธุ์ แต่ต้องให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และวิวัฒนาการของศัตรูพืช ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และการให้ความรู้ที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะ ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ รวมถึง การคิดต้นทุนการผลิตซึ่งควรคิดต่อหน่วยผลผลิต มากกว่าต่อหน่วยพื้นที่ และแยกเฉพาะพืช ดังนี้ มันสำปะหลัง ต้องการ การพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลังเพื่อให้ทนแล้งและต้านทานโรคและแมลงศัตรู โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก รวมทั้งให้มีเปอรเซ็นต์แป้งสูง , อ้อย ต้องการวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมทั้งในอ้อยปลูกและอ้อยต่อ รวมทั้งพันธุ์อ้อยที่ทนแล้ง ทนเค็ม ต้านทานโรคและแมลงศัตรู ผลผลิตและความหวานสูง และมีความสามารถในการไว้ตอดี , ข้าวโพด ขอให้สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะพันธุ์ทนแล้งและต้านทานหนอนกระทู้ลายจุดข้าวโพด เพื่อให้ทันต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และข้าว สิ่งที่อยากเห็น นอกจากในเรื่องของแหล่งน้ำ พันธุ์ข้าว ปัจจัยการผลิต และการให้ความรู้ที่ถูกต้องแล้ว ยังอยากจะเห็น การพัฒนาระบบการผลิตที่รองรับผลกระทบฯ การกำหนดให้นาชลประทาน ให้ทำนาในระบบเปียกและแห้ง และการหาแนวทางและกรอบปฏิบัติในการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่ Cartbon Zero
สำหรับ ข้อเสนอ/ข้อเรียกร้องจากนักวิชาการ
ขอให้มีนโยบายที่ชัดเจนที่สนับสนุนและส่งเสริมงานวิจัยทางด้าน Genomic Technology, Gene Editing Technology, Genetic Engineering Technology และการใช้เทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุล รวมทั้งการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเจริญเติบโตของพืช โรคและแมลงศัตรูพืช เพื่อพัฒนาพันธุ์พืชทนแล้ง หรือทนต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งพันธุ์ที่ต้านทานศัตรูพืช , ขอให้เร่งรัดการออก พ.ร.บ. ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ..................มีการเตรียมความพร้อมด้านการพัฒนาบุคลากร และ การทำงานร่วมกัน เพื่อต่อสู้กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งนอกเหนือจากการจัดหาแหล่งน้ำแล้ว ยังต้องพัฒนาระบบการใช้น้ำอย่างประหยัด และการพัฒนาระบบการผลิตที่รองรับผลกระทบฯ เช่น การกำหนดให้นาชลประทาน ให้ทำนาในระบบเปียกและแห้ง รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีที่ลดการใช้แรงงานคน ,.ขอให้มีคณะทำงานที่ประกอบไปด้วยผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อช่วยกันหาแนวทางและกรอบปฏิบัติ ในการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รวมทั้งการนำไปสู่ Carbon Zero จากการผลิตพืช และการซื้อขาย Carbon Credit ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนได้ และขอให้มีการจัดทำโครงการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและต้องทำอย่างต่อเนื่อง