วชิรพยาบาล เผย! คนอายุน้อย...ทำไมเป็นมะเร็งปอดมากขึ้น
คนอายุน้อย...ทำไมเป็นมะเร็งปอดมากขึ้น
โดย ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องในช่องทรวงอก
โรงพยาบาลวชิรพยาบาล
โดยส่วนใหญ่หลาย ๆ คนมักคิดว่า “โรคมะเร็งปอด” ควรจะต้องเป็นในคนอายุมากหรือคนที่สูบบุหรี่เท่านั้นแต่แท้จริงแล้วโรคมะเร็งปอดสามารถเกิดขึ้นได้ในคนอายุน้อยเช่นเดียวกัน โดย ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย (อ้างอิง การศึกษา Journal of cancer ที่ในสังเกตพบว่ามะเร็งปอดมักพบในช่วงอายุ 70 ปีและมากกว่า 70% มักจะพบในช่วงอายุที่มากกว่า 55 ปี แต่อย่างไรก็ตามมากกว่า 10% ที่พบในกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 50% และจำนวน 1.4% พบน้อยกว่าอายุ 35 ปี ทั้งนี้ในกลุ่มคนอายุน้อยจะสังเกตพบว่า จะเจอในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยชนิดที่พบมักจะเป็น Adenocarcinoma)
ผศ.นพ.ศิระกล่าวว่าโดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีอายุน้อยมักจะพบระยะ 4 เมื่อการตรวจวินิจฉัยครั้งแรก (ระยะ 4 หมายถึง มีการลุกลามเข้าเยื่อหุ้มปอดหรือไปที่บริเวณอวัยวะอื่น ๆ เช่น สมอง กระดูก ต่อมหมวกไต และตับ เป็นต้น) โดยสาเหตุที่พบเจอช้าเนื่องจากเวลามีอาการไอหรือเหนื่อย ในคนอายุน้อยทางการแพทย์เราจะนึกถึงโรคมะเร็งค่อนข้างน้อย จึงใช้เวลาในการหาสาเหตุอื่น ๆ มากกว่าอาจทำให้วินิจฉัยได้ล่าช้า สาเหตุหลักของการเป็นมะเร็งปอดนั้น การสูบบุหรี่ยังคงเป็นปัจจัยหลัก แต่ในคนอายุน้อยนั้นมักพบว่าเจอในคนที่ไม่สูบบุหรี่เป็นหลัก โดยสาเหตุมักเกี่ยวข้องกับ ยีนที่ผิดปกติ เช่น EGFR, ALK, ROS1 และ ประวัติครอบครัวที่มีโรคมะเร็งปอดมาเกี่ยวข้อง
สำหรับวิธีการวินิจฉัยจะเหมือนกับการตรวจในมะเร็งปอดทั่วไป คือ การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT chest) ซึ่งเมื่อพบเจอหรือก้อนที่น่าสงสัย ต้องเอาชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อเป็นการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดจริง ๆ หรือไม่ ส่วนวิธีที่การรักษานั้นจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดระยะเริ่มต้น มักแนะนำให้ทำการผ่าตัดเอากลีบปอดออก โดยปัจจุบันสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดส่องกล้อง รักษาได้เทียบเท่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม แต่ลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้ดีกว่า ส่วนระยะลุกลามมักแนะนำให้ยาเคมีบำบัดหรือยาพุ่งเป้าหรือยาภูมิคุ้มกันบำบัด