ADS


Breaking News

กรมการปกครอง ก.มหาดไทย ชู โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติ "เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" ผ่านนักปกครองท้องที่ ผู้เป็นด่านหน้าในการพัฒนาเพื่อส่วนรวม

กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เร่งผลักดันโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผ่านนักปกครองท้องที่ ผู้เป็นด่านหน้าในการพัฒนาเพื่อส่วนรวม

กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำแนวพระดำริเรื่อง “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมทั้งขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ภายใต้เป้าหมาย
การสร้างความยั่งยืนให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองของประชาชนในหมู่บ้าน

นักปกครองท้องที่ เข้าใจ พัฒนา ยั่งยืน

ด้วยปณิธานของนักปกครองท้องที่ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่พี่น้องประชาชน “กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน” ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดประชาชนในพื้นที่มากที่สุด จึงมีความเข้าใจในปัญหา ศักยภาพ และบริบทของพื้นที่ เพื่อพัฒนาหมู่บ้าน สร้างความเข้มแข็งจากฐานรากให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนหมู่บ้านยั่งยืน คือ “ผู้นำ” ที่มี “ใจ” ในการทำงาน โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ 7 ภาคีเครือข่าย (ภาครัฐ ภาคศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคสื่อสารมวลชน และภาคประชาชน) ได้บูรณาการการทำงาน สร้างทีมหมู่บ้านขึ้นมาเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนหมู่บ้านยั่งยืนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยบ้านนา หมู่ที่ 6 ตำบลเนินมะปราง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก และบ้านคำประมง หมู่ที่ 4 ตำบลสว่าง อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ถือเป็นต้นแบบที่ได้ถูกนำมาถ่ายทอดเรื่องราวความสำเร็จในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่จนพัฒนาไปสู่การเป็นหมู่บ้านยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

สร้างความมั่นคงทางอาหารจากการปลูกผักแบ่งปัน อีกหนึ่งมิติของหมู่บ้านยั่งยืน

คุณขวัญเรียม รินถา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านนา หมู่ที่ 6 ตำบลเนินมะปราง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ได้น้อมนำพระดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาประยุกต์ใช้ทั้งในเรื่องบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง และทางนี้มีผลผู้คนรักกัน เป็นการปลูกผักริมรั้วริมทางที่อนุญาตให้คนอื่นเก็บเอาไปกิน หรือนำไปแลกเปลี่ยนกัน พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการเพาะปลูกผักสวนครัวอย่างถูกวิธี เรียนรู้ด้านการทำเกษตรกรรมให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของชาวบ้าน เนื่องจากชาวบ้านสามารถแบ่งปันผักจากสวนครัวของตนกับเพื่อนบ้านได้ ทำให้ทุกคนมีแหล่งอาหารสำหรับบริโภคโดยไม่ขาดแคลนตลอดทั้งปี และสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งการสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย รวมไปถึงคณะกรรมการหมู่บ้านที่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้าน และด้วยความร่วมมือร่วมใจกันทำให้เกิดความรัก ความสามัคคีภายในหมู่บ้าน อันเป็นต้นทุนสำคัญในการนำพาหมู่บ้านไปสู่หมู่บ้านยั่งยืนที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริงในมิติอื่น ๆ ต่อไป

จาก “ดอนกอยโมเดล” สู่หมู่บ้านยั่งยืนคำประมง

คุณไพวรรณ์ ทิลารักษ์ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านคำประมง หมู่ที่ 4 ตำบลสว่าง อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ได้รับแรงบันดาลใจของการพัฒนากลุ่มทอผ้าครามบ้านคำประมง มาจากความสำเร็จของบ้านดอนกอย หรือ ดอนกอยโมเดล ซึ่งเป็นโครงการกลุ่มผ้าทอย้อมครามต้นแบบ ในอำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร นำมาประยุกต์ให้เข้ากับต้นทุนที่มีอยู่เดิมในเรื่องความชำนาญในการทอผ้าของชาวบ้านทำให้ผ้าย้อมครามของบ้านคําประมงมีความโดดเด่นในเรื่องสีสันที่หลากหลาย ดูสวยงามแปลกตา และมีเอกลักษณ์ สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยของหมู่บ้านเพิ่มจากเดิม 40,000 บาท มาเป็น 50,000 บาท โดยบ้านคำประมงได้คว้ารางวัลการประกวดระดับจังหวัดมาหลายต่อหลายครั้ง แต่สิ่งที่มากกว่าการได้รับรางวัลคือการที่หมู่บ้านได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนจากความร่วมมือของทุกคนในหมู่บ้าน


หนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน

  จากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน ทั้ง 2 ท่านข้างต้น ทำให้เห็นว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้านมีความสำคัญต่อการพัฒนาหมู่บ้านเป็นอย่างมาก และยังถือว่าเป็นนักปกครองท้องที่ผู้เป็นด่านหน้าในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เพื่อส่วนรวม โดยหมู่บ้านตัวอย่างทั้งบ้านนา และบ้านคำประมง นับเป็นต้นแบบความสำเร็จในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่จนสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน สามารถนำมาใช้เป็นแบบอย่างในการขยายผลไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ ทั่วประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และทำให้ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืนต่อไป


#กรมการปกครอง #กระทรวงมหาดไทย #หนึ่งตำบลหนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน #ความยั่งยืน #SustainableVillage #เข้าใจพัฒนายั่งยืน #เพื่อส่วนรวมเพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าเดิม #togetherfortomorrow