ซินโครตรอนช่วยประดิษฐ์กล่องเลี้ยง “ไข่น้ำ” ทนแรงโน้มถ่วงสูง ปั้นฝันสู่อวกาศ
ซินโครตรอนช่วยสร้างกล่องเลี้ยง “ไข่น้ำ” ทนแรงโน้มถ่วงสูง สานฝันสู่อวกาศ
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEi9aEf_WopeoI-cKPGr1nKtUXm0Ec3w9sry2crih9iwKv9A_uoLAfQU_zrhtv7444gYS4AAhjQOeGozUzHwoXgFZ4FABS53QV8CJi0mAW4X_-cKhWz12DkSxbI_wbmaMAhrwGucd63kx60EjU07mbxsAPE5ztpNFksPL6i2iMibog9Xx5mPh18i8ChV7qs6/w640-h360/%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3.jpg)
วิศวกรของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ช่วยสร้างกล่องอุปกรณ์เลี้ยง “ไข่น้ำ” พืชที่มีโปรตีนสูงให้แก่ทีมวิจัยมหิดล และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อใช้จำลองการเลี้ยงในสภาวะแรงโน้มถ่วงสูงที่องค์การอวกาศยุโรป (ESA) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการคัดกรองพืชที่เหมาะสมต่อการใช้งานในการสำรวจอวกาศ
นครราชสีมา - ดร.สุทธิพงษ์ วรรณไพบูลย์ หัวหน้าส่วนปฏิบัติการระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ให้ข้อมูลว่า “คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ขอความอนุเคราะห์สถาบันฯ ให้การสนับสนุนคณะผู้วิจัยเข้าร่วมโครงการ HyperGES เพื่อออกแบบวิศวกรรมและดำเนินการผลิตอุปกรณ์วิทยาศาสตร์สำหรับโครงการ เนื่องจาก อ.ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนจากโครงการดังกล่าวที่สนับสนุนองค์การอวกาศยุโรป และสำนักกิจการอวกาศแห่งองค์การสหประชาชาติ”
“ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ ได้รับการสนับสนุนในการศึกษาการตอบสนองของ ‘ไข่น้ำ’ พืชดอกที่เล็กที่สุดในโลกต่อสภาวะแรงโน้มถ่วงสูงจำลอง และสถาบันฯ ได้รับโจทย์ให้ออกแบบและพัฒนาแบบทางวิศวกรรมของกล่องที่สามารถใส่ภาชนะบรรจุไข่น้ำและทนแรงโน้มถ่วงสูงได้ โดยต้องมีขนาดเหมาะสมในการติดตั้งภายในเครื่องจำลองสภาวะแรงโน้มถ่วงสูงที่ The European Space Research and Technology Centre (ESTEC) ณ ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์” ดร.สุทธิพงษ์ วรรณไพบูลย์ กล่าว
ด้านนายมงคล ผานาค วิศวกรเมคคาทรอนิกส์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “สถาบันฯ ได้ผลิตต้นแบบเพาะเลี้ยงไข่น้ำภายใต้แรงโน้มถ่วง 4g หรือสภาวะแรงโน้มถ่วงสูงกว่าแรงโน้มถ่วงโลก 4 เท่า โดยผลิตกล่องอะครีลิคที่ใช้อะลูมิเนียมเป็นโครงตามโจทย์ของผู้วิจัยที่ต้องการกล่องที่ใสและสามารถติดตั้งระบบไฟฟ้าเพิ่มเติมได้ ส่วนโครงอะลูมิเนียมจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล่อง และมีที่ว่างเพื่อติดตั้งระบบไฟ LED ให้พืชได้รับแสงในการสังเคราะห์ด้วยแสง โดยหลังออกแบบตามโจทย์แล้วได้วิเคราะห์ความแข็งแรงของกล่องด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ก่อนผลิตชิ้นงานจริง”
“จุดเด่นของสถาบันฯ คือการมีองค์ความรู้วิศวกรรมขั้นสูงที่สามารถทำงานได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สามารถทำงานได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่ออกแบบ วิเคราะห์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และผลิตชิ้นงาน ซึ่งปกติสถาบันฯ จะผลิตชิ้นส่วนเมคคาทรอนิกส์ตามโจทย์ของนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และนักฟิสิกส์ ในการออกแบบและผลิตระบบเครื่องเร่งอนุภาค และระบบลำเลียงแสงอยู่แล้ว และองค์ความรู้ที่เรามีก็สามารถประยุกต์ใช้ในการพัฒนาวิศวกรรม งานวิจัยร่วมกับหน่วยงานภายนอกได้” นายมงคล ผานาค กล่าว
ปัจจุบันทีมวิจัยนำโดย ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ และคณะ อยู่ระหว่างการดำเนินการวิจัยที่เนเธอร์แลนด์ โดยมีเป้าหมายในการศึกษาความเป็นไปได้ของประเทศไทยในการคัดกรองพืชที่เหมาะสมกับการใช้งานกิจกรรมสำรวจอวกาศ และพัฒนาระบบเกษตรกรรมอวกาศที่สอดคล้องการใช้งานดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับองค์การอวกาศยุโรป และเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสำรวจอวกาศระดับนานาชาติต่อไป