ซินโครตรอนร่วมบูรณะ “เมืองโบราณศรีเทพ” มรดกโลก ค้นสูตรอิฐยุคก่อนประวัติศาสตร์
ซินโครตรอนร่วมอนุรักษ์มรดกโลก “เมืองโบราณศรีเทพ” ถอดสูตรอิฐยุคก่อนประวัติศาสตร์
นับเป็นอีกความภาคภูมิใจสำหรับชาวไทยเมื่อ “เมืองโบราณศรีเทพ” ใน จ.เพชรบูรณ์ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ ซึ่งก่อนมีการประกาศข่าวดีนี้ นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้ร่วมศึกษาก้อนอิฐโบราณเพื่อผลิตอิฐสูตรโบราณสำหรับการบูรณะโบราณสถาน
นครราชสีมา - ดร.วุฒิไกร บุษยาพร นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “เมืองโบราณศรีเทพมีจุดเด่นที่มีความคาบเกี่ยวระหว่างยุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์ ซึ่งเมื่อประมาณเดือน มี.ค.66 คณะนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ พร้อมด้วยนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยศิลปากร และหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กรมศิลปากร ได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งขุดสำรวจเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ และได้พบปัญหาในบูรณะโบราณสถานที่เพิ่งขึ้นทะเบียนมรดกโลกนี้”
“อิฐโบราณศรีเทพเหมือนอิฐโบราณทั่วไป คือเป็นอิฐดินเผาผสมแกลบ แต่ในการบูรณะเราใช้อิฐยุคปัจจุบันไปใช้ ซึ่งพบว่าก่อปัญหาต่อโบราณสถาน เนื่องจากมีการใช้ปูนซีเมนต์เป็นยาแนว และปูนซีเมนต์นี้ไปขวางเส้นทางการระบายความร้อนและความชื้น จึงเก็บความชื้นไว้ทำให้วัตถุที่นำไปซ่อมแซมเกิดการผุกร่อน ไม่เพียงเท่านั้นยังส่งผลให้อิฐของเก่าในโบราณสถานเสียหายไปด้วย ขณะที่อิฐโบราณจะใช้ยาแนวที่มีส่วนผสมของปูนหมักและดินสอพอง ซึ่งมีสมบัติในการส่งผ่านความร้อนและความชื้นได้ดี แต่เรายังไม่พบสูตรการผลิตอิฐโบราณและยาแนวโบราณของเมืองโบราณศรีเทพ” ดร.วุฒิไกร บุษยาพร หนึ่งในทีมวิจัยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ระบุ
ทั้งนี้ ดร.วุฒิไกร บุษยาพร และทีมวิจัยวางแผนในการใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์อิฐโบราณ และจะเริ่มศึกษาอิฐของเจดีย์รายที่อยู่ถัดจาก “เขาคลังนอก” โบราณสถานขนาดใหญ่ของเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งเจดีย์ดังกล่าวมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเจดีย์รายที่รอบๆ และอยู่ในมีทิศที่ชี้ตรงไปเขาถมอรัตน์ โดยจะถอดสูตรอิฐโบราณเพื่อผลิตขึ้นใหม่ให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด และมีสมบัติในการส่งผ่านความร้อนและความชื้นที่ใกล้เคียงของเดิมหรือดีกว่าเดิม ตั้งเป้าใช้ดินเหนียวด่านเกวียนของ จ.นครราชสีมา สำหรับผลิตอิฐสูตรโบราณ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้แก่ชุมชนด่านเกวียนด้วย