“ดร.ธันยกานต์ วงษ์อ่อน” เล่าขานตำนาน อุ้มผาง-อมก๋อยแตก เครื่องถ้วยจากสุสานโบราณปริศนาบนเทือกเขาธงชัย
“อุ้มผาง-อมก๋อยแตก”ที่เทือกเขาถนนธงชัย เครื่องถ้วยโบราณไหลทะลัก จุดเปลี่ยนบันดาลใจ “ดร.ธันยกานต์ วงษ์อ่อน” รังสรรค์หนังสือครั้งประวัติศาสตร์
ดร.ธันยกานต์ วงษ์อ่อน ผู้เขียนหนังสือ “เล่าขานตำนานเครื่องถ้วยจากเทือกเขาถนนธงชัย” เล่าถึงแรงบันดาลใจสำคัญในการเขียนหนังสือเล่มนี้ว่า ต้องการให้หนังสือเล่มนี้เป็นเสมือนแหล่งค้นคว้าของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับเครื่องถ้วยที่ค้นพบบริเวณเทือกเขาถนนธงชัย ซึ่งเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ไทยในทุกยุคทุกสมัย และ ยังเป็นหลักฐานบ่งชี้ที่สำคัญซึ่งเชื่อมโยงให้เห็นว่า ในพื้นที่เทือกเขาถนนธงชัยมีชุมชนโบราณตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงยุคกรุงศรีอยุธยาแตก และ หลักฐานเครื่องถ้วยโบราณที่ขุดพบได้บริเวณดังกล่าวยังบ่งชี้ได้ว่า เครื่องถ้วยโบราณเริ่มจากหายไปตั้งแต่ยุคสมัยใด
“เครื่องถ้วยโบราณชิ้นที่เราเจอมีถึงร้อยละ 90 มาจากเทือกเขาถนนธงชัย และ ที่เหลือมาจากหลุมศพโบราณ ซึ่งได้มีนักวิจัยได้มาศึกษาค้นคว้าว่า เครื่องถ้วยโบราณที่ขุดพบได้นั้นสามารถสืบค้นถึงประวัติศาสตร์หน้าต่างได้ และ ที่ผ่านมาคนไทยยังไม่ค่อยรู้เรื่องเครื่องถ้วยโบราณมากนัก ทำให้หนังสือเล่มนี้ได้มีการอธิบายปรากฎการณ์ไล่เลียงมาของเครื่องถ้วยโบราณ โดยเฉพาะปรากฎการณ์สำคัญคือ เหตุการณ์อุ้มผาง-อมก๋อยแตก ในช่วงราวๆปี 2520 ต้นๆ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาเพราะคนไม่รู้มาก่อนว่าเครื่องถ้วยโบราณนั้นมีอยู่จริง ก็จะไม่เชื่อ แต่หนังสือเล่มนี้จะบอกหมด ตั้งแต่แหล่งที่มาของการขุดพบเครื่องถ้วยบริเวณเทือกเขาถนนธงชัย โดยเป็นพื้นที่อยู่ห่างไกลความเจริญ และ เครื่องถ้วยที่ขุดได้ยังบอกถึงชาติพันธุ์ที่สืบกันมาตั้งแต่ครั้งประวัติศาสตร์ จนมาถึงปัจจุบันที่สันนิษฐานว่า เหลือเพียง 2 ชนเผ่า คือ ชนเผ่ารั้ว และ ชนเผ่ากระเหรี่ยง เพราะฉะนั้นหนังสือเล่มนี้อาจกล่าวได้ว่า ทำให้คนรุ่นหลังไม่ลืมกลุ่มชาติพันธ์ ซึ่งหากไม่มีการทำหนังสือบันทึกไว้ ประวัติศาสตร์ของชาติพันธุ์อาจถูกลืมเลือนไป” ดร.ธันยกานต์ เล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเอง
สำหรับเหตุการณ์สำคัญ คือ อุ้มผาง-อมก๋อยแตก จนนำมาสู่การไหลทะลักของเครื่องถ้วยโบราณบริเวณเทือกเขาถนนธงชัยให้ออกมาสู่สายตาชาวโลก และ ผ่านมือนักสะสมของโบราณ เกิดขึ้นเมื่อราวๆ 40 กว่าปีมาแล้ว ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของหน้าประวัติศาสตร์การขุดพบเครื่องถ้วยโบราณในไทย ดังนั้นเหตุการณ์ดังกล่าว จึงเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้ ดร.ธันยกานต์ ตั้งใจบรรจงสรรค์สร้างหนังสือ“เล่าขานตำนานเครื่องถ้วยจากเทือกเขาถนนธงชัย” เพื่อบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และจดจำ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตำราประวัติศาสตร์ของไทยที่จะทำให้เยาวชนไทยได้มีหนังสือที่มีจำนวน 472 หน้า และ สี่สี มีเนื้อหาที่สามารถสืบค้นภาพเครื่องถ้วยโบราณที่ขุดพบได้บริเวณเทือกเขาถนนธงชัย เพื่อเชื่อมโยงกับหน้าประวัติศาสตร์ไทย และ ประวัติศาสตร์โลก
“ระยะเวลา 40 กว่าปี ก็มีการปรับเปลี่ยนหมุนเวียน ทำให้คนรุ่นใหม่จะไม่ทราบความเป็นมา เพราะ ณ ขณะนี้ก็จะไม่มีใครทราบปรากฎการณ์อุ้มผาง อมก๋อยแตก ถ้าเราไม่ทำ ก็จะทำให้โดนลบไปจากหน้าประวัติศาสตร์ จำเป็นต้องทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา และ เมื่อศึกษาเรื่องเครื่องถ้วยโบราณ ทำให้มีข้อมูลลึกไปเรื่อยๆ เพราะมีความน่าสนใจว่า ชาติพันธ์ไหนทำให้เครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้เกิดขึ้นมา ผมเรียกศิลปะเครื่องถ้วยโบราณว่าเป็นประณีตศิลป์มหัศจรรย์ เพราะเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดจากที่เขาทำ เช่น จานใบหนึ่งในเครื่องถ้วยโบราณมีปลา 4-5 ตัว ที่อมก๋อย แต่พื้นที่อื่นเจอการเขียนปลาบนเครื่องถ้วยโบราณเพียงตัวเดียว จากการค้นพบดังกล่าวทำให้เรารู้คือ สังคมตรงนั้น อาจเป็นเมือง เป็นชุมชน รวมทั้งที่ผ่านมา เรายังเจอเครื่องถ้วยของจีน โดยเครื่องถ้วยลายครามจีนมีการประมูลกัน 200-300 ล้านบาท ก็ไปเจอกันที่บริเวณเทือกเขาถนนธงชัย ซึ่งก็น่าสนใจและน่าไปสืบค้น เพราะราไปเจอทุกอย่างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia) และ ยังค้นพบเครื่องถ้วยโบราณตั้งแต่สมัยสุริยะวรมัน และ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งเป็นยุคเก่าแก่สมัยเขมรต่ำ เขมรสูง และ ที่เก่าไปกว่านั้นคือ เจอลูกปัดสมัยทวาราวดี รวมทั้งยังเจอขวานยุคก่อนประวัติศาสตร์ และ ในยุคร่วมสมัยกับศิลปะบ้านเชียง” ดร.ธันยกานต์เล่าให้ฟังถึงอีกหนึ่งแรงบันดาลใจสำคัญในการเขียนหนังสือเล่มดังกล่าว