แพทย์ชี้! “หลอดเลือดสมองโป่งพอง” ถ่ายทอด ‘โรค’ ญาติสายตรง
แพทย์ห่วง! “หลอดเลือดสมองโป่งพอง” มรดก ‘โรค’ ญาติสายตรง
โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง เป็นภาวะที่ผนังของหลอดเลือดบางส่วนเกิดการอักเสบหรือเสื่อมสภาพ ทำให้เกิดการบางลงของผนังหลอดเลือดตำแหน่งนั้น เมื่อได้รับแรงดันจากเลือดที่ไหลเวียนอยู่ภายในก็ทำให้เกิดการโป่งพองขึ้นเป็นกระเปาะออกจากผนังหลอดเลือดข้างเคียง ซึ่งอาจขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดการแตกและทำให้เกิดเลือดออกในสมองได้ แม้จะพบได้ไม่บ่อยนัก แต่อันตรายมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว
นายแพทย์อรรถวิทย์ เจริญศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ระบบประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาทโรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า “โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง แท้จริงแล้วพบได้ไม่บ่อยนัก จากการศึกษาพบว่ามีอุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 1-5 ของประชากรทั่วไป และในกลุ่มนี้มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีการแตกของหลอดเลือดเกิดขึ้น แต่ความอันตรายของภาวะนี้อยู่ที่ความรุนแรงของโรคซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงถึง 1 ใน 3 หากเกิดการแตกของหลอดเลือดโป่งพองขึ้นมา
ภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง หรือ Cerebral Aneurysm เกิดจากความผิดปกติของผนังหลอดเลือดในสมองบางตำแหน่งมีลักษณะบางกว่าบริเวณอื่น เมื่อต้องรับมือกับความดันในหลอดเลือดอยู่เรื่อย ๆ อาจส่งผลให้บริเวณที่บางนั้น โป่งพองเป็นกระเปาะ และอาจแตกออก ส่งผลร้ายแรงต่อสมองในเวลาใดเวลาหนึ่ง และไม่อาจทราบได้ว่าผนังหลอดเลือดที่โป่งพองนั้นจะแตกออกมาเมื่อไร ทั้งนี้ เราสามารถจำแนกปัจจัยที่เกี่ยวข้อง หรือส่งผลให้เกิดการโป่งพองของหลอดเลือดสมองเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. ปัจจัยที่สามารถแก้ไขหรือควบคุมได้ เช่น ความดันโลหิตสูงและการสูบบุหรี่ ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้เป็นปัจจัยสำคัญมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อการทำให้เกิดอาการโป่งพองและขยายขนาดของหลอดเลือด ซึ่งยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการแตกของหลอดเลือดมากขึ้น ตลอดจนปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อการเกิดโรค อาทิ ไขมันในเลือดสูง การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาหรือสารเสพติด รวมถึงประวัติการบาดเจ็บบริเวณสมองหรือหลอดเลือดสมองด้วย ซึ่งในกลุ่มนี้ ถือเป็นปัจจัยที่สามารถปรับเปลี่ยนหรือควบคุม เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าวได้
2. ปัจจัยที่ไม่สามารถแก้ไขได้ กลุ่มนี้ อาจมีปัจจัยมาจาก อายุ เพศโดยเฉพาะเพศหญิง ประวัติครอบครัวที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง โดยเฉพาะญาติสายตรง หรือ โรคทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันผิดปกติ (fibromuscular dysplasia, Ehlers-Danlos syndrome, Marfan syndrome) และโรคถุงน้ำในไต (polycystic kidney disease)”
นายแพทย์อรรถวิทย์ กล่าวต่อไปว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะเตือนนำมาก่อนเกิดการแตกของหลอดเลือดสมอง (sentinel headache) ซึ่งเกิดจากการเริ่มปริแตกเล็กน้อยของหลอดเลือด มักนำมาก่อนเกิดการแตกจริงไม่นาน หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้ทัน อาจช่วยป้องกันหรือลดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ บางรายอาจพบอาการแสดงทางระบบประสาทที่เกิดจากการกดเบียดของหลอดเลือดโป่งพองที่มีขนาดใหญ่ได้ เช่น อาการมองภาพซ้อนหรือหนังตาตกจากการกดเบียดเส้นประสาทใบหน้าคู่ที่ 3 แต่จะเป็นส่วนน้อย
อย่างไรก็ดี โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการ จนกระทั่งเกิดการแตกขึ้นและทำให้มีเลือดออกในชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง (subarachnoid hemorrhage) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะที่รุนแรงมาก นอกจากนี้เลือดที่ออกจะทำให้เกิดการอักเสบและบวมของสมองโดยรอบ ส่งผลให้เกิดอาการซึม หมดสติ หรือชัก ผู้ป่วยบางรายอาจมีระบบการหายใจล้มเหลว หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
กลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะมีหลอดเลือดสมองโป่งพองมากกว่าประชากรทั่วไป ได้แก่
• มีประวัติโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองหรือประวัติเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองในครอบครัว โดยเฉพาะญาติสายตรง (first degree relative) ตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป
• มีประวัติโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองหรือประวัติเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองในครอบครัว โดยเฉพาะญาติสายตรง 1 ราย ร่วมกับมีโรคหรือภาวะที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง เช่น โรคถุงน้ำในไต (polycystic kidney disease)
• ผู้ป่วยมีภาวะหรือโรคที่สัมพันธ์กับการมีหลอดเลือดสมองโป่งพอง ได้แก่ โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ตีบแคบ (coarctation of aorta) หรือมีภาวะลิ้นหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดชนิด bicuspid aortic valve
การวินิจฉัยภาวะนี้จำเป็นต้องอาศัยการตรวจทางรังสีวิทยา โดยการทำเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (computer tomography; CT scan) หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging; MRI) เพื่อมองหาความผิดปกติของหลอดเลือดสมอ หากไม่พบความผิดปกติชัดเจนแต่ยังสงสัยภาวะนี้อยู่ แพทย์จะทำการตรวจโดยใช้สายสวนทางหลอดเลือดแดง (cerebral angiogram) เพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือดสมองอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยปกติแล้วจะทำการตรวจเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการแสดงที่น่าสงสัยภาวะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีเลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมอง (subarachnoid hemorrhage) ที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจทุกราย ซึ่ง
สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงและไม่มีอาการผิดปกติ ไม่แนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองเพื่อหาภาวะนี้
สำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองนั้น จะทำโดยแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมประสาท ซึ่งมีทั้งวิธีการรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดแดง ใส่ขดลวดเพื่ออุดหลอดเลือดส่วนที่โป่งพอง และวิธีการรักษาโดยการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ ทั้งนี้การเลือกว่าจะให้การรักษาด้วยวิธีการใดนั้น แพทย์จะตัดสินใจโดยพิจารณาจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งอาการของผู้ป่วยในขณะนั้น ลักษณะรูปร่าง ขนาด รวมถึงตำแหน่งของหลอดเลือดที่โป่งพองด้วย
อย่างไรก็ดี เราสามารถป้องกันการเกิดภาวะโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองได้ โดย
1. รักษาภาวะความดันโลหิตสูงให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยการกินยาและพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
2. ควบคุมอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีรสเค็มจัด และไขมันสูง
3. งดสูบบุหรี่ งดแอลกอฮอล์และสารเสพติดทุกชนิด
4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
5. หากเป็นผู้ที่มีหลอดเลือดสมองโป่งพองอยู่แล้ว แนะนำให้ติดตามอาการกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และสังเกตอาการผิดปกติของตนเองที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอาการปวดศีรษะที่รุนแรงและอาการผิดปกติทางระบบประสาท
“อันตรายของโรคหลอดเลือดสมองไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกอันมาจากปัจจัยหรือสาเหตุหลักจากโรคประจำตัวตลอดจนปัจจัยทางพันธุกรรมที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ล้วนส่งผลให้เกิดทุพพลภาพหรืออันตรายถึงแก่ชีวิตได้ทั้งสิ้น และเนื่องจากวิธีการรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง มีความเสี่ยงและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการรักษาได้
..โดยทั่วไปแพทย์จึงแนะนำให้ทำการรักษา ในผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น..
ด้วยเหตุนี้เอง จึงมักจะทำให้เกิดปัญหาในการตัดสินใจรักษาผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดสมองโป่งพองแต่ยังไม่มีอาการ โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจพบจากการตรวจคัดกรอง หรือพบโดยบังเอิญจากการตรวจโรคทางสมองอื่น ในกรณีนี้แพทย์และผู้ป่วยจำเป็นต้องตัดสินใจร่วมกันโดยพิจารณาเปรียบเทียบประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับจากการรักษากับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น โดยหลักการทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้รักษาก็ต่อเมื่อความเสี่ยงของการแตกของหลอดเลือดโป่งพองสูงกว่าความเสี่ยงที่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษานั่นเอง” นายแพทย์อรรถวิทย์ ทิ้งท้าย
สามารถเจาะลึกถึงสาเหตุอื่นๆ และแนวทางการรักษาเพิ่มเติมได้ทาง www.praram9.com/cerebral-aneurysm ตลอดจนสามารถเข้ารับบริการและขอคำปรึกษาจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ได้ที่ ศูนย์สมองและระบบประสาทโรงพยาบาลพระรามเก้า โทร. 1270 หรือ www.praram9.com / Line: lin.ee/vR9xrQs หรือ @praram9hospital และทาง Facebook: Praram9 Hospital โรงพยาบาลพระรามเก้า HEALTHCARE YOU CAN TRUST เรื่องสุขภาพ…ไว้ใจเรา #Praram9Hospital