ADS


Breaking News

อว. ชื่นชม! นักวิจัยไทยคว้ารางวัลการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ พร้อมเปิดศูนย์พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืน

อว. ประกาศเกียรติคุณนักวิจัยไทยคว้ารางวัลการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ พร้อมเปิดศูนย์พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืน

     วันที่ 21 กันยายน 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ เพื่อประกาศเกียรติคุณแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปประกวดเวทีนานาชาติ กว่า 48 ผลงาน จาก 2 เวที และพิธีเปิดศูนย์พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ของนักวิจัย โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีฯ และปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “สิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืน” พร้อมนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร วช. และคณะนักวิจัย ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาคาร วช. 1 และศูนย์พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืน อาคาร วช. 7 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร
     นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า กระทรวง อว. ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทย ที่ได้สร้างชื่อเสียงให้1กับประเทศในเวทีระดับนานาชาติจากการที่พวกเราได้ก้าวไปสู่ระดับนานาชาติ และได้รับรางวัลมาแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทย ที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก และเป็นโอกาสอันดีที่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยได้เผยแพร่ผลงานประดิษฐ์คิดค้นให้เป็นที่รู้จักในเวทีระดับนานาชาติและสามารถนำผลงานประดิษฐ์มาพัฒนาต่อยอดจนสามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ และนำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิชาการ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน
     นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า กระทรวง อว. ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศก้าวเดินไปข้างหน้า ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งได้กำหนดทิศทางการพัฒนาบนพื้นฐานของหลักการแนวคิดที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1. ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 2. แนวคิด Resilience 3. เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และ 4. โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อมุ่งสู่วัตถุประสงค์หลักของแผนพัฒนาฯ คือการ “พลิกโฉม” ประเทศไทย สู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” และอยากเห็นนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยรวมถึงหน่วยงานที่มีส่วนในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผนึกกำลังอย่างแข็งแกร่ง เพราะจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศต่อไป
     ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เล็งเห็นความสำคัญในการจัดให้มีกิจกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยได้นำผลงานประดิษฐ์คิดค้น ผลงานวิจัยไปร่วมประกวดและจัดแสดงในเวทีนานาชาติต่าง ๆ ทั้งนี้ วช. ได้มีการจัดกิจกรรมดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรมมาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏผลสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง จึงเห็นควรให้มีโครงการส่งเสริมผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์สู่เวทีนานาชาติต่อไป พร้อมนี้ วช. ได้จัดให้มีพิธีมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติมากว่า 5 ปี เพื่อประชาสัมพันธ์และเชิดชูเกียรตินักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีระดับนานาชาติ โดยครั้งนี้ วช. ได้นำคณะนักวิจัยร่วมนำผลงานผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ไปประกวด 2 เวที ได้แก่ 1. เวที WorldInvent Singapore 22+23” (WoSG) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 6 กันยายน 2566 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยนักประดิษฐ์ไทยจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัล Grand Prize ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงานจากผลงานเรื่อง “ยานพาหนะสำหรับการตรวจวินิจฉัยทางรังสี” เหรียญทองจำนวน 10 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 8 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 5 รางวัล และ 2. เวที Indonesia Inventors Day 2023” (IID 2023) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 19 กันยายน 2566 ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยนักประดิษฐ์ไทยจากบริษัท เฮลท์ เฮิร์บ เซ็นเตอร์ จำกัด คว้ารางวัล The Best Business Performance Excellence Award จากผลงานเรื่อง “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันงาดำสกัดเข้มข้น เสริมโคเอนไซม์ คิวเท็น เพื่อบำรุงสมองและกระดูก” เหรียญทองจำนวน 19 รางวัล  เหรียญเงินจำนวน 3 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 3 รางวัล นับเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยที่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยในฐานะตัวแทนประเทศไทยได้สร้างชื่อเสียงและสร้างการยอมรับในมาตรฐานของผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ ภายใต้การสนับสนุนของ วช.
     ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติแล้ว นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืน ที่ วช. ก่อตั้งขึ้นเพื่อนำเสนอสิ่งประดิษฐ์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชน นักวิจัย และนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งมีการจัดกิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมด้านการประดิษฐ์ที่สามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง โดยพัฒนาทักษะการเริ่มต้นการเป็นนักวิจัยและนักประดิษฐ์มืออาชีพต่อไปในอนาคต โดย วช. ได้จัดให้มีกิจกรรมการอบรมและการเรียนรู้ ดังนี้ 1. Sky Innovators: Coding for Drone Mastery 2. USB-Mini Torch (ประดิษฐ์ไฟฉาย Mini USB) 3. “DIY HERB SOAP งานศิลปะบนก้อนสบู่” 4. วัสดุฉลาดทางการแพทย์ ด้าน Biomedical Engineering 5. การประยุกต์ใช้ IoT ขั้นพื้นฐานเพื่อการเกษตร 6. การวางต้นไม้อย่างไรให้ลดฝุ่น 7.  พื้นฐานการใช้เทคโนโลยีเซลล์ไฟฟ้าจุลินทรีย์จากพืชและสาหร่ายและการดูแลรักษา 8. ขนใบกับคายน้ำช่วยลดฝุ่นได้อย่างไร และ 9. สารอินทรีย์กำจัดแมลงทรงประสิทธิภาพจากเปลือกไข่ผสมน้ำหมักสับประรด
    นอกจากนี้ วช. ยังได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การส่งเสริมการศึกษานอกห้องเรียนเพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้” ระหว่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธาน ความร่วมมือครั้งนี้จะก่อให้เกิดการส่งเสริม ผลักดัน การเพิ่มพูนประสบการณ์ในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะของเยาวชนโดยเน้นประสบการณ์เรียนรู้นอกห้องเรียน การสร้างแรงจูงใจในการเรียน เพิ่มพูนประสบการณ์ในการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะที่สำคัญ  รวมถึง ทักษะการสังเกต การตั้งคำถาม การคิด เชิงวิจารณญาณ การแก้ปัญหา ทักษะการสื่อสาร การทำงานร่วมกัน และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และปลูกฝังคุณลักษณะของการเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต