ADS


Breaking News

ม.ศิลปากร ปลื้ม! คว้าถ้วยรางวัล Platinum Award จาก “กรมสมเด็จพระเทพฯ” สุดยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมโดดเด่น มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ปี 66

ศิลปากร เฮ! คว้าถ้วยรางวัล Platinum Award จาก “กรมสมเด็จพระเทพฯ” สุดยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมโดดเด่น งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ปี 66
     วันที่ 11 สิงหาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีมอบรางวัล Thailand Research Expo 2023 Award และมอบโล่แสดงความขอบคุณแก่หน่วยงานที่นำผลงานร่วมนำเสนอ ในพิธีปิดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023) ซึ่งผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล Platinum Award จะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล และเกียรติบัตร ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023)” ณ เวที Highlight Stage โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
     ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนและกระตุ้นให้หน่วยงานต่าง ๆ เห็นความสำคัญในการนำเสนอผลงานวิจัยและกิจกรรมส่งเสริมการวิจัยที่มีคุณภาพ เข้าร่วมในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023)” และได้จัดให้มีกิจกรรม Thailand Research Expo 2023 Award ซึ่งเป็นการพิจารณาคัดเลือกผลงานที่มีกระบวนการนำเสนอที่มีความโดดเด่นในรูปแบบที่หลากหลายและสามารถเชื่อมโยงส่งต่องานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไปได้ โดยในปีนี้ รางวัล Platinum Award มีจำนวน 2 รางวัล ผู้รับรางวัลได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 120,000 บาท และเกียรติบัตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผลงาน “สมุทรสงครามอยู่ดี : การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฐานนิเวศวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน” และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ผลงาน “ระบบสมาร์ทฟาร์มและระบบอัตโนมัติสำหรับการเพาะปลูกพืชผักปลอดสารพิษ”
     มหาวิทยาลัยศิลปากร ผลงาน “สมุทรสงครามอยู่ดี : การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฐานนิเวศวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน”ภายใต้กรอบการวิจัย “มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่” ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยมุ่งจัดการองค์ความรู้และเก็บข้อมูลปฐมภูมิทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับสิ่งแวดล้อม และนิเวศวิทยาวัฒนธรรม ซึ่งส่งผลให้เกิดเป็นวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อนำไปสู่การจัดระบบฐานข้อมูลสารสนเทศแผนที่ทางวัฒนธรรม (Geographic Informative Cultural Atlas) เพื่อความเข้าใจต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม ภายใต้กลไกการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างใกล้ชิด (Stakeholder Engagement) โดยมีเป้าหมายไปสู่การพัฒนาเชิงพื้นที่ให้เกิดความเข้มแข็งในมิติสังคมและเศรษฐกิจ ที่สามารถนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลในการวางแผนกำหนดยุทธศาสตร์ และการเสริมสร้างองค์ความรู้ จัดการองค์ความรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ และนำไปสู่การประเมินผลตามตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจชุมชนบนฐานคิดของเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรม การดำเนินงานโครงการวิจัยก่อให้เกิดกลไกการดำเนินงานในพื้นที่ จำนวน 5 กลไก คือ 1) กลไกความร่วมมือในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาตลาดน้ำอัมพวาร่วมกับหน่วยงานราชการในท้องถิ่น คือ อำเภออัมพวา และองค์การบริหารส่วนตำบล คือ เทศบาลตำบลอัมพวา, อบต. บางช้าง, องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร คือ โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ และผู้ประกอบการการท่องเที่ยวโรงแรม 2) กลไกความร่วมมือในการฟื้นฟูเส้นทางคลองบางจาก ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล คือ เทศบาลตำบลอัมพวา, อบต. บางช้าง ร่วมกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร คือ โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ และผู้ประกอบการ การท่องเที่ยวโรงแรม ผู้ประกอบการพายเรือคายัก และซับบอร์ด 3) กลไกความร่วมมือในการจัดทำแผนและผังแม่บทวัดอัมพวันเจติยารามร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล คือ เทศบาลตำบลอัมพวา และสำนักศิลปากรที่ 1 (ราชบุรี) 4) กลไกการสำรวจความหลากหลายนิเวศน์วิทยาวัฒนธรรม “สมุทรสงครามอยู่ดี ชวนน้องพี่ชมนิเวศ - City Nature Challenge - CNC” ร่วมกับมูลนิธิโลกสีเขียว, โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์, ชุมชนบางสะแก, ศูนย์ศึกษาธรรมชาติวิทยาป่าชายเลนบางบ่อ, กลุ่มลำกระโดงสโมสร, ห้องเรียนสุดขอบฟ้า 5) กลไกความร่วมมือการพัฒนาบนฐานอนุรักษ์ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ร่วมกับเทศบาลตำบลอัมพวา (วัดอัมพวันเจติยาราม, วัดบางจาก, วัดบางกะพ้อม) และองค์การบริหารส่วนตำบลบางช้าง (วัดจุฬามณี, วัดดาวดึงส์) โครงการสมุทรสงครามอยู่ดีฯ ได้สร้างให้เกิดกระบวนทัศน์ที่ส่งเสริมให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างมรดกทางวัฒนธรรมกับมรดกทางธรรมชาติ โดยใช้แนวคิดนิเวศวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการบูรณการ ทั้งนี้ ผลผลิตที่สำคัญของโครงการฯ คือ “การส่งเสริมเส้นทางเพื่อการเรียนรู้นิเวศวัฒนธรรมและวิถีชีวิตริมคลองบางจาก” ซึ่งแต่เดิมคลองบางจากได้ทิ้งร้างจากการเป็นเส้นทางสัญจร จนกลายเป็นแหล่งสะสมขยะที่มาจากตลาดน้ำอัมพวา แต่เมื่อโครงการได้ริเริ่มและฟื้นฟูให้เป็นเส้นทางการพายเรือ โดยเชื่อมโยงทั้ง ด้านสิ่งแวดล้อม (การพายเรือเก็บขยะ สร้างสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม) ด้านนิเวศธรรมชาติ (ฟื้นฟูการพายเรือเพื่อการสัญจร และทำให้คนสัมพันธ์กับน้ำมากยิ่งขึ้น) ด้านวัฒนธรรม (การสื่อความหมายศิลปสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมของวัดระหว่างเส้นทาง) ซี่งในปัจจุบันเทศบาลตำบลอัมพวา ได้ส่งเสริมให้เป็นเส้นทางนำร่องเพื่อส่งเสริมการพายเรือ และกำหนดให้เป็นคลองปลอดเรือยนต์ ทำให้ผู้ประกอบการพายเรือเล็งเห็นถึงศักยภาพและนำไปประชาสัมพันธ์เป็นเส้นทางท่องเที่ยวแห่งใหม่  
  ในตอนท้าย ดร.วิภารัตน์ กล่าว "โครงการสมุทรสงครามได้สร้างเครือข่ายการทำงานและสนับสนุนให้เกิดนวัตกรชุมชนที่มีความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมของตนเองอย่างลึกซึ้ง ในขณะเดียวกันก็สามารถนำเสนอแนวคิดและกิจกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนชุมชนในมิติใหม่ ๆ แต่อยู่บนพื้นฐานที่สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่น"