พลเอกดาว์พงษ์ องคมนตรี ปาฐกถาพิเศษ ปลุกแรงบันดาลใจ วิศวกรสังคมและนวัตกรรมสังคม เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ยั่งยืน ที่งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ปี 66 ที่ วช. จัดขึ้น
พลเอกดาว์พงษ์ องคมนตรี ปาฐกถาพิเศษ สร้างแรงบันดาลใจ วิศวกรสังคมและนวัตกรรมสังคม เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ยั่งยืน ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ปี 66 ที่ วช. จัดขึ้น
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 หรือ Thailand Research Expo 2023 ภายใต้แนวคิด “วิจัยไทยก้าวไกล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน”ระหว่าง 7-11 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุม ชั้น 22 - 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 เวลา 09.00 น. ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. ได้เชิญพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ร่วมปาฐกถาพิเศษ ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 ภายใต้หัวข้อ วิศวกรสังคมและนวัตกรสังคมเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ยั่งยืน ณ ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้สนใจเข้าฟังเป็นจำนวนมาก
พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีได้เข้าเฝ้าเป็นครั้งแรก มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการศึกษาว่า การศึกษาคือความมั่นคงของประเทศ การศึกษาต้องสร้างให้คนไทยมีทัศนคติที่ดีและถูกต้อง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีอาชีพมีงานทำและเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคม คำว่าการศึกษามิได้หมายถึงในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น การศึกษาต้องสร้างให้คนไทยมีความมั่นคงด้วยซึ่งที่ผ่านมา แม้ตนจะทำงานด้านความมั่นคงแต่ไม่เคยเชื่อมโยงการศึกษากับความมั่นคงเลย แต่จากการได้มาทำงานถวายตั้งแต่ปี 2560 ได้เดินทางไปพบปะหารือกับอธิการบดีและผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2561-2563 มีการทำความเข้าใจและปรับแผน ตลอดจนกระบวนการทางความคิด
ของผู้บริหารทั่วประเทศ ทำให้เกิดยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏ รวม 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาท้องถิ่น การพัฒนาครู การปรับปรุงคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาด้านบริหารจัดการขึ้น
สำหรับโครงการวิศวกรสังคมหรือโครงการนักศึกษาพัฒนาท้องถิ่น ถือเป็นนวัตกรรมที่ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และต่อมาขยายจนทั่ว 38 แห่ง เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากแนวพระราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 4 ประการคือ 1. มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2. มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง 3. มีงานทำมีอาชีพ และ 4. เป็นพลเมืองดี โดยได้ทรงมอบหมายให้องคมนตรีติดตามชี้แนะมหาวิทยาลัยราชภัฏให้เข้าเป้าการยกระดับในการพัฒนาการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นของตน จึงเกิดการรวมตัวกันของนักศึกษา 38 มหาวิทยาลัยราชภัฏในการทำกิจกรรมตามอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของตน และทำให้นักศึกษาได้แสดงศักยภาพในตัวเองด้วยการลงมือฝึกปฏิบัติโดยอาศัยการเรียนรู้แบบการเรียนรู้เชิงรุก ในพื้นที่จริงเพื่อศึกษาปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน ในสังคมและท้องถิ่น สร้างทักษะติดตัวนักศึกษาเพื่อการดำรงชีวิตในอนาคต ได้แก่ทักษะการคิดวิเคราะห์เชิงเหตุผล เห็นปัญหาเป็นสิ่งท้าทาย ทักษะการสื่อสารองค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหา ทักษะการทำงานร่วมกันโดยปราศจากความขัดแย้ง ระดมสรรพกำลังและทรัพยากรในการแก้ปัญหา ทักษะในการสร้างนวัตกรรมในชุมชนและเกิดการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยกลไกดำเนินงาน ได้แก่ เครื่องมือฟ้าประทาน มุ่งสร้างทักษะวิธีคิดและทำความเข้าใจความหลากหลายของสังคม เครื่องมือนาฬิกาชีวิต การทำความเข้าใจจังหวะการดำเนินชีวิตและวิถีชีวิตผู้คน และเครื่องมือไทม์ไลน์เครื่องมือในการเห็นคุณค่าอดีตเข้าใจปัจจุบันเห็นคุณค่าอนาคต
พลเอกดาว์พงษ์ กล่าวต่ออีกว่า จากการเดินทางไปตรวจเยี่ยมมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศได้เห็นถึงศักยภาพของอาจารย์และนักศึกษา และเสียงสะท้อนกลับของนักศึกษาที่ออกไปทำงานได้พบว่าผู้ประกอบการยังมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ ดังนั้นเพื่อให้พวกเราได้ช่วยกันพัฒนานักศึกษา ทำให้ศักยภาพของเขาไม่ได้ถูกนำมาใช้ หน้าที่ของอาจารย์จึงไม่ได้จบที่การสอนแต่ต้องช่วยขับเคลื่อนจุดแข็งของนักศึกษาให้ออกมาซึ่งวิศวกรสังคมคือกลไกที่จะทำให้เราสามารถพัฒนาจุดแข็งของเขาออกมาสู่โลกสู่สังคมสู่สายตาของคนทั่วไป โดยถ้าเข้าไปดูในรายละเอียดจะเห็นว่าวิศวกรสังคมคือพื้นฐานของทักษะพลเมืองในศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้ จากการติดตามผลมีการนำทักษะวิศวกรสังคมไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายด้านโดยตัวนักศึกษาเอง ทั้งการครองตน ครองชีวิต ครองงานเป็นพื้นฐานที่มั่นคง สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง
“การต่อยอดวิศวกรสังคม ที่เราดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือการริเริ่มจัดอบรมแกนนำรุ่นละ 40 คน ซึ่งรุ่นแรกได้เสร็จสิ้นไปแล้ว กำลังจะเปิดรุ่นที่ 2 ซึ่งน่าประทับใจที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้ที่เข้ารับการอบรมอย่างชัดเจนทำให้ตระหนักว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว จากการที่มีเครือข่ายภาคเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุน จาก 12 เครือข่ายเพิ่มเป็น 47 เครือข่าย โดยจากการสอบถามภาคเอกชนพบว่าอยากให้การศึกษาตอบโจทย์ในด้านของทักษะความสามารถเชิงสมรรถนะ ที่ช่วยให้คุณสามารถทำงานและสื่อสารกับผู้อื่น ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด“
ในตอนท้าย องคมนตรีได้กล่าวขอบคุณ วช. ที่ได้ให้การสนับสนุนโครงการวิศวกรสังคมมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี และหวังจะได้รับการสนับสนุนต่อไปโดยอยากจะเห็นทุกฝ่ายช่วยกันทำให้โครงการวิศวกรสังคมประสบความสำเร็จจนกลายเป็นอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่จะสร้างคนและสร้างงานได้มากที่สุดในประเทศไทย
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรม ในงานมหกรรมงาน วิจัยแห่งชาติ 2566 Thailand Research Expo2023 ขับเคลื่อนงานวิจัย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างไทยยั่งยืน