ADS


Breaking News

วช.ผนึก มรภ.ภูเก็ต และ อบต.คลองท่อมใต้ จ.กระบี่ ปั้นสุดยอดผู้นํา “วิศวกรสังคม” เร่งพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ให้ก้าวไกล ด้วยวิจัยและนวัตกรรม

วช. ร่วมกับ มรภ.ภูเก็ต และ อบต.คลองท่อมใต้ จ.กระบี่ เสริมสมรรถนะ “วิศวกรสังคม” มุ่งพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ให้ก้าวไกล ด้วยวิจัยและนวัตกรรม
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
นางสาวปารวี เหร่เด็น รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองท่อมใต้
ดร.มานพ ชาชิโย รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มรภ.ภูเก็ต
    วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นำคณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการ เรื่อง “การสร้างสุดยอดผู้นําวิศวกรสังคม เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต” โดยมี ดร.มานพ ชาชิโย รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เป็นหัวหน้าโครงการฯ เพื่อเสริมสมรรถนะวิศวกรสังคม ด้วยการนำวิจัยและนวัตกรรม มาช่วยต่อยอดผลิตภัณฑ์ในชุมชนในการสร้างอาชีพ เสริมสร้างรายได้ พร้อมนี้ นางสาวปารวี เหร่เก็น รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองท่อมใต้ นายไพศาล ชัยชนะสงคราม ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลคลองท่อมใต้ พร้อมด้วย ผู้นำชุมชนบ้านคลองท่อมใต้ และคณะนักวิจัยให้การต้อนรับ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลคลองท่อมใต้ และชุมชนบ้านในควน อ.คลองท่อม จ.กระบี่ 
     ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ ในการบ่มเพาะวิศวกรสังคมด้วยกระบวนการวิจัยและนวัตกรรม โดยโครงการวิจัย เรื่อง “การสร้างสุดยอดผู้นําวิศวกรสังคม เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต” เป็นการดำเนินการ ในกระบวนการบ่มเพาะวิศวกรสังคมด้วยวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ภูเก็ต จ.พังงา และจ.กระบี่ โครงการดังกล่าว ได้เข้าไปหนุนเสริมการสนับสนุนนักศึกษาที่ผ่านกระบวนการวิศวกรสังคม นำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยและนวัตกรรม ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น ส่งเสริมให้นักศึกษาวิศวกรสังคมสามารถดำเนินการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ณ พื้นที่บ้านในควน ตำบลคลองท่อมใต้ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และได้นำหลักแนวคิดวิศวกรสังคมมาสู่การสร้างโจทย์และการปฏิบัติงานร่วมกับท้องถิ่นได้อย่างมีส่วนร่วม
     นางสาวปารวี เหร่เด็น รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองท่อมใต้ เปิดเผยว่า อบต.คลองท่อมใต้ และชุมชนบ้านในควน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ภายใต้การสนับสนุนของ วช. ดำเนินโครงการ “สร้างสุดยอดผู้นำวิศวกรสังคม เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต” ในพื้นที่ต.คลองท่อมใต้ อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้พัฒนาสมรรถนะและทักษะนักศึกษา ยกระดับทักษะทางสังคม ทักษะในศตวรรษที่ 21 จากการลงพื้นที่ระดมปัญหาเชิงพื้นที่ของชุมชนและสร้างนวัตกรรมด้วยองค์ความรู้และศาสตร์ต่างๆ ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนในตำบลคลองท่อมใต้ให้คนในชุมชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยการนำนวัตกรรมหรือองค์ความรู้มาใช้ในชีวิตประจำวันโดยการสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ ของคนในชุมชน และต้องขอขอบคุณ วช. และ มรภ.ภูเก็ต ที่นำโครงการดี ๆ มาพัฒนาพื้นที่ของเรา
     ดร.มานพ ชาชิโย รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มรภ.ภูเก็ต หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า  มรภ.ภูเก็ต ดำเนินโครงการ “สร้างสุดยอดผู้นำวิศวกรสังคม เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต” เพื่อให้บุคลากร นักศึกษาของ มรภ.ภูเก็ต มีทักษะในการเป็นวิศวกรสังคม ได้แก่ ทักษะการคิดวิเคราะห์ เชิงเหตุผล ทักษะการสื่อสาร ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยปราศจากข้อขัดแย้งและทักษะการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม สามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในการปฏิบัติงานจริง แก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนในมิติต่าง ๆ อาทิ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำและปัญหาคุณภาพชีวิต โดยการสร้างหรือนำองค์ความรู้ที่หลากหลายในมหาวิทยาลัยมาบูรณาการในการแก้ปัญหาอีกทั้งเพื่อนำองค์ความรู้ หรือนวัตกรรมที่มีในมหาวิทยาลัยราชภัฏไปใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองและจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน 
     การลงพื้นที่บ้านในควน ต.คลองท่อมใต้ อ.คลอมท่อม จ.กระบี่ ในครั้งนี้ คณะนักวิจัยได้นำผู้บริหาร และผู้ทรงคุณวุฒิ วช. พร้อมสื่อมวลชน ร่วมเยี่ยมชมกระบวนการของชุมชน ใน 2 พื้นที่กิจกรรม ได้แก่ 1. น้ำหมักชีวภาพดับกลิ่นมูลหมูในชุมชนและการใช้เพื่อการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาการส่งกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ในบริเวณโดยรอบฟาร์มหมู จากการทดลองใช้นวัตกรรมดังกล่าว สามารถดับกลิ่นมูลหมูในชุมชนได้ ลดมลภาวะที่เกิดขึ้นในชุมชน ทำให้ชุมชนเกิดการยอมรับด้วยการใช้หลักการทางชีวภาพ และ 2. การพัฒนาเครื่องแกงสู่การจำหน่ายระดับสากล โดยใช้กระบวนการวิศวกรสังคมร่วมกับชุมชนบ้านในควน โดยวิศวกรสังคมได้เข้ามาช่วยในการออกแบบ พัฒนาโลโก้และบรรจุภัณฑ์เครื่องแกง รวมถึงการพัฒนาสูตรเครื่องแกง ปริมาณส่วนประกอบของเครื่องแกงให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น