ADS


Breaking News

รมว.อว. “เอนก” ขับเคลื่อนวิจัยและนวัตกรรมเชื่อมสัมพันธ์ไทย-จีน ที่ประชุม Think Tank Forum ครั้งที่ 3 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

“เอนก” รมว.อว. นำวิจัยและนวัตกรรมเชื่อมสัมพันธ์ไทย-จีน ในการประชุม Think Tank Forum ครั้งที่ 3 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 
ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว.
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
     เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 66 ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความสัมพันธ์ไทย-จีน กับการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ในพิธีเปิดการประชุม Think Tank Forum ครั้งที่ 3 (The 3rd Think Tank Forum) ภายใต้หัวข้อ “Ten Years of the Belt and Road: China Thailand Partnership for Sustainable Development” โดยมี Professor Gao Xiang ประธานสถาบันสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences: CASS) กล่าวต้อนรับพร้อมเปิดการประชุม โดยมี ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  ผศ.ดร.ชุมพล เสมาขันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน พล.ต.ท. พรชัย สุธีรคุณ ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และคณะนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยเข้าร่วม ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
      ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก ชูประเด็นเรื่อง “ความสัมพันธ์ไทย-จีน กับการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี มีความเชื่อมโยงกันในเรื่องของการพัฒนาหลายมิติ นับตั้งแต่จีน โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ริเริ่มการเชื่อมจีน เอเชีย ยุโรป และแอฟริกาเข้าด้วยกัน ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงทรัพยากร วัตถุดิบ และสินค้า รวมถึงการเชื่อมโยงเศรษฐกิจเข้าด้วยกันที่เรียกว่า "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ซึ่งการริเริ่มดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของไทยในยุทธศาสตร์ 20 ปี และแผนพัฒนา Thailand 4.0 รวมถึงการพัฒนาที่มุ่งเน้นเรื่องของเศรษฐกิจ BCG ทำให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติและแนวคิดด้านนโยบายทั้งสองประเทศมีความเชื่อมโยงกันอย่างรอบด้าน นำมาซึ่งความร่วมมือไทย-จีนหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การพัฒนาความเชื่อมโยงด้านข้อมูลและดิจิทัล การยกระดับภาคการผลิตที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม (S-Curves) อาทิ การพัฒนาความเชื่อมโยงไทย-ลาว-จีน การพัฒนาของอนุภูมิภาคระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของไทยกับกรอบความร่วมมือเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong - Hong Kong - Macao Greater Bay Area: GBA) และเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) ของจีน รวมถึงโครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมศักยภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยานยนต์ไฟฟ้า
      รมว.อว. กล่าวอีกว่า จีนเป็นแบบอย่างที่ดีในการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งแนวคิดกระบวนการ และวิธีการแก้ไขปัญหาความยากจนของจีนกำลังเป็นที่สนใจในการศึกษาเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศไทยอย่างจริงจัง โดยจีนใช้เวลาเพียง 40 ปี ในการแก้ปัญหาความยากจนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการใช้เทคโนโลยีสร้างความเข้มแข็งภายใน สร้างความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชน และสร้างความยิ่งใหญ่ออกไปสู่ภายนอกจนเป็นที่ยอมรับบนเวทีโลก ความสำเร็จของจีนได้แสดงให้โลกได้เห็นถึงศักยภาพของพัฒนาการที่โดดเด่นทุกด้าน ซึ่งนโยบายด้านการวิจัยและนวัตกรรมของไทยให้ความสำคัญกับสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ทัดเทียมกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์เป็นรากฐานอันสำคัญของความเป็นอยู่ของประชาชน และมีความเกี่ยวพันอยู่ในทุก ๆ มิติของการพัฒนาประเทศ อีกทั้งประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจนวัตกรรมเทคโนโลยี มีการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยใช้ความคิดบนฐานความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา และฐานการวิจัยบนความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ และ อว. ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มีอำนาจหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เห็นว่าการจะพัฒนาประเทศตามแนวคิด กระบวนการ รวมถึงวิธีการที่กล่าวมาข้างต้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสถาบันสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences: CASS) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อร่วมกันส่งเสริม เชื่อมโยง และผลักดันให้เกิดผลงานวิจัย นวัตกรรมทางสังคมที่นำไปใช้ในการพัฒนาประเทศได้ 
     “การประชุมเชิงวิชาการ Think Tank Forum ครั้งที่ 3 นี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนอนาคตร่วมกันของทั้งสองประเทศ และสะท้อนเด่นชัดถึงนโยบายการพัฒนาประเทศภายใต้แนวความคิด “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ต่อไป” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว
      ทั้งนี้ สถาบันสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences: CASS) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มีความร่วมมือทางวิชาการต่อเนื่องมามากแล้วกว่า 23 ปี 
โดยได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการวิจัยในประเด็นสำคัญและเป็นข้อเสนอเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยมีผู้บริหารนำวิจัยและนวัตกรรมจากจีนและไทยเข้าร่วมการประชุมอย่างต่อเนื่อง
ตลอดทุกปี พร้อมกันนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนนักวิจัยและเสนอประเด็นเพื่อจัดทำการศึกษาร่วมกัน พร้อมกับกิจกรรมความร่วมมือมาโดยลำดับ และในปี 2566 นี้ จะได้เกิดความร่วมมือสำคัญระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติและสถาบันสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences: CASS) ในการร่วมจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยจีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถาบันสังคมศาสตร์จีน” ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ อีกด้วย