กรมศุลกากรทำลายของกลาง มูลค่ารวมกว่า 57 ล้านบาท
กรมศุลกากรทำลายของกลาง รวมมูลค่ากว่า 57 ล้านบาท
วันนี้ (19 มิถุนายน 2566) เวลา 10.00 น. นายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการในตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร เป็นประธานในพิธีนำของกลางที่คดีถึงที่สุดไปทำลาย พร้อมด้วยนายถวัลย์ รอดจิตต์ ผู้อำนวยการกองสืบสวนและปราบปราม พ.ต.อ.วงศ์ปกรณ์ เปรมกุลนันท์ รอง ผบก. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) พ.ต.ต. สตพงษ์ เชื้อมหาวรรณ ผู้อำนวยการส่วนคดีทรัพย์สินทางปัญญา 3 กรมสวบสวนคดีพิเศษ นางสาวเขมะศิริ นิชชากร ผู้อำนวยการกองป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กรมทรัพย์สินทางปัญญา และผู้แทนจากกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) ร่วมพิธีดังกล่าว โดยของกลางที่นำไปทำลาย รวมมูลค่ากว่า 57 ล้านบาท ณ ห้องโถง อาคาร 1 กรมศุลกากร
นายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการในตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากร ร่วมกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) และกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) ได้จับกุมและตรวจยึดของกลาง อาทิ เครื่องสำอาง บารากู่ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ สินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า และอื่น ๆ จำนวนทั้งสิ้น 1,295,875 ชิ้น คิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 57,349,633 บาท โดยเป็นการกระทำความผิดฐาน “มีไว้ในครอบครองซึ่งบุหรี่ไฟฟ้า ที่เป็นสิ่งของต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ จำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งสิ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของออกไปจากยานพาหนะ คลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต หรือเขตปลอดอากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร” อีกทั้ง สินค้าบางรายการมีการลอกเลียนแบบและมีการลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักร ถือเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยประเทศไทยได้มีข้อตกลงที่จะร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เกิดการยอมรับในระดับสากล รวมถึงสร้างมาตรฐานการปกป้องสังคม เพื่อประโยชน์ทางการค้าของผู้ประกอบการที่สุจริตและประชาชนทั่วไป
นายพงศ์เทพฯ กล่าวต่ออีกว่า กรมศุลกากรจะนำของกลางที่คดีได้ถึงที่สุดและตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมาย ไปทำลายโดยวิธีการเผาทำลาย ณ โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของบริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ในวันที่ 19 - 21 มิถุนายน 2566 และทุบทำลายโดยใช้รถบด ณ บริษัท โกลเด้นดีพ (ประเทศไทย) จำกัด ในวันที่ 22 มิถุนายน 2566