ADS


Breaking News

วช.เร่งหนุน วว.ส่งต่อเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร ยกระดับคุณภาพการผลิตไม้ดอกแอสเตอร์ สู่เชิงพาณิชย์

วช. เดินหน้าหนุน วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ พร้อมช่วยกลุ่มเกษตรกร ยกระดับศักยภาพการผลิตไม้ดอกแอสเตอร์ สู่เชิงพาณิชย์
     วันที่ 10 มิถุนายน 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จัดกิจกรรมอบรมการถ่ายทอดการผลิตปุ๋ย และการพัฒนาปัจจัยการยกระดับพัฒนาปัจจัยการยกระดับศักยภาพการผลิตไม้ดอกกลุ่มแอสเตอร์ เพื่อติดตามผลและประเมินผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนงานวิจัยในพื้นที่แล้ว ยังเป็นการเผยแพร่งานวิจัยและนวัตกรรมสู่การขยายผลและใช้ประโยชน์ การส่งมอบเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์ แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ไม้ดอกเหมืองแก้ว เพื่อผลิตปุ๋ยใช้เองในพื้นที่ได้อย่างครบวงจรโดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวรายงานภาพรวมการสนับสนุนโครงการวิจัยเชิงพื้นที่ และกล่าวเปิดงานฯ พร้อมนี้ ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. กล่าวรายงานภาพรวมและที่มาของโครงการวิจัยและนวัตกรรม นางสาวณวิสาร์ มูลทา เจ้าของ Love Flower Farm กล่าวรายงานการสร้างความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจชุมชน วช. และ วว. นายประจญ กสิปิยกุล นายกเทศมนตรีตำบลเหมืองแก้ว และมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพงษ์ จันจุฬา ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ให้การต้อนรับ ณ วิสาหกิจผลิตไม้ดอกกลุ่มแอสเตอร์ ตำบลเหมืองแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ร่วมกับ วว. ส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากสู่การใช้ประโยชน์ ภายใต้โครงการการยกระดับการปลูกเลี้ยงพืชกลุ่มแอสเตอร์ด้วยนวัตกรรมการขยายพันธุ์พืชปลอดโรคเชิงพาณิชย์ ในพื้นที่ ต.เหมืองแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ก่อให้เกิดวิสาหกิจชุมชนขนาดย่อม สร้างอาชีพใหม่ในชุมชนและท้องถิ่น ชุมชนเกิดกระบวนการพัฒนาและต่อยอดกลุ่มวิสาหกิจอย่างเป็นรูปธรรม เกิดระบบการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน เกษตรกรหรือชุมชนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการปลูกพืช ผ่านนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดได้ อีกทั้งเกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของชุมชนในพื้นที่สามารถพัฒนาให้มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงขึ้น เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่า 20% ตลอดกระบวนการผลิต เป็นต้น 
ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. กล่าวว่า วช. ได้ให้การสนับสนุนแก่ วว. ในการดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “การยกระดับการปลูกเลี้ยงพืชกลุ่มแอสเตอร์ด้วยนวัตกรรมการขยายพันธ์พืชปลอดโรคเชิงพาณิชย์” โดยโครงการนี้มุ่งเน้นการคัดเลือกสายพันธุ์ตัดดอกที่เหมาะสมในพื้นที่ คือ ดอกใหญ่ สีสันแปลกสะดุดดา รูปทรงแตกต่างจากเดิม เพื่อตอบโจทย์ของตลาดลูกค้าใหม่ ที่ใช้ในการจัดองค์ประกอบในโรงแรม ร้านอาหาร กลุ่มแอสเตอร์ ประกอบด้วยดอกไม้ 2 ชนิด คือ คัตเตอร์ ซึ่งมีลักษณะดอกสีขาว และ มาการเร็ต ลักษณะดอกสีม่วง หรือสีชมพู สิ่งสำคัญที่เป็นหัวใจหลักในการผลิตแอสเตอร์ คือ ต้นแม่พันธุ์ และการปรับปรุงดิน หากต้นกล้าแข็งแรง แต่ดินไม่มีความอุดมสมบูรณ์ก็ไม่สามารถได้ผลิตที่สมบูรณ์ได้ แต่ปัจจุบันเกษตรกรใช้ต้นพันธุ์เดิม นำมาปักชำ ทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพต่ำ จนจำเป็นต้องเปลี่ยนต้นแม่พันธุ์ด้วยการขยายพันธุ์แบบปลอดโรค เพื่อให้สอดคล้องกับระบบการผลิตต้นพันธุ์ปลอดโรคในต่างประเทศให้แก่เกษตรกร ด้วย
ทั้งนี้ ภายในงานยังได้มีการส่งมอบเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด และส่งมอบกล้าพันธุ์แอสเตอร์ปลอดเชื้อ และชุดเร่งการผลิตปุ๋ยหมักคุณภาพสูง แก่วิสาหกิจชุมชนไม้ดอกเหมืองแก้ว ต.เหมืองแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และในช่วงเช้าที่ผ่านมา ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นำคณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชน เดินทางไปตรวจเยี่ยมต้นแบบผลิตไม้ดอกกลุ่มแอสเตอร์ที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการผลิต จำนวน 2 แปลง และตรวจเยี่ยมโรงแพ็คห่อ ณ แปลงเกษตร ตำบลเหมืองแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่