ADS


Breaking News

อว.ยกระดับมรดกทางวัฒนธรรม นำนวัตกรรมเพลงพื้นบ้าน “เพลงไทยทางเปลี่ยน” โชว์ ซิมโฟนีออร์เคสตรา

อว. สืบสานมรดกทางวัฒนธรรม ต่อยอดนวัตกรรมเพลงพื้นบ้าน “เพลงไทยทางเปลี่ยน” สู่ ซิมโฟนีออร์เคสตรา
  เมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ขยายผลต่อยอดนวัตกรรม สร้างจินตนาการเพลงพื้นบ้าน สนับสนุนการบรรเลงเพลง“เพลงไทยทางเปลี่ยน” พื้นที่ทางนวัตกรรมดนตรีเพื่อพัฒนาสร้างสรรค์จินตนาการเสียงใหม่ ผ่านวงซิมโฟนีออร์เคสตรา และวงดนตรีไทย วงปี่พาทย์ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการแสดง “เพลงไทยทางเปลี่ยน” ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถนนเทียมร่วมมิตร แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมคณะผู้บริหาร อว. และประชาชนร่วมงาน ซึ่งเป็นการแสดงศิลปะดนตรีจากโครงการพื้นที่ทางนวัตกรรมดนตรีเพื่อพัฒนาสร้างสรรค์จินตนาการเสียงใหม่ ดำเนินการ โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. เป็นปีที่ 3 
     ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า มีความรู้สึกชื่นชมในโครงการวิจัยที่สามารถทำงานวิจัยให้ได้ยินเสียงจริง ๆ รู้สึกสัมผัสกับเสียงได้จริง และทุกคนที่ได้ฟังเพลงแล้วต่างก็มีความสุข ได้เห็นรอยยิ้มของผู้ฟัง ได้สัมผัสกับความเบิกบานใจทุกพื้นที่ที่ตามไปดู เป็นงานวิจัยที่สามารถสัมผัสได้และเป็นงานวิจัยที่มีรอยยิ้ม ในการวิจัยเสียงดนตรีนั้น เสียงดนตรีที่ได้ยินแล้วรู้สึกว่าขนลุก ภาพที่ได้เห็นสามารถที่จะสร้างจินตนาการ ทำให้เกิดความรู้สึกและมีพลัง สามารถนำทั้งเสียงและภาพไปต่อยอดและพัฒนาเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้เป็นผลงานวิจัยที่แตกต่างไปจากการวิจัยที่ผ่านมา เพราะได้ยินเสียง ได้เห็นภาพ และสัมผัสได้ โครงการวิจัยเสียงใหม่ “เพลงไทยทางเปลี่ยน” บรรเลงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้แก่สังคมไทยและวงการศึกษาดนตรีของไทย เพราะเพลงคลาสสิกไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพลงของชาวตะวันตกอีกต่อไป รวมทั้งในการแสดงของวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราที่เป็นวงดนตรีคลาสสิก โดยมีนักดนตรีชาวไทยที่มีฝีมือสูง ผ่านการฝึกฝนจนมีความเชี่ยวชาญ ได้ออกไปแสดงให้ผู้ชมในท้องถิ่นตามหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งเป็นโอกาสให้ชาวบ้านได้ชื่นชมบทเพลงของตัวเอง โดยที่ผู้ชมผู้ฟังไม่ต้องซื้อบัตรหรือเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด แถมไม่ต้องแต่งตัวและไม่ต้องปีนบันไดฟังอีกด้วย เพราะบทเพลงที่แสดงเป็นเพลงที่อยู่ใกล้ตัวของทุกคน
     เพลงไทยทางเปลี่ยน คือ การเล่นดนตรีเปลี่ยนทางไปจากทางเดิม ในขณะที่เพลงและเครื่องดนตรีอื่นในวงก็ยังคงดำเนินการบรรเลงต่อไปในแนวทางเดิม นักดนตรีที่เดี่ยวเครื่องดนตรีที่เล่นทางเปลี่ยน อาจจะเล่นคนเดียวหรือจะเล่นทางเปลี่ยนกันทั้งวงก็เป็นได้ การสร้างเสียงใหม่ในครั้งนี้ ได้เรียบเรียงบทเพลงโดย พันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ ดร.ธีรนัย จิระสิริกุล ดร.ปิยะวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ โดยนำเพลงพื้นบ้านภาคกลางของไทย ซึ่งสืบทอดและสั่งสมกันมาหลายร้อยปี มาแสดงออกในรูปแบบของวงปี่พาทย์ร่วมกับวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา เพื่อจะเปลี่ยนวิธีนำเสนอเพลงในโอกาสต่อไป ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นทางเปลี่ยนของดนตรีเพื่อดนตรีในโลกอนาคต
     เพลงไทยทางเปลี่ยน ที่นำมาจัดแสดง ประกอบด้วย เพลงสาธุการ เพลงกราวใน ทางจะเข้ เพลงพระอาทิตย์ชิงดวง เพลง Rong-Ngang Suite เพลงสังกะอู้ เพลงบินหลาบอง เกาะลิบง เพลงชเวดากอง เพลงพัดชา เพลงหัวใจกลับสู่ร่าง (กราวใน) เพลงอะไยจ๊ะกร้าบ เพลงแอกแครง เพลงแฮปปียา นอกจากนี้ ยังมีการขับร้องเพลงชมหมู่ไม้ เพลงมะนาวไม่มีน้ำ และเพลงสุขกันเถอะเรา จากวงปล่อยแก่ วช. ซึ่งระหว่างการบรรเลงเพลง ดร.สุชาติ วงษ์ทอง ได้สร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมประกอบบทเพลงการแสดงดนตรี ด้วย