วช. ชู “ผลิตภัณฑ์กาบหมาก” ตีตลาดผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ทดแทนโฟม – พลาสติก
วช. ดัน “ผลิตภัณฑ์กาบหมาก” ตีตลาดผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ทดแทนโฟม – พลาสติก
วันที่ 29 พฤษภาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ได้มอบหมายให้กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ นำคณะสื่อมวลชน ติดตามผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการวิจัย “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากกาบหมากแทนโฟม” ของ ดร.ธวัชไชย ลิ้มสุวรรณ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการทำวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ทุนท้าทายไทยเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงชุมชน สังคม จาก วช. ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพเกษตรกรชาวสวนยาง ตำบลท่าอุแท อำเภอเมืองกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ดร.ธวัชไชย ลิ้มสุวรรณ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า โลกกำลังเผชิญปัญหาวิกฤติจากขยะพลาสติกสังเคราะห์ เช่นเดียวกับประเทศไทยกำลังมีปัญหาขยะท่วมเมือง โดยเฉพาะขยะจากบรรจุภัณฑ์ ถุง ภาชนะของใช้พลาสติกนานาชนิดทำให้ประเทศไทยมีขยะในทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ สัตว์ทะเล และห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ ซึ่งหากมองไปที่กระแสทั่วโลกก็กำลังให้ความสำคัญกับการลดขยะพลาสติกที่กำลังคุกคามสิ่งแวดล้อมโลก ดังที่หลายประเทศได้ประกาศยกเลิกการผลิตถุงพลาสติก และอุปกรณ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง จึงได้เริ่มศึกษาความต้องการของตลาดภาชนะที่ย่อยสลายได้ง่าย พบว่า น่าจับตามอง และกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลหลายประเทศโดยเฉพาะสหภาพยุโรปต่างก็สนับสนุนให้ภาคเอกชนขยายการผลิตวัสดุชีวภาพ แทนพลาสติกสังเคราะห์
“ทำไมถึงเลือกกากหมาก เนื่องจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการปลูกหมากเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่จะเก็บเกี่ยวเฉพาะผลหมากมาจำหน่าย หรือแปรรูปทำหมากแห้งส่วนกาบหมากก็จะทิ้งไว้ในสวน ทั้งนี้หากนำกาบหมากมาทำผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายก็จะเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มขึ้น ประจวบกับในสภาวะปัจจุบันราคาพืชผลทางการเกษตรมีราคาต่ำลงมาทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง”
ดร.ธวัชไชย ลิ้มสุวรรณ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี กล่าวต่ออีกว่า จากปัญหาดังกล่าว จึงนำกาบหมากมาทำผลิตภัณฑ์แทนโฟม โดยเริ่มจากการนำกาบหมากมาตัดแต่งให้ได้ขนาด ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำด่างทับทิม และนำไปอัดขึ้นรูปด้วยเครื่องผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากกาบหมาก ที่ปรับตั้งค่าอุณหภูมิไว้ที่ 100 องศาเซลเชียส เพื่อฆ่าเชื้อราและแบคทีเรีย และการคงรูปทำให้ได้รูปทรงตามที่ต้องการ จุดเด่นของภาชนะจากกาบหมากทำจากวัสดุธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ ปราศจากสารเคมีและการฟอกสี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่แตกหักง่าย น้ำหนักเบา ใส่อาหารได้ทุกเมนู ใส่ของเหลวได้ เข้าเตาไมโครเวฟได้ ไม่อ่อนตัว ทนความร้อนได้ดี มีกลิ่นหอม และสามารถสร้างลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ย่อยสลายได้เอง 45 วัน และจากการสำรวจความต้องการของลูกค้าในประเทศไทยมีความต้องการถึง 5 แสนชิ้นต่อเดือน แต่กำลังการผลิตสามารถผลิตได้เพียงเดือนละ 5 หมื่นชิ้น แสดงว่าความต้องการยังมีในปริมาณสูง ผู้วิจัยเล็งเห็นถึงช่องทางสร้างรายได้ให้กับชุมชน จึงลงพื้นที่นำเทคโนโลยีไปถ่ายทอดองค์ความรู้ และนำเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อการผลิตระดับชุมชน โดยการพัฒนาเครื่องผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากกาบหมาก 2 แบบ คือแบบจานเหลี่ยมขนาด 6 นิ้ว x 7 นิ้ว และแบบถ้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 นิ้ว โดยไม่ต้องถอดแม่พิมพ์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว ทั้งนี้ได้มอบให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพเกษตรกรชาวสวนยาง ตำบลท่าอุแท อำเภอเมืองกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ใช้ในการประกอบอาชีพ เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากกาบหมาก ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนจำนวนมาก นำมาผลิตทดแทนภาชนะที่ทำจากโฟมเป็นการลดมลภาวะที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพเกษตรกรชาวสวนยาง ตำบลท่าอุแท อำเภอเมืองกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ได้รับเครื่องผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากกาบหมากระบบกึ่งอัตโนมัติ จะได้นำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ส่งเสริมการประกอบอาชีพให้กับเกษตรในชุมชน ตั้งแต่การปลูกหมาก การจำหน่ายกาบหมากสู่กระบวนการผลิต และการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากกาบหมากเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความอยู่ดีกินดีของสมาชิกกลุ่ม และของพี่น้องเกษตรกรตำบลอุแท อำเภอกาญจนดิษฐ์ อย่างยั่งยืนต่อไป
นายธเนศ ศรีรุ่งเรือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอุแท กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ วช. นำเครื่องผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากกาบหมากระบบกึ่งอัตโนมัติ มามอบให้ ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพเกษตรกรชาวสวนยางมีอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากการปลูกสวนยาง ปาล์มน้ำมัน และทุเรียน ด้วย
ด้าน นางสาวอัญชลี บารมีรุ่งเรือง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพเกษตรกรชาวสวนยาง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ได้เข้ามาส่งเสริมอาชีพเสริมการทำการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากกาบหมากเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ทำให้เกษตรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอยากให้ภาครัฐ และภาคเอกชนหันมาอุดหนุนผลิตภัณฑ์ฯ เพิ่มขึ้น