ADS


Breaking News

วช. ยินดีนักวิจัย มก. ผู้ค้นคิดทรัพยากรชีวภาพสัตว์และจีโนมิกส์ของสัตว์ คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ “สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา” ปี 66

วช. ชูนักวิจัย มก. ผู้คิดค้นทรัพยากรชีวภาพสัตว์และจีโนมิกส์ของสัตว์ รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ “สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา” ปี 66

     สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรมแถลงข่าว NRCT TALK นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566 ครั้งที่ 5 เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้วิชาการและประเทศชาติ ซึ่งในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก “รองศาสตราจารย์ ดร.ครศร ศรีกุลนาถ” นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2566 (สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา) 

รองศาสตราจารย์ ดร.ครศร ศรีกุลนาถ แห่ง หน่วยวิจัยด้านจีโนมิกส์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์ รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ “สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา” ปี 66

     วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมแถลงข่าว NRCT TALK นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566 ครั้งที่ 5 ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย ชั้น 1 อาคาร วช. 1  

     นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัยในอันที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิด และภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ โดยรางวัลแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ (ระดับปริญญาเอก) และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งกิจกรรมเปิดบ้านในวันนี้ได้รับเกียรติจากนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติท่านที่ 5 คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ครศร ศรีกุลนาถ แห่งหน่วยวิจัยด้านจีโนมิกส์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา) ที่มีความเชี่ยวชาญงานวิจัยเพื่อค้นหาการเปรียบเทียบจีโนมและระบบการกำหนดเพศของสัตว์มีกระดูกสันหลังหลายชนิด ทำให้เข้าใจระบบและกลไกการกำหนดเพศกลไกวิวัฒนาการ และสามารถนำไปวางแผนการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ อีกทั้งเชี่ยวชาญงานวิจัยด้านพันธุศาสตร์ของสัตว์ป่าและปศุสัตว์ ด้วยการประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรม และประเมินโครงสร้างประชากรของสัตว์ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในธรรมชาติ และในสถานีแหล่งเพาะ พัฒนาฐานข้อมูลความหลากหลายทางพันธุกรรมและลายพิมพ์ดีเอ็นเอของสัตว์ป่ากลุ่มต่าง ๆ โดยมีเครื่องมือประเมินความหลากหลายพันธุกรรมที่เป็นมาตรฐาน

     รองศาสตราจารย์ ดร.ครศร ศรีกุลนาถ แห่ง หน่วยวิจัยด้านจีโนมิกส์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์ กล่าวว่า มีความสนใจศึกษาเรื่องจีโนมิกส์ตั้งแต่เด็ก เนื่องจากเห็นเรื่องพันธุกรรมเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่น เป็นตัวควบคุมและกำหนดสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว และการที่ศึกษาภาพรวมพันธุกรรมทำให้มองเห็นว่าพันธุ์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ ได้ จนส่งผลต่อเนื่องเกิดการกินดีอยู่ดีของของชุมชน 

     “หนึ่งในความภาคภูมิใจที่ผมทำร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ วช. ผู้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยในเบื้องต้น คือการขยายพันธุ์กวางผา โดยเริ่มต้นศึกษาพันธุกรรมกวางผาในแหล่งเพาะพันธุ์ วางแผนผสมพันธุ์ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าพันธุ์พืชได้ปล่อยสู่ธรรมชาติ ทั้งนี้กำลังติดตามผลการอยู่รอดในธรรมชาติอย่างไร ซึ่ง 200 ตัวที่มีอยู่ในธรรมชาติจะเข้าไปผสมพันธุกันแบบธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน ตอนนี้ได้ทำการศึกษาวิจัยร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการเก็บอุจจาระของกวางผาในธรรมชาติมาศึกษา และนำมาประเมินค่าความเหมือนหรือความต่างของความต้องการในแหล่งเพาะพันธุ์ เพื่อปล่อยกวางผา ไปสู่แหล่งธรรมชาติที่เหมาะสม จำนวน 11 แห่งทั่วประเทศ ส่วนเรื่องการเพาะเลี้ยงหรือการติดตามทางอุทยานเขาก็ทำงานได้ดีมากอยู่แล้ว และอีก 1 งานวิจัยที่กำลังศึกษาคือเรื่องของปลาดุก จากปัญหาในอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาดุก ยิ่งเลี้ยงมากยิ่งต้องขยายพื้นที่เยอะในการเลี้ยงมาก แต่ผลผลิตกลับลดลง โดยพบว่าเกิดจากปัญหาของพันธุ์กรรมและระบบเลี้ยง งานวิจัยจึงเข้าไปแก้ปัญหาที่ต้นตอของพันธุกรรมของปลาดุกที่เอามาใช้เป็นประชากรตั้งต้น เพื่อที่จะผสมพันธุ์และทำให้รักษาคุณภาพของพันธุ์ได้ดียิ่งขึ้น

     นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาอาหารเกี่ยวกับไก่พื้นเมือง เพื่อมาเป็นโปรตีนทางเลือกให้กับชุมชน ทั้งชุมชนเปราะบาง ชุมชนที่อยู่ในที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ให้เขาสามารถเดินด้วยตัวเองจากการเลี้ยงไก่ที่เป็นแหล่งอาหารโปรตีน จึงอยากสนับสนุนให้ทุกบ้านเลี้ยงไก่และจะพยายามส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ของไก่พื้นเมืองต่อไป”

     การจัดงาน NRCT Talk จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้เป็นนำเสนอในประเด็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชนและยังเป็นการเชิดชูนักวิจัยหลากหลายสาขา ที่มีคุณค่า สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้นักวิจัยยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรมสร้างองค์ความรู้พื้นฐานทางวิชาการต่อสังคมและเศรษฐกิจส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงโลกแห่งอนาคต สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ