วช. ลุยเกาะสมุย ส่งงานวิจัยพัฒนาของฝากสู่อัตลักษณ์ชุมชน เร่งขับเคลื่อนต้นแบบ BCG Farming ด้วยวิจัยและเทคโนโลยี มุ่งยกระดับผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ให้ชุมชน
วช. ลงพื้นที่เกาะสมุย พร้อมนำงานวิจัยพัฒนาของฝากที่เป็นอัตลักษณ์ชุมชน และขับเคลื่อนต้นแบบ BCG Farming ด้วยวิจัยและเทคโนโลยี เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ให้ชุมชน
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำโดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย คณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ของฝากท้องถิ่นและรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการ เพื่อนำงานวิจัยมาช่วยแก้ไขปัญหา พร้อมพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของฝากท้องถิ่นให้มีคุณภาพและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นผ่านโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากอัตลักษณ์ชุมชนแบบมีส่วนร่วม เพื่อสร้างงานและรายได้ให้แก่ชุมชนชาวเกาะสมุย” ดำเนินการโดย รศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ แห่งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการนำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการ “ศูนย์ BCG ต้นแบบเพื่อการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน” พร้อม Kick off การดำเนินโครงการระยะที่ 2 โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานบริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ พร้อมด้วย ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย รศ.ดร.ณัฐวุฒิ ดุษฎี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นายสุธรรม สามทอง รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเกาะสมุย และคณะนักวิจัย ร่วมนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการฯ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดยเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2566 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม เสริมสร้างคุณภาพชีวิต รวมถึงการนำองค์ความรู้ไปต่อยอดสนับสนุนในภาคส่วนต่าง ๆ โดย วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่ รศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ แห่งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ ในการดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากอัตลักษณ์ชุมชนแบบมีส่วนร่วม เพื่อสร้างงานและรายได้ให้แก่ชุมชนชาวเกาะสมุย” ด้วยกรอบแนวคิดในการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างบูรณาการมาประยุกต์ใช้ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และผลิตผลในท้องถิ่นทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อการอุปโภคและบริโภค ควบคู่กับการออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นของชาวเกาะสมุย และตรงตามความต้องการของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ของฝากอัตลักษณ์ชุมชนแบบมีส่วนร่วม เพื่อสร้างงานและรายได้ให้แก่ชุมชนชาวเกาะสมุย และส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจสู่สากล
สำหรับผลิตภัณฑ์ของฝากอัตลักษณ์ชุมชนจากโครงการฯ ที่เยี่ยมชม ประกอบด้วย กาละแมที่มีการพัฒนาสูตรและบรรจุภัณฑ์ใหม่ให้มีการยืดอายุได้, ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะพร้าว อาทิ สบู่ ยาสระผม โลชั่นกันแดด, ผลิตภัณฑ์สกสมุนไพรท้องถิ่น ได้แก่ สบู่ ยาสระผม เจลล้างหน้า ยานวด และผลิตภัณฑ์จากใยกล้วย อาทิ กระเป๋าจากเชือกกล้วย กระเป๋าผ้ากล้วย สบู่กล้วย นอกจากนี้ การดำเนินโครงการวิจัยดังกล่าวยังก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ของฝากจาเกาะสมุยและผลิตผลท้องถิ่น รวมทั้งศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ของฝากอัตลักษณ์ชุมชน เพื่อเป็นต้นแบบแก่ชุมชนอื่น ๆ บริเวณใกล้เคียง และผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการนี้ทำให้ชุมชนชาวเกาะสมุยสามารถสร้างงานและสร้างรายได้ให้สามารถพึ่งตนเองได้ มีคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชนและสังคมต่อไป
ต่อมาวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ BCG Farming โดยมีวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ เป็นพื้นที่ต้นแบบนั้น ได้คณะนักวิจัยจาก วว. ดำเนินการ ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ระยะที่ 2 โดยนักศึกษาและคณาอาจารย์ของวิทยาลัยฯ ร่วมกับชุมชนโดยรอบพื้นที่ต้นแบบ ได้ร่วมกันทำการเกษตร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยใช้หลักการสอนทั้งเชิงวิชาการและฝึกฝนทักษะวิชาชีพ โดยได้รับเทคนิควิธีอย่างดียิ่งจากคณะนักวิจัย ทำให้คณาจารย์และเยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจและสามารถทำการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ร่วมกับการให้ความรู้ การขยายผลให้กับชุมชนโดยรอบพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ของวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ โครงการศูนย์ BCG Farming ได้ดำเนินโครงการตลอดห่วงโซ่ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ผ่านการขับเคลื่อนโดยชุมชนในท้องที่ สู่การสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง และยั่งยืนต่อไป
สำหรับเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ซึ่งเกาะสมุยมีพืชเศรษฐกิจหลักที่เป็นสัญลักษณ์ของเกาะ คือ มะพร้าว นอกจากนี้ ยังนำผลิตผลท้องถิ่นอื่น ๆ อาทิ กล้วย และสมุนไพร มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สำหรับจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติสำหรับสร้างรายได้ให้กับชุมชน ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ คณะนักวิจัยหวังที่จะนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาบูรณาการร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น แล้วถ่ายทอดความรู้ที่ได้ให้กับประชาชน ผู้ประกอบการ รวมถึงสถานศึกษา เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเกาะสมุย ทั้งในรูปแบบของฝากหรือของใช้ในชีวิตประจำวันให้มีอัตลักษณ์แบบมีส่วนร่วมกับชุมชน ซึ่งจะมีการจัดทำแผนการผลิต แผนธุรกิจ การสร้างแบรนด์ และการเชื่อมโยงกับตลาด โดยโครงการทั้งสองโครงการนี้ถือเป็นการสนับสนุนการสร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนชาวเกาะสมุยให้สามารถพึ่งตนเองได้ มีคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สังคมตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน