กระทรวงพาณิชย์ เร่งอบรมสร้างนักรบการค้า ส่งทัพเสริมแกร่ง Gen Z ทั่วไทย
กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าอบรมปั้นนักรบการค้า จัดทัพเสริมแกร่ง Gen Z ทั่วประเทศ
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบัน NEA (สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่) เดินหน้าปั้นนักรบทางการค้า ภายใต้โครงการ From Gen Z to be CEO ประจำปี 2566 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 จัดทัพหลักสูตรอบรมสร้างโอกาส Gen Z ทั่วประเทศสู่การเป็นผู้ประกอบการในอนาคต กระจายสู่มหาวิทยาลัยทุกภูมิภาคของไทย ดำเนินการจัดอบรมทั้งหมด 13 ครั้ง โดยดำเนินการอบรมไปแล้ว 7 ครั้ง ใน 18 มหาวิทยาลัย มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 8,600 คน
ทุกมหาวิทยาลัยต่างให้การส่งเสริมและความร่วมมืออย่างดียิ่ง เพื่อผลักดันให้นักศึกษาเข้าร่วมโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผลักดันโครงการและเอาใจใส่นักศึกษาอย่างต่อเนื่องจนทำให้นักศึกษาสามารถสอบได้คะแนนสูง ด้านมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติเพิ่งเข้าร่วมโครงการเป็นปีแรก สามารถผลักดันนักศึกษาเข้าร่วมโครงการได้เกินเป้าหมาย ในส่วนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จัดตั้งทุนสนับสนุนนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการอย่างล้นหลาม รวมถึงมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในปีนี้มีนักศึกษามีความกระตือรือร้นในระหว่างการอบรมอย่างดีมาก
อาจารย์ชนิตร์นันทน์ กุลทนันท์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า “มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเข้าร่วมโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และได้นำโครงการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในคณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการโลจิสติกส์ โดยบูรณาการหลักสูตรของโครงการเข้ากับวิชาเอกของสาขา ในวิชาด้านโลจิสติกส์ การนำเข้า ส่งออก การจัดการการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเห็นว่าโครงการ From Gen Z to be CEO เป็นอีกโครงการที่จะเข้ามาเสริมและต่อยอดความรู้การเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษารุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี มีเนื้อหานอกเหนือจากหลักสูตรหลัก เช่น Case study จากนักธุรกิจตัวจริง เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาที่มีเป้าหมายในการทำธุรกิจของตัวเองได้อย่างดีมากๆ โดยผลตอบรับเกินเป้าจากจำนวนที่เราได้ตั้งไว้ และได้เห็นความตั้งใจของนักศึกษาหลายๆ คน ซึ่งในอนาคตจะมีการขยายไปยังคณะอื่นๆ เช่น วิทยาลัยการจัดการ เพื่อเข้าร่วมโครงการนี้ด้วยค่ะ”
อาจารย์ปวีณา ธนะพงศ์เพชร หัวหน้าแผนกหลักสูตรและมาตรฐานการศึกษา สำนักพัฒนาวิชาการ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เผยว่า “มหาวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการเป็นปีแรก โดยท่านอธิการบดีเห็นประโยชน์ของโครงการนี้ ซึ่งตรงกับเป้าหมายของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ ในการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาได้คิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และต่อยอดเพื่อประกอบธุรกิจของตัวเองในอนาคต โดยนโยบายของมหาวิทยาลัยต้องการเปิดโอกาสให้แต่ละคณะเข้าร่วมโครงการนี้ และสามารถนำหลักสูตรอบรมของโครงการมาบูรณาการร่วมกับเนื้อหาของหลักสูตรหลักของคณะได้ด้วย เช่น สามารถนำคะแนนที่เข้าร่วมกิจกรรมไปเป็นคะแนนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งเชื่อว่า จากประสบการณ์ที่ได้รับจากปีแรก มหาวิทยาลัยจะนำไปพัฒนาให้การเข้าร่วมในครั้งต่อๆ ไป และจะผลักดันโครงการ From Gen Z to be CEO ต่อเนื่องอย่างเต็มที่”
อาจารย์สุดศิริ รุ่งเรือง ประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต เอกบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เผยว่า “มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเข้าร่วมโครงการมาแล้ว 3 ปี เพราะเล็งเห็นถึงประโยชน์ของโครงการที่ช่วยส่งเสริมทักษะศตวรรษที่ 21 ของเด็กในปัจจุบัน โดยเฉพาะความรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการ เศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งเป็นทักษะที่นักศึกษาควรมี และมหาวิทยาลัยควรสร้างให้นักศึกษาก่อนจบการศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยได้นำโครงการนี้ไปบรรจุในหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต เอกบริหารธุรกิจ ในรายวิชาที่มีเนื้อหาสอดคล้องกัน นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์ไปยังนักศึกษาในสาขาวิชาอื่นๆ ที่สนใจสามารถมาเข้าร่วมได้ตามความสมัครใจด้วย โดยตั้งเป้าหมายให้มีนักศึกษาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 100 คน มีการวางยุทธศาสตร์ของสาขาวิชาแบบต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถติด Top100 ให้ได้ตามเป้าหมาย ทั้งนี้ ในส่วนของปีหน้าคิดว่าจะวางแผนปรับให้นักศึกษาเข้าร่วมตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 และต่อเนื่องไปเมื่อขึ้นไปอยู่ชั้นปีที่ 3 และ 4 เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยผลพบว่า ในแต่ละปีสามารถทำได้ในระดับพึงพอใจ แม้จะยังไม่ถึงเป้าหมายแบบ 100% แต่ในด้านของความรู้ทักษะที่นักศึกษามีต่อการอบรม เราค่อนข้างพึงพอใจ เพราะทางมหาวิทยาลัยมองว่า การเรียนที่ตอบสนองกับปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ตัวเลขที่ต้องติด Top100 แต่นักศึกษาสามารถแสดงถึงทักษะต่างๆ ออกมาได้ ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านการสื่อสาร ความสามารถในการแสดงทัศนะ ซึ่งเชื่อว่าในปีต่อๆ ไป จะสามารถทำได้ถึงเป้าหมายแบบ 100%”
โครงการ From Gen Z to be CEO ประจำปี 2566 มีหน่วยงานและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการถึง 110 สถาบัน อบรมทั้งสิ้น 13 ครั้ง ระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2566 โดยตั้งเป้าจำนวนผู้เข้าร่วมอบรมทั้ง 13 ครั้ง ไม่ต่ำกว่า 10,000 คน และคาดว่าเมื่อจบโครงการจะมีจำนวนผู้เข้าร่วมอบรมเกินเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้