วช. เสริม สปร.ใช้นวัตกรรมบริหารจัดการแผงขายสินค้า ยกระดับการท่องเที่ยวฝั่งทะเลภาคตะวันออกชายหาดบางแสนชลบุรี
วช. หนุน สปร.นำนวัตกรรมมาใช้บริหารจัดการแผงขายสินค้า เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลภาคตะวันออกชายหาดบางแสนชลบุรี
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ |
นายธนัทเทพ จิระประวัติตระกูล นักวิจัยจากสถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) |
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้การสนับสนุนทีมวิจัยจากสถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) ในการนำนวัตกรรมและแอปพลิเคชัน มาใช้ในการบริหารจัดการแผงขายสินค้าขยายพื้นที่ชายหาดบางแสน จังหวัดชลบุรี เพื่อจัดระเบียบพัฒนาการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก สร้างเสริมรายได้เพิ่มให้กับร้านค้าบริเวณชายหาด และสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สามารถจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่มีคุณภาพราคาเป็นธรรม สนับสนุนการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และสามารถขยายผลต่อยอดโมเดลนี้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นกลไกสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนให้การสนับสนุนงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์คิดค้นหรือนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และสามารถถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้สู่ชุมชน รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวนับเป็นโอกาสสำคัญในการที่ทุกฝ่ายร่วมมือกัน เพราะนั่นหมายถึงการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและจังหวัดพื้นที่การท่องเที่ยวนั้น ๆ อย่างโครงการวิจัยของสถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) ที่ทีมวิจัยได้นำนวัตกรรมการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดการฉวยโอกาสหรือเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาและคุณภาพของสินค้า รวมถึงการให้บริการที่ดีกับนักท่องเที่ยวหรือแขกผู้มาเยือนและที่สำคัญสามารถขยายผลต่อยอดนำฐานข้อมูลจากแอปพลิเคชันขับเคลื่อนชุมชนด้วยข้อมูล (Data Driven Community) เพื่อบริหารจัดการปรับตัวทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น
นายธนัทเทพ จิระประวัติตระกูล นักวิจัยจากสถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาชายหาดบางแสนได้รับผลกระทบไม่มากนัก ในช่วงวันหยุดจะมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความไม่สะดวกต่อนักท่องเที่ยวในเรื่องต่าง ๆ เช่น การจอดรถ การจราจรติดขัด และการขายสินค้าเกินราคา ที่สำคัญประการหนึ่งคือการจัดการแผงขายสินค้าซึ่งมีประมาณ 1,800 ร้านค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ค้ามากกว่า 4,000 ราย และผู้เยี่ยมเยือนเทศบาลเมืองแสนสุขกว่า 2.8 ล้านรายต่อปี อุปสรรคที่เกิดขึ้น เช่น การชำระค่าธรรมเนียมการขายไม่ครบถ้วน การไม่มีระบบสืบค้นข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ทางทีมผู้วิจัยจึงเสนอการนำนวัตกรรมการจัดการแก่ผู้บริหารเทศบาลเมืองแสนสุข ให้มีการจัดการสมัยใหม่โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาประยุกต์ใช้ในรูปแบบแอปพลิเคชัน เพื่อลดขั้นตอนงานเอกสารและลดกระบวนการทำงาน ส่งผลให้ภาระงานของเจ้าหน้าที่เทศบาลลดลง การบริหารงานมีประสิทธิภาพ นักท่องเที่ยวสามารถให้คำแนะนำติชมร้านค้า เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยว และอำนวยความสะดวกแก่ทุกภาคส่วน ซึ่งการนำการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) เป็นการนำความคิดเห็นของทุกภาคส่วนเพื่อบูรณาการทำงาน ได้แก่ คณะผู้บริหารเทศบาลเมืองแสนสุข เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเทศบาลเมืองแสนสุข ผู้ขายสินค้า นักท่องเที่ยว และประชาชนโดยรอบ เพื่อนำไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะของเทศบาลเมืองแสนสุข การเพิ่มยอดขายและคุณภาพของผู้ขายสินค้า ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวและประชาชนโดยรอบ
นายธนัทเทพ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นผู้ขายสินค้าในระหว่างวันที่ 5 - 21 เมษายน 2566 พบว่าร้อยละ 80 ของผู้ขายสินค้ามีความพึงพอใจ และคิดว่าจะสามารถเพิ่มยอดขายจากการใช้งานของแอปพลิเคชันได้ร้อยละ 5-10 ในปีนี้ แต่ยังมีอุปสรรคในเรื่องการใช้งานของผู้ขายสินค้าที่สูงอายุที่ไม่คุ้ยเคยกับการใช้งานแอปพลิเคชัน ขณะเดียวกันจากการสอบถามความคิดเห็นของผู้เยี่ยมเยือนพบว่า สิ่งที่ประทับใจคือไม่เคยเห็นการนำงานวิจัยมาเป็นผลงานที่สามารถจับต้องได้ สามารถนำมาใช้ได้จริง เป็นประโยชน์ต่อนักท่องเที่ยวในด้านข้อมูลและการร้องเรียน เป็นแอปพลิเคชันสำหรับพื้นที่ค้าขายที่พบเห็นที่แรกของประเทศ ซึ่งทั้งหมดนำไปสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวของเทศบาลเมืองแสนสุข
สำหรับการต่อยอดของการวิจัยนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดตลาดที่บริหารโดยราชการส่วนท้องถิ่น เช่น ตลาดของเทศบาล หรือ ตลาดของ อบต. และการนำการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) ไปใช้แก้ปัญหาในท้องถิ่น โดยการมีส่วนร่วมซึ่งจะต้องรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน โดยนำทฤษฎีการจัดการมาแก้ไขปัญหา และมีข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าร่วมโดย ผศ.ดร.วรภัทร ไพรีเกรง ผู้อำนวยการหลักสูตรบัณฑิตศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า การมีแอปพลิเคชันที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เป็นแนวโน้มที่สำคัญสำหรับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวสำหรับชุมชม เพราะเป็นการให้ข้อมูลเชิงลึกมากกว่าการใช้เว็บไซต์ที่รวมการท่องเที่ยวของประเทศไว้ หรือสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากนี้ยังช่วยให้หาข้อมูลได้ง่ายขึ้นสำหรับผู้ใช้งาน ซึ่งในอนาคตการต่อยอดของแอปพลิเคชันนี้ อาจจะกลายเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยร่วมกับการจัดการข้อมูลของบางแสนสมาร์ทซิตี้ (Bangsaen Smart City) และขับเคลื่อนชุมชนด้วยข้อมูล (Data Driven Community) รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลไปยังผู้ที่อยู่อาศัย ร้านค้าในชุมชน เพื่อนำไปใช้สำหรับการตัดสินใจ การบริหารจัดการ และการปรับตัวทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวโดยตรงและรวดเร็ว