ADS


Breaking News

วช. ชู “อ่าวปัตตานี” ขับเคลื่อนเป็นโซนท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ตอบโจทย์เศรษฐกิจ BCG ต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก

วช. ยกระดับ “อ่าวปัตตานี” เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ตอบโจทย์เศรษฐกิจ BCG รองรับนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ
     สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่อ่าวปัตตานี จังหวัดปัตตานี นำโดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ คณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม และสื่อมวลชน เยี่ยมชมผลการดำเนินงานโครงการ “การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตฐานรากชุมชนชายฝั่ง โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย : กรณีศึกษาอ่าวปัตตานี จังหวัดปัตตานี” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย จาก วช. โดยมี นายมนูญ ศิริธรรม ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม  แห่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าโครงการวิจัย และคณะนักวิจัยให้การต้อนรับฯ ณ อ่าวปัตตานี ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
     ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม มุ่งสนับสนุนและขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ประเด็นสำคัญและเร่งด่วนของประเทศ ทั้งในมิติวิชาการ นโยบาย ชุมชนสังคม และพาณิชย์ ซึ่งในครั้งนี้ วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับ แผนงานวิจัย “การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตฐานรากชุมชนชายฝั่ง โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย : กรณีศึกษาอ่าวปัตตานี จังหวัดปัตตานี” เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและ ทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งในพื้นที่อ่าวปัตตานี ที่ส่งผลกระทบถึงรายได้ และการดำรงชีพทางด้านต่าง ๆ ของประชาชน
     รศ.ดร. ซุกรี หะยีสาแม กล่าวว่า อ่าวปัตตานี ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองปัตตานี และ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เป็นอ่าวที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นฐานการดำรงชีวิตที่มีความสำคัญของชุมชนชาวปัตตานีอย่างแท้จริง ในช่วงที่ผ่านมาอ่าวปัตตานีประสบกับภาวะเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและ ทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งในพื้นที่อ่าวปัตตานีอันเนื่องมาจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ขาดการควบคุม มีการ ขยายตัวของชุมชนเมือง เกษตรกรรม อุตสาหกรรม บนฝั่งแม่น้ำและบริเวณอ่าวปัตตานี การขยายตัวของพื้นที่นากุ้ง เป็นผลให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลน รวมถึงป่าต้นน้ำถูกบุกรุกแผ้วถางและบางแห่ง มีสภาพเสื่อมโทรม ส่งผลต่อความตื้นเขินของอ่าว การกัดเซาะชายฝั่ง คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม และที่สำคัญ มีการประมงเชิงพาณิชย์ที่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย ชาวประมงพื้นบ้านต้องสูญเสียแหล่งผลิตอาหารเพื่อยังชีพ มีการอพยพทิ้งถิ่นอาศัยเพื่อหางานทำในพื้นที่อื่น ทำให้ชาวบ้านประสบกับปัญหาความยากจนและเกิด ปัญหาด้านต่างๆ เป็นลูกโซ่ตามมา
     คณะนักวิจัย จึงดำเนินการระดมความคิดเห็น และเก็บข้อมูล ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และประสานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านการฟื้นฟูและปรับปรุงอ่าวปัตตานี สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและพื้นที่จังหวัดปัตตานี ดำเนินการร่างแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศอ่าวปัตตานี พ.ศ. 2558 – 2562 ขึ้น แต่การนำยุทธศาสตร์ดังกล่าวไปใช้ให้เป็นรูปธรรมในพื้นที่สามารถทำได้น้อย เพราะส่วนใหญ่การดำเนินงาน เป็นการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงาน จึงทำให้สภาพปัญหาสำคัญและแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมยังคงได้รับการแก้ไขปัญหาได้ไม่มากนัก และแทบจะไม่มีแนวทาง รูปแบบและวิธีการใหม่ที่เป็นแผนแม่บท เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพความเป็นอยู่ชุมชนโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคมจะยิ่งเกิดความเดือดร้อนและยากลำบาก และในอนาคตอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในประเทศได้
     จากปัญหาดังกล่าว ทำให้คณะนักวิจัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญจึงเริ่มศึกษาวิจัยจัดทำแผนแม่บทในลักษณะของการชี้แนวทางการแก้ไขปัญหาและสร้างโอกาสใหม่สำหรับชุมชนรอบอ่าวปัตตานีที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ใช้ทรัพยากรรอบอ่าวปัตตานีเป็นพื้นฐาน ในโครงการ “การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตฐานรากชุมชนชายฝั่ง โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย : กรณีศึกษาอ่าวปัตตานี จังหวัดปัตตานี” มีโครงการตามแผนการดำเนินงาน จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1) ข้อมูลพื้นฐานด้านลักษณะทางภูมิศาสตร์ สมุทรศาสตร์ ทรัพยากรชีวภาพที่สำคัญ ประเด็นข้อกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้อง และรูปแบบการใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ ของอ่าวปัตตานี มีความจำเป็นต่อการกำหนดแผนแม่บทการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตฐานรากชุมชนชายฝั่งรอบอ่าวปัตตานี 2) การพัฒนาต้นแบบในการยกระดับการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอ่าวปัตตานีด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตฐานรากชุมชนชายฝั่ง เช่น ด้านการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การท่องเที่ยว และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จการพัฒนาแผนแม่บทและการนำไปประยุกต์ใช้และ 3) การจัดทำแม่บทการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตฐานรากชุมชนชายฝั่งรอบอ่าวปัตตานีที่จัดทำขึ้น เพื่อจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการอ่าวปัตตานีเพื่อใช้ประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตฐานรากชุมชนชายฝั่งรอบอ่าวปัตตานี
     การลงพื้นที่เยี่ยมชม และติดตามโครงการวิจัยในครั้งนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ได้เยี่ยมชมบริเวณปากอ่าวปัตตานี ณ ท่าเทียบเรือประมงน้ำลึกปัตตานี โดยมี ตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบลบานา จังหวัดปัตตานี เป็นผู้บรรยายถึงสภาพปัจจุบันและปัญหาที่เกิดขึ้นในอ่าวปัตตานี จากนั้นได้เดินทางไปยังพื้นที่นาเกลือหวานปัตตานี เพื่อเยี่ยมชมการสาธิตการทำนาเกลือหวาน และในช่วงบ่าย ได้เดินทางไปยังสะพานไม้บานา เพื่อพบปะและพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักวิจัย ตัวแทนกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน ตัวแทนกลุ่มท่องเที่ยวชุมชน กลุ่มเพาะสัตว์น้ำ เพื่อสะท้อนประเด็นปัญหา และการดำเนินงานของชุมชนที่ผ่านมา 
     ทั้งนี้ อ่าวปัตตานี ถือว่าเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชาวปัตตานี ที่มีคุณค่าและมีเอกลักษณ์เฉพาะในเชิงความหลากหลายทางชีวภาพและอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพสูงมาก จึงทำให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจสำคัญของชุมชนรอบอ่าวและอุตสาหกรรมประมงจังหวัดปัตตานี อีกด้วย