ADS


Breaking News

World Kidney Day 2023 วันไตโลก จัดใหญ่! ชู “ตระหนักภัย ใส่ใจไต ป้องกันไว้ เน้นกลุ่มเสี่ยง”(Kidney Health For All- preparing for the unexpected, supporting the vulnerable)

งานกิจกรรม “วันไตโลก”(World Kidney Day 2023) ภายใต้คำขวัญ “Kidney Health For All- preparing for the unexpected, supporting the vulnerable” หรือ “ตระหนักภัย ใส่ใจไต ป้องกันไว้ เน้นกลุ่มเสี่ยง”
นพ.พิเชษฐ พัวพันกิจเจริญ : ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระจอมเกล้าผู้แทนจาก กระทรวงสาธารณสุข 
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี: เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นพ.วุฒิเดช โอภาศเจริญสุข : นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย
พญ.สุขฤทัย เลขยานนท์ : อายุรแพทย์โรคไตผู้แทนจาก มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย
พว.สุชาดา บุญแก้ว : นายกสมาคมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย
คุณธนพลธ์ ดอกแก้ว : นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย
     ทาง สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย, สมาคมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย, สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะจัดกิจกรรมวันไตโลก(World Kidney Day 2023) “Kidney Health For All- preparing for the unexpected, supporting the vulnerable” ภายใต้คำขวัญ “ตระหนักภัย ใส่ใจไต ป้องกันไว้ เน้นกลุ่มเสี่ยง” ซึ่งเน้น การตระหนักถึงผลกระทบของภัยพิบัติ ทั้งจากธรรมชาติ (เช่น สถานการณ์ COVID อุทกภัย) และจากน้ำมือมนุษย์ ทั้งภายใน และภายนอกประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการบริการ วินิจฉัย และการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไต โดยการจัดกิจกรรมนี้เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวในการดูแลรักษาสุขภาพเพื่อป้องกันการเกิดโรคไตเพิ่มมากขึ้น

     นพ.พิเชษฐ พัวพันกิจเจริญ : ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระจอมเกล้าผู้แทนจาก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาของผู้ป่วยโรคไตในประเทศไทย เป็นปัญหาที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าโรคอื่นๆ คนไทยมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากโรคเบาหวาน และโรคความดันสูง ผลที่ตามมาคือภาวะไตเสื่อม และไตจะเสื่อมเร็วขึ้นหากปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง เนื่องจากพฤติกรรมการรับประทานที่เปลี่ยนไป ทำให้พบโรคไตในเด็กด้วย สาเหตุหนึ่งคือการรับประทานอาหารเค็ม ฟาสต์ฟูด ขนมขบเคี้ยว โดยเฉพาะอาหารที่กำลังเป็นที่นิยม   เนื้อหมักในซอสปรุงรส เกลือ ผงหมัก รวมน้ำจิ้มแล้ว โดยรวมความเค็มมากกว่าอาหารปกติถึง 5 - 10 เท่า ดังนั้นจึงอยากให้ประชาชนหันมาใส่ใจด้านการบริโภคอาหาร เพื่อช่วยให้มีสุขภาพที่ดี และเป็นการช่วยลดจำนวนผู้ป่วยจากโรคต่างๆ ได้อีกมาก

     นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การส่งเสริมและการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตในแต่ละปี ได้จัดงบประมาณหลายล้านบาท โดยเน้นส่งเสริมป้องกันดูแลแบบครบวงจร นอกเหนือจากงบประมาณการล้างไตผ่านช่องท้อง การฟอกเลือด และการปลูกถ่ายไต ซึ่งผลการทำงานในแต่ละปี จะมีจำนวนผู้ป่วยที่สูงเกินกว่าเป้าหมายเพิ่มขึ้นทุกปี สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมากขึ้น  สปสช. จึงได้เน้นส่งเสริมการป้องกันควบคู่การดูแลรักษา โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไม่ให้ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังเพิ่ม ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง ได้ให้สิทธิประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายครบวงจร รวมถึงสิทธิของผู้ประกันตนตามมาตรา 40  ของสำนักงานประกันสังคมด้วย เพื่อให้เข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพ และ ได้มาตรฐาน  ครอบคลุมการบำบัดทดแทนไต ได้แก่ การผ่าตัดปลูกถ่ายไตการล้างไตผ่านทางช้องท้องอย่างต่อเนื่อง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม รวมถึงการให้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด
     นอกจากการรักษาพยาบาลแล้ว สปสช. ได้ส่งเสริมให้มีเครือข่ายผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในโรงพยาบาล ปัจจุบันมีสมาคมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย และสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมกันพัฒนาเครือข่ายผู้ป่วยให้เข้มแข็ง ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคไตเข้าถึงการรักษา มีความรู้ความมั่นใจในการดูแลตนเองตามมาตรฐาน สร้างความสัมพันธ์อันดี ระหว่าง แพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย และครอบครัว ทำให้เข้าใจสิทธิการรักษา ลดปัญหาความขัดแย้ง และเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการได้อีกทางด้วย รวมถึงการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เพื่อไม่ให้ป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญของการเป็นโรคไตวาย หากป้องกันไตวายจะช่วยชะลอไตเสื่อมก่อนเวลาได้ และสนับสนุนให้มีการคลินิกเฉพาะในโรงพยาบาลอีกด้วย

    นพ.วุฒิเดช โอภาศเจริญสุข : นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้โรคไต ด้านการป้องกันและรักษาให้แก่ประชาชน และ มีบทบาทในการกำหนดทิศทาง นโยบายสาธารณสุขด้านโรคไตของประเทศ โดยทำงานประสานกับ กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ในการป้องกัน ดูแลรักษาด้านโรคไต  ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
     การจัดกิจกรรมวันไตโลก(World Kidney Day 2023) “Kidney Health For All- preparing for the unexpected, supporting the vulnerable” ภายใต้คำขวัญ “ตระหนักภัย ใส่ใจไต ป้องกันไว้ เน้นกลุ่มเสี่ยง” ในวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2566 ณ บริเวณ ชั้น 1 โซน Central Court Zone C (ใกล้ลิฟต์แก้ว) ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยในงานมีกิจกรรมต่างๆ มากมายอาทิ การตรวจสุขภาพโรคไต ฟรี สำหรับประชาชน โดยได้เตรียมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไตมาให้คำปรึกษากับประชาชน เพื่อที่ประชาชนไม่ต้องเสียเวลาไปโรงพยาบาลตรวจ ซึ่งการตรวจจะเป็นการตรวจคัดกรองโรคไต ได้แก่ การตรวจค่าการทำงานของไตจากการเจาะเลือด หรือการตรวจปัสสาวะ ดูปริมาณโปรตีนที่รั่วในปัสสาวะ ภายในงานยังมีนิทรรศการให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพไต งานแสดงผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ การสาธิตการออกกำลังกายจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง การสาธิตการทำอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคไตโดยเชฟชื่อดัง และรายการบนเวทีที่ให้ทั้งความรู้และความบันเทิงจาก ดารา ศิลปินที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย และเป็นปีแรกที่ทางสมาคมฯได้จัดให้มีการประกวดหนุ่มสาวสุขภาพไตดี นอกจากนียังจัดทำเสื้อกิจกรรมวันไตโลก จำหน่ายในราคาตัวละ 299 บาท และขอเชิญชวนร่วมกิจกรรม “Kidney Health For All Fun Run วิ่งเพื่อสุขภาพเนื่องในวันไตโลก” ในวันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2566  เวลา 05:30 - 08:30 น. ณ สวนสาธารณะ เบญจกิติ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ ค่าสมัคร 500 บาท โดยสิทธิประโยชน์ผู้สมัครจะได้รับเสื้อวิ่ง และเหรียญรางวัลเป็นที่ระลึกด้วย รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเพื่อสมทบทุนในการจัดกิจกรรมครั้งต่อไปอันจะส่งผลให้คนไทยมีสุขภาพดีถ้วนหน้า โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่ 02-718 1898 หรือ เว็บไซต์ www.nephrothai.org

     พญ.สุขฤทัย เลขยานนท์ : อายุรแพทย์โรคไตผู้แทนจาก มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย  ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นองค์ประธานก่อตั้ง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน   
     มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตและทางเดินปัสสาวะที่ยากไร้  โดยช่วย “ต่อชีวิต” ผู้ป่วยตามโครงการหน่วยไตเทียมทั่วประเทศ และช่วย “ชุบชีวิต” ผู้ป่วยด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายไต, สนับสนุนจัดประชุมวิชาการ ทุนวิจัย, ทุนแพทย์ศึกษาในประเทศ และทุนแพทย์ศึกษาต่อต่างประเทศ และให้ทุนฝึกอบรมพยาบาลไตเทียม นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนเป็นค่ายาและค่ารักษาผู้ป่วย,สนับสนุนเครื่องไตเทียม ระบบน้ำ และเครื่องมือทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ อีกด้วย
     ในการนี้ มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย รู้สึกสำนึกในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่มีต่อมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย และผู้ป่วยโรคไตและทางเดินปัสสาวะที่ยากไร้ทั่วประเทศเป็นล้นพ้น  ได้จัดตั้ง “โครงการปลูกถ่ายไตถวายเป้นพระราชกุศล 100 ปี ประสูติ สมเด็จพระเจ้านางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงขอเรียนเชิญท่านผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์ และขอเชิญชวนบริจาคอวัยวะเพื่อต่อชีวิตผู้ป่วย ถวายเป็นพระราชกุศลร่วมกันสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-419-7187 www.kidneythai.org

     พว.สุชาดา บุญแก้ว : นายกสมาคมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นมาด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของพยาบาลวิชาชีพโรคไต ทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาวิชาการ และองค์ความรู้ด้านการพยาบาลโรคไต พัฒนาบุคลากรด้านการพยาบาลโรคไต ให้บริการวิชาการด้านการพยาบาลโรคไตแก่ประชาชน
     ในนามของ สมาคมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการบริหารสมาคม มีความเชื่อมั่นว่าสมาคมจะเป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลโรคไตในประเทศไทย สร้างการยอมรับในสังคมในการส่งเสริม รักษาจรรยาบรรณ และเชิดชูเกียรติวิชาชีพของพยาบาลโรคไต ให้คำปรึกษา และข้อเสนอแนะ ในด้านการส่งเสริมการศึกษา การบริการ การวิจัยด้านการพยาบาลโรคไต นำเสนอความก้าวหน้าของสมาชิกต่อรัฐบาล ท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และองค์กรวิชาชีพ รวมถึงการให้ความรู้ด้านการป้องกันโรคไต และการบำบัดทดแทนไตแก่ประชาชน ประสานงานในด้านการดูแลรักษาพยาบาล และพัฒนาระบบงานที่มีความต่อเนื่องในบุคคล ครอบครัว ชุมชน ร่วมมือกับองค์กรการกุศล เพื่อการกุศล และสาธารณประโยชน์​  

     คุณธนพลธ์ ดอกแก้ว : นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่ผู้ป่วยอาจมีอาการแย่ลงได้ทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว ผู้ป่วยหลายรายทราบว่าตนเองเป็นโรคไตก็ต่อเมื่อมีอาการแย่แล้ว ดังนั้น การระมัดระวังในการใช้ชีวิต การเรียนรู้เรื่องของความเสี่ยงต่างๆ ของโรคไต โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกินหมั่นสังเกตตนเอง และการเข้ารับการคัดกรองโรคไตเพื่อให้ได้เข้ารับการรักษาที่ทันถ่วงทีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในแต่ละปียังมีผู้ป่วยที่รอรับบริจาคไตอีกเป็นจำนวนมาก ปัญหาของผู้ป่วย คือ การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมกับสุขภาพ การบริโภคอาหารรสชาติเค็มเกินความพอดี  ทำให้ผู้บริโภคเกิดปัญหาทางสุขภาพตามมา อาทิ โรคความดันโลหิตสูง  โรคหัวใจ  โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรังทั้งที่ยังไม่วาย และโรคไตที่วายแล้วต้องการการฟอกเลือด
     ทาง สมาคมเพื่อนโรคไตฯ ได้สนับสนุน การรณรงค์ลดการบริโภคเค็มมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเด็นความเข้าใจผิดอย่างเรื่องเกี่ยวกับการบริจาคไต เพื่อให้ผู้ป่วยแล้ว ผู้บริจาคจะมีปัญหาสุขภาพอ่อนแอตามมา ซึ่งจากการวิจัยที่ผ่านมาของ American Medical Association ระบุว่าผู้บริจาคไตอาจมีอายุยืนพอๆ กัน หรือ มากกว่าคนที่มีไตครบทั้งสองข้างเสียอีก โดยที่ภายใน 12 ปีหลังการบริจาค กลุ่มที่บริจาคไตจะมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าคนที่มีไตครบทั้งสองข้างอย่างเห็นได้ชัด  สำหรับในประเทศไทยมีผู้บริจาคไตประมาณ 300 รายต่อปี ซึ่งหมายความว่าในกลุ่มผู้รอบริจาคไตหนึ่งล้านคน จะมีผู้บริจาคเพียง 4.5 คนเท่านั้น สุดท้ายนี้ ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจจะบริจาคอวัยวะสามารถศึกษาข้อมูลได้ที่ศูนย์บริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย หรือ www.organdonate.in.th หรือ สายด่วน 1666