งานเฉลิมพระเกียรติ ๗๐ พรรษา

Breaking News

วช. ประเดิม! หัวข้อ “จัดการทรัพย์สินทางปัญญายังไง? ให้สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมไทยบุกตลาดโลก” เวที Highlight Stage ในงานวันนักประดิษฐ์แห่งชาติ 2566 สุดพีค!

     วช. ประเดิมเวทีเสวนา Highlight Stage ในงานวันนักประดิษฐ์แห่งชาติ 2566 Thailand Inventer's Day 2023 วันแรก ด้วยหัวข้อสุดฮอต “จัดการทรัพย์สินทางปัญญายังไง? ให้สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมไทยบุกตลาดโลก” โดยได้นักพูดที่เชี่ยวชาญชั้นแนวหน้าของวงการทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และ ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเวทีเสวนา 
       นายวุฒิไกร ลีวีระพันธ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่าทรัพย์สินทางปัญญาคือความคิดสร้างสรรค์ที่ทำให้เกิดมูลค่าแบ่งเป็น 3 อย่างคือ เครื่องหมายการค้าหรือโลโก้ ลิขสิทธิ์ ซึ่งมักอยู่ในรูปของเพลง ภาพยนตร์ งานศิลปะ ภาพวาด และการถ่ายทอด สุดท้ายคือสิทธิบัตรซึ่งมีความสำคัญมากเป็นการจดทะเบียนผลงานการประดิษฐ์คิดค้นที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น กังหันน้ำ  ชัยพัฒนาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและทรงเป็นเจ้าของสิทธิบัตรผลงานดังกล่าว ในขณะที่ประเทศไทยเพิ่งมาสนใจเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาทำให้ช่วง30-40ปีที่ผ่านมา เมื่อมองย้อนไป แม้จะเป็นประเทศที่มีจีดีพีและการส่งออกที่เพิ่มขึ้น แต่เรากลับไม่สามารถก้าวข้ามกับดักการเป็นประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้เลย โดยธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟพูดตรงกันว่าประเทศไทยขาดทรัพย์สินทางปัญญา องค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ดังนั้นปัจจัยสำคัญคือ ประเทศไทยจะต้องมีองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและการไม่ละเมิดควรจะถูกบรรจุในหลักสูตรตั้งแต่เด็ก จนถึงมหาวิทยาลัยในคณะต่างๆ เหมือนประเทศที่เจริญแล้ว ที่จะไม่ใช้ของละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ในส่วนของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างความสะดวกแก่ผู้ยื่นข้อมูลขอจดทะเบียนรูปแบบต่างๆทางออนไลน์รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลให้ตรวจสอบว่าสิ่งประดิษฐ์คิดค้นใดมีการจดทะเบียนแล้วหรือไม่ ทั้งนี้ตัวอย่างของสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่น่าจะเป็นกรณีศึกษาได้อย่างน่าสนใจคือ ตู้เต่าบิน ซึ่งนอกจากจะมีจุดเด่นในตัวสินค้าที่เป็นจุดขายสำคัญแล้วยังเป็นประดิษฐกรรมที่มีการจดลิขสิทธิ์นับตั้งแต่ซอฟแวร์ การออกแบบ การประดิษฐ์รวมแล้วไม่ต่ำกว่า20-30 ใบ ซึ่งทำให้เป็นเสมือนมีทั้งโล่และอาวุธเมื่อต้องออกไปต่างประเทศ ป้องกันการนำไปลอกเลียนแบบได้เป็นอย่างดี จึงอยากจะยืนยันว่าถ้าเราอยากจะก้าวข้ามประเทศรายได้ปานกลางไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วจำเป็นจะต้องมีองค์ความรู้ มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมและนำมาสนับสนุนในการพัฒนาประเทศ
    ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ นักวิจัยจากสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ กล่าวว่า ในฐานะเป็นอาจารย์ เป็นนักวิจัยและนักประดิษฐ์ ผลิตผลงานทั้งเป็นผลงานทางวิชาการซึ่งมีการตีพิมพ์เพื่อสร้างองค์ความรู้ แต่ผลงานอีกส่วนสามารถนำไปทำเป็นเชิงพาณิชย์ได้ด้วย เป็นเรื่องของอนุภาคนาโนที่มีคุณสมบัติพิเศษ ซึ่งเมื่อ20ปีที่แล้ว รู้จักกันแพร่หลายจากการทำผงซักฟอกเปาซิลเวอร์นาโน เป็นผลงานที่นำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ และยังมี รถพยาบาลนาโน ล่าสุดบริษัทโนวาเทคได้ขอให้พัฒนาผ้าพันแผลฆ่าเชื้อนาโนใช้สำหรับคนเป็นโรคเบาหวาน  หรือได้รับบาดแผลจากสุนัขกัด เป็นผ้าพันแผลสีฟ้าต่างจากท้องตลาดทั่วไป และสามารถช่วยผู้สูงวัยที่ป่วยเป็นเบาหวานทำให้ไม่ต้องตัดขาตัดแขนจากบาดแผล บริษัทนี้ทำธุรกิจในประเทศไทย เมื่อต้องการขยายตลาดออกไปภายนอกจะต้องไปจดสิทธิบัตรไว้เพิ่อไม่ให้ถูกละเมิด นี่คือเหตุผลสำคัญของการจดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบตามมาทำให้มีเกราะป้องกันผลงานของเรา ในฐานะนักวิชาการเราสามารถสนับสนุนธุรกิจของคนไทยให้เติบโตด้วยการเพิ่มนวัตกรรมให้กับสินค้าได้ ขณะเดียวกันนักวิชาการก็สามารถแบ่งการให้องค์ความรู้ไปจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเป็นค่าตอบแทนสติปัญญาของเราได้ เพราะทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นสมบัติที่เราทำมา ยิ่งมีคนอยากได้มากราคาก็จะแพงขึ้น  นักวิจัยจึงมีโอกาสรวยได้จากทรัพย์สินทางปัญญาที่มีคนต้องการมาก ยืนยันได้ว่าทรัพย์สินทางปัญญาทำให้นักวิชาการสร้างมูลค่าไ้ด้  เป็นทรัพย์สินติดตัวตลอดไป
     งานวันนักประดิษฐ์ 2566 จัดโดย วช ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรด้านการวิจัยและการประดิษฐคิดค้นนานาชาติ ภายใต้แนวคิด ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ระหว่างวันที่2-6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา09.00 -17.00 ณ อีเว้นท์ ฮอลล์100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา หรือสามารถชมงานผ่านระบบออนไลน์ ได้ที่ http://inventorsdayregis.com