ADS


Breaking News

วช.ชู BCG Model ขับเคลื่อนศักยภาพชุมชนเกาะสมุย นำ มทร.กรุงเทพ และ วว. ปั้นต้นแบบ BCG Farming สร้างชุมชนพึ่งพาตนเองด้วยวิจัยและนวัตกรรม

วช. นำ BCG Model ยกระดับศักยภาพชุมชนเกาะสมุย สนับสนุน มทร.กรุงเทพ และ วว. พัฒนาต้นแบบ BCG Farming สร้างชุมชนพึ่งพาตนเองด้วยวิจัยและนวัตกรรม
     สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่เกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี เมื่อวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ 2566  เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน การยกระดับศักยภาพชุมชมเกาะสมุยด้วยวิจัยและนวัตกรรม โดยสนับสนุนการนำ BCG Economy Model เป็นทิศทางสำคัญในการสร้าง BCG Farming ให้พื้นที่ต้นแบบการพัฒนาภายใต้โครงการ
-“การพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาน้ำจืดเพื่อการส่งเสริมเศรษฐกิจและสร้างอาชีพผ่านกระบวนการผลิตกุนเชียงปลาดุกไขมันต่ำในบรรจุภัณฑ์แบบสุญญากาศ” ดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ และ
-“ศูนย์ BCG ต้นแบบเพื่อการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน” ดำเนินโครงการโดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  
     ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการข้างต้น มีเป้าหมายในสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนต้นแบบ BCG Farming ในเกาะสมุย โดยบูรณาการงานวิจัยและนวัตกรรมในหลายมิติ ได้แก่ 
-การใช้ชุดความรู้ เทคโนโลยี กระบวนการ เทคนิควิธี เพื่อพัฒนาผลผลิตและผลิตภัณฑ์ 
-การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนต้นแบบ 
-การพัฒนาคู่มือการเรียนรู้ การถ่ายทอดและการอบรม
-การสร้างโอกาสทางการตลาด 
โดยการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบดังกล่าว ให้เกิดห่วงโซ่การผลิตแบบครบวงจร เพื่อทำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ มีผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ ใช้โอกาสจากศักยภาพของพื้นที่เกาะสมุยที่เป็นเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศและมีความต้องการผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมาก ในการใช้โอกาสจากพื้นที่ต้นแบบ BCG Farming ในเกาะสมุย สร้างผลผลิตและผลิตภัณฑ์เสริมความต้องการดังกล่าว จากสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้เป็นรูปแบบของการขยายผลพื้นที่ต่อไปในอนาคต
     ในการนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานกรรมการบริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนวิทย์ ลายิ้ม คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ, ดร.ศุภวัฒน์ ชูวารี ผู้ช่วยคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ , ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และคณะนักวิจัย ได้ร่วมกันนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการ BCG Farming ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี
     นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานกรรมการบริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ BCG Farming โดยมีวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ เป็นพื้นที่ต้นแบบ ได้ใช้หลักการพัฒนาคนตามวิถีพุทธ และยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งคณะนักศึกษาและคณาอาจารย์ ร่วมกับชุมชนโดยรอบพื้นที่ต้นแบบ ได้ร่วมกันทำการเกษตร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยใช้หลักการสอนทั้งเชิงวิชาการและฝึกฝนทักษะวิชาชีพ โดยได้รับเทคนิควิธีอย่างดียิ่งจากทีมนักวิจัย ทำให้คณาจารย์และเยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจและสามารถทำการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ร่วมกับการให้ความรู้ การขยายผลให้กับชุมชนโดยรอบพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ของวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนวิทย์ ลายิ้ม กล่าวว่า ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ได้เติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของอาหารกลายเป็นส่วนหนึ่งของความนิยมในการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ หลายพื้นที่นำอาหารประจำถิ่นมาเป็นแรงจูงใจดึงดูดนักท่องเที่ยว ด้วยหน้าตา รสชาติ วัตถุดิบ ที่มีความแปลกใหม่เพื่อสร้างความโดดเด่น ในประเด็นนี้ มทร.กรุงเทพ จึงใช้การวิจัยและพัฒนาเปลี่ยนเมนูอาหารพื้นบ้าน เป็นอาหารเมนูพรีเมียม จากวัตถุดิบการเกษตรที่มีในศูนย์การเรียนรู้ โดยในครั้งนี้ได้ผลผลิตทางการเกษตร จากพื้นที่ต้นแบบและศูนย์การเรียนรู้ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ มารังสรรค์เมนูเพื่อสร้างมูลค่าและโอกาส สำหรับให้สถานประกอบการได้ใช้เป็นต้นแบบในซื้อผลผลิตจากชุมชน ไปแปรรูปเพื่อการจำหน่าย
     ดร.ศุภวัฒน์ ชูวารี หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า โครงวิจัยนี้ได้เพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์จากทรัพยากร พื้นที่ต้นแบบและศูนย์การเรียนรู้ ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการตลาดและผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ถือเป็นการมุ่งยกระดับกลุ่มเกษตรกรโดยรอบพื้นที่ ให้สามารถแปรรูปผลผลิตจากองค์ความรู้ในการวิจัย ช่วยเพิ่มมูลค่าและเชื่อมโยงตั้งแต่กระบวนการผลิต การจำหน่าย การแปรรูปอย่างครบวงจร 
     ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ กล่าวว่า โครงการศูนย์ BCG Farming ได้ดำเนินโครงการตลอดห่วงโซ่ ทั้งต้นน้ำคือ เกษตรกรรม กลางน้ำคือ การแปรรูปอาหาร การแปรรูปเครื่องสำอาง ปลายน้ำคือ บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ บนฐานทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น ผ่านการขับเคลื่อนโดยชุมชนในท้องที่ สู่การสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง และยั่งยืน 
     จากความก้าวหน้าของโครงการในการนำ BCG Model มาพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ BCG Farming และศูนย์การเรียนรู้ ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ พร้อมกับการทำงานร่วมกับชุมชนภาคการเกษตรของพื้นที่โดยรอบในเกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี ได้เริ่มเห็นผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปธรรม ในการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้โดยใช้งานวิจัยและนวัตกรรมในการสนับสนุนและส่งเสริมเพื่อความเข้มแข็งและยั่งยืน