ADS


Breaking News

วช. ส่ง มทร.กรุงเทพ เสริมต่อยอดพัฒนาปลาน้ำจืด แปรรูป เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ ให้เกษตรกรบนเกาะสมุย

วช. หนุน มทร.กรุงเทพ ต่อยอดพัฒนาปลาน้ำจืด แปรรูป เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ ให้เกษตรกรบนเกาะสมุย
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมคณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ลงพื้นที่เยี่ยมชมความสำเร็จการดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาน้ำจืดเพื่อการส่งเสริมเศรษฐกิจและสร้างอาชีพผ่านกระบวนการผลิตกุนเชียงปลาดุกไขมันต่ำในบรรจุภัณฑ์แบบสุญญากาศ โดยมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานกรรมการบริหารวิทยาลัย พร้อมด้วยดร.ศุภวัฒน์ ชูวารี ผู้ช่วยคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ หัวหน้าโครงการฯ และคณะนักวิจัยให้การต้อนรับฯ ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี 
     ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ศึกษาการพัฒนาผลิตภัณฑ์กุนเชียงปลาดุกไร้มันโดยการใช้ข้าวไรซ์เบอรี่และคีนัวที่ผ่านกระบวนการเอ็กซ์ทรูชั่นทดแทนไขมันเพื่อลดปริมาณไขมัน รวมทั้งใช้วิธีการบรรจุแบบสุญญากาศเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาของกุนเชียงปลาดุก เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) จากทรัพยากรภายในอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ จังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งเป็นการส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ถือเป็นการมุ่งยกระดับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุกให้สามารถแปรรูปผลผลิตจากองค์ความรู้ในการวิจัย ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าและเชื่อมโยงตั้งแต่กระบวนการผลิต การจำหน่าย การแปรรูปอย่างครบวงจร จนเป็นผลสำเร็จในการลดปัญหาสินค้าราคาตกต่ำ
     นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กล่าวว่า ประเทศไทยจะอยู่รอดได้ถ้านำองค์ความรู้ นำงานวิจัย นำนวัตกรรมในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในหน่วยงานของ อว. ที่ศึกษาไว้ เข้ามาช่วยชาวบ้าน ยกตัวอย่าง รองศาสตราจารย์ ดร.ธนาทิพย์ แหลมคม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทำการศึกษาวิจัยการเลี้ยงปลาแบบไม่มีพยาธิ เพื่อให้คนไทยไม่เป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ ดังนั้นจึงได้ลองมาทำดู ซึ่งก็ได้ผลเป็นอย่างดี สามารถนำไปหยิบยื่นให้ครอบครัวของเกษตรกรทั่วประเทศได้ ส่วนเรื่องการเลี้ยงปลาดุกในวิทยาลัย นักเรียนเป็นคนเลี้ยง กับอาจารย์ ซึ่งได้นำองค์ความรู้ของ รองศาตราจารย์ ดร.ธนาทิพย์  แหลมคม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มาให้นักเรียน และอาจารย์ได้ศึกษา และปฏิบัติตามจนเห็นผลดี เพียงแต่ตอนนี้นำไปศึกษาว่าต้นทุนที่ใช้เท่าไร อัตราการเจริญเติบโตโอกาสรอดเท่าไร
     ดร.ศุภวัฒน์ ชูวารี ผู้ช่วยคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กล่าวว่า การประกอบอาชีพประมงบนเกาะสมุยเกือบทั้งหมดเป็นประมงชายฝั่งขนาดเล็ก โดยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมงน้ำเค็มบริเวณชายฝั่ง และมีส่วนน้อยที่ประกอบอาชีพประมงน้ำจืด ผลิตผลที่ได้ส่วนใหญ่ใช้บริโภคในครอบครอบครัว ร้อยละ 30% ที่เหลือ 70% นำไปจำหน่ายในตลาดและร้านอาหาร แต่ผลผลิตดังกล่าวไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากใน 1 ปี สามารถทำประมงได้ 4-5 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีมรสุม และปัญหาการขาดความอุดมสมบูรณ์ของปะการัง ทำให้ปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำเค็มลดลงทุกปี จึงต้องมีการนำเข้าสัตว์น้ำเข้ามาจากที่อื่น ๆ เช่น ปลาดุกบิ๊กอุย ปลาทับทิม ปลานิลจิตรลดา ปลากระพง ด้วยเหตุนี้ คณะผู้วิจัยจึงลงพื้นที่ไปส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่มีการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดเพื่อทดแทนทรัพยากรที่มีข้อจำกัด รวมไปถึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดการสร้างรายได้ ผ่านการนำความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาบูรณาการร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในพื้นที่สามารถยกระดับสินค้าให้เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชนและเป็นการเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งคณะนักวิจัยจะมุ่งเน้นการพัฒนางานใน 3 ด้าน ดังนี้ 1. การพัฒนาสัมมนาชีพใหม่ (ยกระดับสินค้า OTOP) 2. การนำความรู้ไปช่วยบริการชุมชน (Health Care) และ 3. การส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม (Cirular Economy) การเพิ่มรายได้หมุนเวียนให้แก่ชุมชน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปปลาดุกอุย ได้แก่ ไส้กรอกปลา ปลายอ กุนเชียงปลา ไส้อั่วปลา และลูกชิ้นปลา ฯลฯ
     โครงการวิจัยเป็นผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ คณะผู้บริหาร และคณะผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมด้วยสื่อมวลชน ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะผู้ทรงคุณวุฒิ และเพื่อให้สื่อมวลชนได้ทราบถึงผลสำเร็จของงานวิจัยดังกล่าว และได้พบปะกับนักวิจัย โดยเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานวิจัยและกิจกรรมของ วช. ไปสู่สาธารณชนและผู้ใช้ประโยชน์ต่อไป