วช.ส่งนวัตกรไทยรางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก เสริมแรงบันดาลใจให้เยาวชนที่งาน “วันนักประดิษฐ์ 66” สร้างเส้นทางสู่นักวิจัยในเวทีระดับโลก พร้อมเคล็ดลับสร้างนวัตกรรมโดนใจ ตอบโจทย์การใช้งานจริง
วช.ดึงนวัตกรไทยรางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” เผยเส้นทางสู่นักวิจัยในเวทีระดับโลก พร้อมเทคนิคสร้างนวัตกรรมโดนใจ ตอบโจทย์การใช้งานจริง
วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2566) ในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรม” Inter Invention Talk : นวัตกรรมไทยสู่เวทีระดับโลก” โดยดึง “นายยุทธนากร คณะพันธ์” นวัตกรอิสระ นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้พัฒนาผลงาน “แหล่งวัตถุดิบหมุนเวียนสำหรับการผลิตวัสดุซิลิกอนเป็นขั้วไฟฟ้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ที่สามารถอัดและคายประจุเร็ว” ที่คว้ารางวัลเหรียญทองและรางวัล Grand Prize Commercial potential award ผลงานที่มีศักยภาพสู่อุตสาหกรรมระดับนานาชาติ จากเวที 2022 Kaohsiung International Invention & Design Expo (KIDE 2022) ที่ เมืองเกาสง ประเทศไต้หวัน มาเป็นวิทยากรสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมเผยเส้นทางจากนักศึกษา ไปสู่การเป็นนักวิจัย และจะก้าวไปสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างไร โดยกิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักเรียน นักศึกษา รวมถึงอาจารย์และนักวิจัย เป็นอย่างมาก
นายยุทธนากร กล่าวว่า จากปัญหาขยะโซล่าเซลล์ที่เพิ่มปริมาณมากขึ้น ปัจจุบันการจัดการปัญหาดังกล่าวเกือบ 100 % ยังใช้วิธีการฝังกลบ ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยลดปัญหาโลกร้อนแล้ว ยังสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเทคโนโลยีในการรีไซเคิลที่มีอยู่มีราคาสูง ไม่คุ้มค่ากับการรีไซเคิล ดังนั้นทีมวิจัยจึงคิดค้นเทคโนโลยีที่ใช้ในการรีไซเคิลขยะแผงโซล่าเซลล์ที่หมดอายุการใช้งาน โดยนำไปสู่การผลิตเป็นซิลิกอนเพื่ออุตสาหกรรมแบตเตอรี่ขึ้น ซึ่งเป็นการทำให้เรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง นอกจากนี้ยังสามารถผลิตซิลิกอนจากแกลบข้าวได้อีกด้วย
โดยผลิตภัณฑ์ที่ทีมวิจัยผลิตขึ้น ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “ RENEWSI “ มีจุดเด่นทางเทคโนโลยี คือ สามารถผลิตอนุภาคซิลิกอนได้หลากหลายขนาด นำไปประยุกต์ใช้งานได้ในหลายอุตสาหกรรม และที่สำคัญสามารถผลิตอนุภาคซิลิกอนที่มีขนาดเล็กมากในระดับนาโนเมตรได้ เป็นการเพิ่มมูลค่าจากซิลิกอนขนาดใหญ่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมทั่วไปที่มีราคากิโลกรัมละ 50 บาท มาเป็นนาโนซิลิกอน ที่มีราคาเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 1,000 บาท เหมาะสำหรับนำไปประยุกต์ใช้เป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ลิเธียมไออน ที่สามารถอัดและคายประจุได้อย่างรวดเร็วหรือ fast charge ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้มีทั้งไมโครซิลิกอน และนาโนซิลิกอน
“เมื่อเราคิดค้นนวัตกรรมขึ้นมาสิ่งที่จะต้องคำนึงถึง ก็คือ ตลาดในบ้านเราที่จะต้องขายผลิตภัณฑ์เหล่านั้นให้ได้ก่อน ในวันนี้เราอาจจะขายไมโครซิลิกอน กิโลกรัมละ 50 บาท เพื่อเลี้ยงตัวเองให้อยู่ได้ ในขณะเดียวกันเราก็ต้องพยายามที่จะสร้างผลิตภัณฑ์รุ่นต่อไป ซึ่งรองรับตลาดแบตเตอรี่โดยเฉพาะสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเติบโต เพื่อลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศอย่างยั่งยืน”
นายยุทธนากร กล่าวว่า การเปลี่ยนซิลิคอนที่อยู่ในแผงโซล่าเซลล์หมดอายุให้มีมูลค่าสูงขึ้นได้ เป็นการปลดล็อกเรื่องการรีไซเคิลแผลโซล่าเซลล์ให้เกิดขึ้นได้จริง และเป็นสิ่งที่ต้องทำเพราะ เพราะในแผงโซล่าเซลล์มีสารพิษ เช่น สารตะกั่วที่จะต้องจัดการ ถ้าธุรกิจเกิดขึ้นแล้วคุ้มทุนจะมีประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะเดียวกันวัสดุซิลิกอน กำลังเป็นที่สนใจของบริษัทผลิตแบตเตอรี่หรือรถยนต์ไฟฟ้า เพราะสามารถชาร์ทได้อย่างรวดเร็ว มีค่าความจุสูงและมีความปลอดภัยมากกว่าการใช้วัสดุกราไฟต์ที่มีอยู่ในตลาด
นายยุทธนากร ย้ำว่า การทำนวัตกรรมที่เป็นเทรนด์ในปัจจุบันหรือกำลังจะมาเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเมื่อทำนวัตกรรมแล้วจะต้องตอบได้ว่า ตลาดต้องการหรือไม่ ซึ่งจากนวัตกรรมนี้จะเห็นได้ว่า เมื่อความต้องการของรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ความต้องการของแบตเตอรี่ และวัสดุที่ใช้ทำขั้วไฟฟ้าก็จะสูงขึ้นตามกันไปด้วย
สำหรับน้อง ๆ ที่จะไปประกวด หรือนำเสนอผลงานวิจัย นายยุทธนากร บอกว่า สิ่งสำคัญที่ต้องมุ่งเน้น ก็คือ เมื่อผลิตนวัตกรรมออกมาได้แล้ว จะต้องดูต่อในเรื่องของศักยภาพทางด้านการตลาดและอุตสาหกรรมว่าไปต่อได้หรือไม่ ตลาดมีความต้องการไหม และท้ายที่สุดจะต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เราอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนั้น ๆ อย่างไร เพื่อให้รู้ทิศทางของการบริหารจัดการและการต่อยอด
“อยากจะมาจุดประกายให้น้อง ๆ พี่เคยผ่านเวทีระดับเยาวชน อย่าง I-New GEN มาก่อน เมื่อ 2 ปี ที่ผ่านมา โดยเอาเรื่องแกลบข้าวไปประกวด ซึ่งอยากให้เห็นว่าการทำวิจัยหรือการไปประกวดนั้น ไม่ใช่แค่การเอานวัตกรรมมาโชว์ถึงมาข้อดีข้อเสีย แต่เป็นการเปิดโอกาสให้เราได้ลงไปเรียนรู้กับคนที่เราจะสร้างประโยชน์ให้กับเขาด้วย ดังนั้นอยากให้น้อง ๆ ได้เข้าถึง หรืออินกับงานที่ทำว่า ถ้าวันหนึ่งจากงานวิจัยที่ทำไปสู่การใช้งานจริงแล้ว ผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับใครได้บ้าง ซึ่งจะทำให้เรามีพลังในการทำงานเพื่อตัวเองและเพื่อคนอื่นมากขึ้น”
นายยุทธนากร กล่าวอีกว่า 2 ปีผ่านไป ทีมวิจัยได้มีการระดมทุนภายนอก เพื่อหาเงินลงทุน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บริษัทเดลต้า และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เงินลงทุนจำนวน 1 ล้านบาท โดยภายใน 1-2 ปีข้างหน้า จะต้องทำให้เกิดการนำไปใช้งานเชิงพาณิชย์ได้จริง
“จากแลปสเกล ไปสู่ไปประกวด เราไม่หยุดแค่นั้นเราพยายามใฝ่หาโอกาสในการที่จะทำให้มันเกิดขึ้นได้จริง และเกิดได้อย่างรวดเร็ว”
อย่างไรก็ดี วช. ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมชมงาน วันนักประดิษฐ์ 2566 ระหว่า 2-6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.00-17.00 ณ อีเว้นท์ ฮอลล์ 100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา