ซินโครตรอน จับมือ GIT ยกระดับการวิจัยนำไทยสู่ศูนย์กลางการค้าและผลิตเครื่องประดับอัญมณีโลก
ซินโครตรอน-GIT จับมือใช้งานวิจัยพาไทยสู่ฮับการค้าการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับโลก
รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน |
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ |
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ประสานความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาอัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่า ด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และผลักดันไทยสู่ศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับโลกในทุกมิติ
นครราชสีมา – สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โดย รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดย นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในการวิจัยและพัฒนาอัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่า ด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จ.นครราชสีมา
รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ กล่าวว่า “สถาบันฯ และ GIT มีเจตนารมณ์ในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกันในการวิจัย การพัฒนาปรับปรุงคุณภาพ การตรวจสอบ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่า เพื่อส่งเสริมและเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยใช้แสงซินโครตรอนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ร่วมพัฒนาบุคลากร แลกเปลี่ยนความรู้ที่เกี่ยวข้อง และร่วมสร้างความร่วมมือเครือข่ายงานวิจัยที่เข้มแข็งระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ตามที่หน่วยงานเห็นสมควร”
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย กล่าวว่า “GIT และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนจะร่วมส่งเสริมและสนับสนุนด้านการวิจัย พัฒนาเทคนิคกระบวนการตรวจสอบ กระบวนการปรับปรุงคุณภาพ อัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า การสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับการวิจัย การวิเคราะห์ ตรวจสอบ และทดสอบ การใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการ ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย โดยใช้แสงซินโครตรอน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสนับสนุนการฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนบุคลากร และการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับงานวิจัย เพื่อพัฒนาทักษะ ศักยภาพ และขีดความสามารถของนักวิจัยอันเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคต”
“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงนามในบันทึกความเข้าใจในวันนี้ จะเป็นการบูรณาการในเชิงขีดความสามารถและสมรรถนะของทั้ง 2 หน่วยงาน ในการผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับโลกในทุกมิติ” นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย กล่าว
โอกาสนี้ ผู้เชี่ยวชาญของทั้งสองสถาบันฯ ยังได้บรรยายพิเศษเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ โดย ดร.ชาตรี ไสยสมบัติ รักษาการผู้จัดการระบบลำเลียงแสงที่ 7.2 สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้บรรยายเรื่อง “การประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนกับงานวิจัยทางด้านอัญมณี” และ นายทนง ลีลาวัฒนสุข รองผู้อำนวยการ (เทคนิค) และ ดร.ภูวดล วรรธนะชัยแสง หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ได้บรรยายเรื่อง “แนวทางการดำเนินการวิจัยด้านอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศ”