วช. ยกระดับงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ “ศักยภาพชาอัสสัม” ตอบโจทย์ท้องถิ่นชุมชนสังคมเพื่อความยั่งยืน
วช. เร่งขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ “ศักยภาพชาอัสสัม” ตามโจทย์ความต้องการของพื้นที่ชุมชนสังคมเพื่อความยั่งยืน
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำโดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมคณะผู้ทรงคุณวุฒิ เร่งติดตามและขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ตามโจทย์ความต้องการของชุมชน โดยลงพื้นที่จังหวัดลำปาง เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ ประจำปีงบประมาณ 2565 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2566 ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์แปรรูปชาบ้านป่าเหมี้ยง ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง
การตรวจเยี่ยมและการติดตามผลการพัฒนาศักยภาพชาอัสสัมป่าสู่ผลิตภัณฑ์ชาคุณภาพสูงเพื่อการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ของชุมชนบ้านป่าเหมี้ยง จังหวัดลำปาง เป็นโครงการที่ วช. ได้ให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ดำเนินการพัฒนาต้นแบบมาตรฐานการยกระดับและการสร้างมูลค่าเพิ่ม ในการผลิตชาอัสสัมที่มีคุณภาพ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้สร้างมาตรฐาน GAP ของสวนชาอัสสัม และสร้างมาตรฐาน GMP ของโรงงานผลิตชา พร้อมพัฒนากลุ่มวิสาหกิจให้เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง ในการผลิตชาอัสสัมสู่ตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ซึ่งการดำเนินงานของมทร.ล้านนา ลำปาง โดยการสนับสนุนของ วช. ได้ทำให้เกิดการขับเคลื่อนการสร้างความเข้มแข็งแกชุมชน การพึ่งตนเอง และการเป็นพื้นที่ต้นแบบ ในการพัฒนาประเทศด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม