ADS


Breaking News

K-Engineering WiL for WIN วิศวลาดกระบัง ผนึก 14 บริษัทชั้นนำ ปั้นวิศวกรคุณภาพตรงใจภาคอุตสาหกรรม เรียนจริง ฝึกจริง ทำงานจริง...อนาคตรุ่ง!

K-Engineering WiL for WIN…วิศวลาดกระบังจับมือ 14 บริษัทชั้นนำระดับประเทศ

ผลิตวิศวกรคุณภาพตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม เรียนจริง ฝึกจริง ทำงานจริง...อนาคตปัง!

จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจึงต้องมีปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนให้ทันต่อสถานการณ์ เพื่อสร้างบัณฑิตให้ตรงตามความต้องการของภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ใช้บัณฑิต เมื่อเรียนจบแล้วต้องสามารถทำงานได้จริง 

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า สจล. มีนโยบายการศึกษาแบบเรียนรู้ทฤษฎีและปฏิบัติจริง เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมและจะมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางด้านการศึกษาตามนโยบาย Global Learning และ Global Citizen ที่ให้ทุกคณะและวิทยาลัย มุ่งผลิตบัณฑิตเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บัณฑิตและเสริมความเป็นผู้ประกอบการ K-Engineering WiL เป็นหนึ่งในการ disrupt ทางการศึกษาและมุ่งสู่ความเป็น Global and practical engineer อย่างแท้จริงตามนโยบายมหาวิทยาลัย

รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า “K-Engineering Work-integrated Learning” หรือ “K-Engineering WiL” ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล เป็นการเรียนไปพร้อมกับการทำงาน โดยสถานประกอบการจะใช้ทรัพยากรบุคคลภายในซึ่งได้ผ่านการรับรอง มาเป็นผู้ให้ความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติกับนักเรียนโดยตรง อาจารย์มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำกับและวัดผลร่วมกับสถานประกอบการ และนักศึกษาจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนรวมถึงสวัสดิการต่างๆ จากทางบริษัท เป็นเวลา 2.0 – 2.5 ปีแล้วแต่หลักสูตร เป็นการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ที่ให้นักศึกษามีโอกาสประยุกต์ใช้ความรู้ และทักษะวิชาชีพ ได้รู้จักชีวิตการทำงานที่แท้จริงก่อนสำเร็จการศึกษา 

“K-Engineering Work-integrated Learning” เป็นการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการการเรียนรู้ควบคู่กับการทำงานในสถานประกอบการ (Work-integrated Learning หรือ WiL)  เพื่อยกระดับคุณภาพศักยภาพนักศึกษาของสถาบันฯ ให้มีความรู้ความสามารถ รวมถึงทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในการทำงาน เช่น ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะการสื่อสาร เป็นต้น ที่สำคัญคือ core skill ด้านการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม 

ในการนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานภาคีภาคอุตสาหกรรม (Industrial Consortium) ในเบื้องต้น 14 บริษัทชั้นนำของประเทศที่ประสงค์เข้าร่วม ได้แก่

1) บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด 2) บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 3) บริษัท ไทยคูณสตีล จำกัด 4) บริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด 5) บริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 6) บริษัท วนชัย พาเนล อินดัสทรี่ส์ จำกัด 7) บริษัท วนชัย เอ็นเนอร์ยี่ อินดัสทรี่ส์ จำกัด 8) บริษัท วนชัย เคมีคอล อินดสัทรี่ส์ จำกัด 9) บริษัท พัฒน์กล จำกัด (มหาชน) 10) บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด 11) บริษัท ชไนเดอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด 12) บริษัท โอนเนอร์ ฟู้ดส์ แมชชีนเนอรี่ จำกัด 13) บริษัท ควอลิตี้ เกจ แอนด์ ทูล จำกัด และ 14) บริษัท คิงส์แพ็ค อินดัสเตรียล จำกัด

นักศึกษาที่เข้าร่วมในโครงการนี้ จะได้เรียนพร้อมกับทำงานจริงกับบริษัท ได้รับทราบและแก้ปัญหาจริงจากหน้างานเพื่อนำมาสะสมความรู้และพัฒนาทักษะ ลักษณะการเรียนการสอนของ K-Engineering WiL จะผสมผสานรูปแบบต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาได้ทำงานจริงเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี การเรียนรู้และกิจกรรมในทุกรูปแบบที่กล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษามีผลลัพธ์การเรียนรู้ตรงตามที่หลักสูตรได้ออกแบบร่วมกับภาคอุตสาหกรรมไว้ 

รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล กล่าวทิ้งท้ายว่า K-Engineering WiL เป็นการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการผลิตบัณฑิต ให้เป็นบัณฑิตที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูง สามารถนำความรู้พื้นฐานและเทคโนโลยีไปปฏิบัติงานได้จริงในภาคอุตสาหกรรม นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยหลักสูตรนำร่องจะประกอบไปด้วย หลักสูตรวิศวกรรมระบบไอโอทีและสารสนเทศ หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ และหลักสูตรวิศวกรรมการผลิตวิชาชีพ