วช. + มทร.ล้านนา แถลงเตรียมเป็นเจ้าภาพ จัด “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566” วันที่ 6-8 ม.ค. 66 ชูโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG
วช. - มทร.ล้านนา แถลงข่าว พร้อมเป็นเจ้าภาพ จัด “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566” วันที่ 6-8 ม.ค. 2566
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ |
นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง |
ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน อธิการบดี มทร.ล้านนา |
วันที่ 19 ธันวาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ล้านนา ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกันจัด แถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566 (Regional Research Expo 2023)” ครั้งที่ 11 ภาคเหนือ โดยมี นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมกันแถลงข่าว ณ ห้องประชุมซอมพอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดลำปาง
นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ขอเชิญชวนพี่ น้อง ชาวลำปาง และจังหวัดใกล้เคียง นักธุรกิจ นักวิจัย นักเรียน นักศึกษา ที่มีความสนใจให้มาเที่ยวชมงาน "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติประจำปี 2566" ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 6-8 มกราคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดลำปาง มางานมหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ไม่ใช่แค่มาเที่ยว แต่ยังได้ความรู้ ได้โอกาสที่จะเห็นนวัตกรรมการวิจัยใหม่ๆ นำไปเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ
นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้ามาจังหวัดลำปาง ขอรับรองว่าจังหวัดลำปางปลอดภัย ผู้คนน้ำใจดีงาม ค่าครองชีพถูก จังหวัดลำปางเป็นเมืองน่าอยู่ จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองน่าเที่ยว จึงขอเชิญให้มาเที่ยวจังหวัดลำปาง
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ร่วมกับ มทร.ล้านนา เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566 (Regional Research Expo 2023)” ในภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 6 - 8 มกราคม 2566 โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 11 แล้ว ภายใต้แนวคิด “การพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนด้วยงานวิจัย นวัตกรรม ภูมิปัญญาล้านนาและโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG” เพื่อเป็นเวทีแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมและกิจกรรมการวิจัยที่มีคุณภาพในเวทีระดับชาติของหน่วยงานเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ เพื่อมุ่งหวังให้ผลงานวิจัยและกิจกรรมการวิจัยได้เผยแพร่สู่ผู้ใช้ประโยชน์ รวมทั้งเป็นการกระตุ้นให้นักวิจัยในเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ และหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องได้ผลิตผลงานและนวัตกรรมที่มีคุณภาพและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน อธิการบดี มทร.ล้านนา กล่าวว่า ตอนนี้มีผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมงาน 2,000 กว่าคน สิ่งสำคัญของงาน "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติประจำปี 2566" คือผู้ที่ชมงานจะสามารถนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปต่อยอดในเชิงอุตสาหกรรมได้ ชึ่งวันนี้ มีตัวอย่างผลงานวิจัยที่สามารถนำไปต่อยอดในเชิงธุรกิจ และผลงานวิจัยที่จะไปร่วมจัดแสดงมาโชว์ อาทิ การผลิตหลอดจากต้นข้าวสาลี นำมาใช้แทนหลอดดูดน้ำพลาสติก , กาแฟ ก็เป็นกาแฟธรรมดาที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาทำกาแฟให้มีคุณภาพ เป็นกาแฟเกรดพรีเมียม ส่งออกสู่ระดับโลกได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ มทร.ล้านนา อยากยกระดับให้กับชุมชนคนในจังหวัดลำปางที่ปลูกกาแฟให้มีรายได้สูงขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในงานมหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ด้วยความร่วมมือ ด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนของกระทรวง อว. ส่วนการถ่ายทอดเทคโนโลยีเข้าสู่ภูมิภาค ด้วยการนำของ วช. ที่มองเห็นจังหวัดลำปางเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีที่นำงานวิจัยในส่วนภูมิภาคขยายผลไปสู่จังหวัดที่เหลือในภาคเหนือ
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นิทรรศการการวิจัยของหน่วยงาน นักวิจัยในพื้นที่ เครือข่ายการวิจัยในภูมิภาคนิทรรศการนำเสนอผลงานนานาชาติและประเทศเพื่อนบ้าน นิทรรศการอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคเหนือ การจัดกิจกรรม Highlight Stage พื้นที่ให้คำปรึกษาความรู้จากงานวิจัย ตลาดนัดผลงานวิจัยที่ได้รับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา การประชุม เสวนา โดยมีหัวข้อเป็น Hot Issue Theme เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับภูมิภาค โดยมีหัวข้อการประชุม เสวนาตลอดการจัดงาน ไม่น้อยกว่า 10 หัวข้อเรื่อง นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการ Highlight เพื่อแสดงให้เห็นแนวคิดของการจัดงาน “การพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนด้วยงานวิจัย นวัตกรรม ภูมิปัญญาล้านนาและโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG” ด้วย
การจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566” จะเป็นการยกระดับศักยภาพผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของภาคเหนือไปสู่การใช้ประโยชน์ในระดับพื้นที่ในวงกว้าง และเป็นรูปธรรม รวมถึงการได้ถ่ายทอดและเผยแพร่ผลงานวิจัย ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรม ที่เกิดจากการวิจัยและประดิษฐ์คิดค้นสู่ผู้ใช้ประโยชน์ในภาคเหนือโดยตรง และบุคลากรจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย ทั้งภาครัฐและเอกชน นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนทั่วไป ได้นำองค์ความรู้ไปผลิตผลงานวิจัย ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรม เพื่อสร้างผลงานที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นไป