กกร. ปรึกษานอกรอบกับภาครัฐ หวังหาทางออกลดต้นทุนพลังงาน แก้ปัญหาไปด้วยกันในระยะยาว
กกร. หารือนอกรอบกับภาครัฐ
ร่วมหาทางออกลดต้นทุนพลังงาน ฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาผลการคำนวณค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอตามแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบ ประจำงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่อัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นที่อัตรา 190.44 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งการคำนวณค่า Ft ตามแนวทางนี้ จะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยอยู่ในระดับเท่าเดิมที่อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นจะมีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5.69 บาทต่อหน่วยนั้น ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนผู้ประกอบการและผู้ประกอบการจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้า เนื่องจากพลังงานเป็นต้นทุนหลักของภาคการผลิตและภาคบริการ
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นำโดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธาน กกร. และประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำผู้แทนภาคเอกชน ได้เข้าหารือนอกรอบกับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 โดย กกพ. ได้ชี้แจงถึงมติ ของกระทรวงพลังงาน ให้ ปตท.และ กฟผ. ทบทวนประมาณการณ์สมมุติฐานราคาก๊าซธรรมชาติ ราคาน้ำมันดีเซล อัตราแลกเปลี่ยน และภาระหนี้คงค้างของ กฟผ. เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มอื่นๆที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ค่า Ft จากเดิมที่จะปรับสูงขึ้น 190.44 บาทต่อหน่วยเหลือเพียง 154.92 บาทต่อหน่วย ซึ่งทำให้ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตรา 5.33 บาทต่อหน่วย ในรอบบิลเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 นี้ ซึ่ง ทางกระทรวงพลังงานได้ชี้แจงถึงปัญหาที่เผชิญหน้าด้านพลังงานของประเทศไทย
ซึ่งภาคเอกชนได้ให้ความเห็นว่า “ต้องขอบคุณท่านนายกฯ ที่ฟังเสียงภาคธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าไฟครั้งนี้ โดยได้ช่วยลดค่า Ft จากเดิมที่จะปรับสูงขึ้น ถึงแม้ไม่ได้ตรึงราคาตามข้อเสนอของภาคเอกชน ซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับตัวและอาจต้องปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงบางส่วนโดยไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไป ภาคเอกชนทุกสาขาธุรกิจมุ่งมั่นพร้อมร่วมหาแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนในการดูแลราคาพลังงานและราคาสินค้าและบริการในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน พร้อมประคองกำลังซื้อภายในประเทศให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป”
นอกจากนั้นเพื่อหารือทางออกร่วมกัน โดยท่านรองนายกฯ ได้ชี้แจงถึงสถานการณ์พลังงาน และข้อจำกัดด้านกฎหมาย ณ ปัจจุบัน เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนของผู้ประกอบการร่วมกันในระยะสั้น การประชุมครั้งนี้ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นของภาคเอกชน 3 ข้อ ดังนี้
1. ขอให้สมาคมธนาคารไทย พิจารณายืดขยายระยะเวลาการส่งคืนเงินต้น สำหรับลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนออกไปอีก 1 ปี และคิดอัตราดอกเบี้ยในราคาถูก เพื่อเป็นการขอลดค่า AP (Availability Payment) หรือค่าความพร้อมจ่าย จากโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤตพลังงานสูง
2. ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ 100 % (มีมากกว่า 1 พันราย) ให้ลดการใช้ลงเหลือ 80 % โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซล 20 % ที่ในขณะนี้มีราคาถูกกว่า หรือใช้พลังงานทดแทนอื่นที่เหมาะสม เพื่อทยอยให้ก๊าซธรรมชาติของไทยเข้าสู่ระบบมากขึ้น ในกลางปี 2566 ตามการคาดการณ์ของภาครัฐที่ประมาณการณ์จะมีมากขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งจะทำให้การคำนวนค่า Ft ในรอบถัดไปมีอัตราที่ลดลง แต่การปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงผู้ประกอบการบางรายอาจจะมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบ ซึ่งจะมีการรวบรวมและหารือกับภาครัฐในการชดเชยผลกระทบดังกล่าว กับผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือ ต่อไป ซึ่งปัจจุบันได้รับการตอบรับจากภาคเอกชนหลายรายแล้ว อาทิ เช่น ทาง SCG เป็นต้น
3. ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ. ด้านพลังงาน) เพื่อร่วมกันหารือ แก้ไขปัญหาและสร้างความเข้าใจในด้านพลังงานที่มีผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ต่อไป ซึ่งส่วนนี้หากมีการหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ก็จะสามารถหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกันได้
หากภาครัฐและเอกชนร่วมมือไปด้วยกัน ในข้อเสนอแนะดังกล่าว จะส่งผลให้มีการคำนวณค่า Ft ในรอบใหม่ได้เร็วขึ้น ซึ่งข้อเสนอแนะ 3 ข้อดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางของ กกร.ที่เสนอแนะต่อภาครัฐไปก่อนหน้านี้ โดยเชื่อว่าจะเป็นทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหาค่าไฟสูง ในระยะสั้นได้เร็วขึ้น สำหรับระยะยาวภาคเอกชนก็พร้อมที่จะปรับตัวในการใช้พลังงานทางเลือกให้เหมาะสม ในส่วนนี้เป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขันและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ แม้ว่าค่าไฟของประเทศไทยในปัจจุบันจะสูงกว่าทั้งเวียดนามและอินโดนิเซีย ก็ตาม แต่ประเทศอื่นใช้สัดส่วนพลังงานจากถ่านหินที่มากกว่าไทย นอกเหนือจากนี้ ภาคครัวเรือน ก็จำเป็นต้องมีความตระหนัก ปรับตัวในการใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสมเช่นกัน ซึ่งจะมีการหารือใน กรอ. พลังงาน เพื่อสร้างมาตรการและปลูกฝังจิตสำนึกในการประหยัดพลังงาน ในลำดับต่อไป