สกสว. หนุน รฟท. และ มรภ.ลำปาง ภายใต้ทุนวิจัย บพข. เผยเส้นทางท่องเที่ยวแห่งยุคสมัยล้านนา บูรณาการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่แรกในภาคเหนือ สุดคึกคัก
รฟท. จับมือ มรภ.ลำปาง ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยของ บพข. เปิดเส้นทางท่องเที่ยวบนยุคสมัยแห่งล้านนา มุ่งยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่แรกในภาคเหนือ
เมื่อวันที่ 18 – 20 พฤศจิกายน 2565 การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดขบวนรถนำเที่ยวพิเศษเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ บนเส้นทางยุคสมัยแห่งล้านนา “Lanna Modernization Railroad Travel” ท่องเที่ยวย่านเมืองเก่า ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ สักการะจอมเจดีย์แห่งล้านนา ซึ่งเป็นทริปนำร่องที่จัดขึ้นจากการบูรณาการความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ภายใต้งบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)
.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. เปิดเผยว่า ทีมวิจัยโครงการนี้ เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ ที่ได้นำวัฒนธรรมล้านนาอันทรงคุณค่า รวมทั้งวัฒนธรรมด้านอาหารจาก 7 ลุ่มน้ำ มาประยุกต์เพื่อที่จะนำเสนอและรังสรรค์เป็นเมนูอาหารเช้าให้กับผู้โดยสารบนรถไฟ โดยในระยะแรกได้มีการทดสอบเส้นทาง ด้วยการจัดขบวนพิเศษจาก จ.เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ซึ่งเป็นทริปที่มีทั้งสื่อมวลชนและผู้ประกอบการต่างๆ รวมถึงทางด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย จากนั้นทางการรถไฟแห่งประเทศไทยได้เล็งเห็นว่าเส้นทางนี้มีศักยภาพเหมาะสมที่จะประชาสัมพันธ์และแนะนำให้เป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวของการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงเป็นที่มาของทริปเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ บนเส้นทางยุคสมัยแห่งล้านนาในครั้งนี้
.
นอกจากนี้ “ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญการท่องเที่ยวในลักษณะแบบนี้ มีความสนใจที่จะเพิ่มเส้นทางในภาคใต้ เน้นเดินทางแบบเป็นกลุ่ม ซึ่งจะเป็นการลดการปล่อยคาร์บอน ถือเป็นหลักการสำคัญที่ทาง บพข.กำลังเน้นหนัก พร้อมทั้งเชิญชวนจัดรูปแบบการเดินทางที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน ในขณะเดียวกันก็อาจจะมีการชดเชยด้วยในอนาคต รวมถึงศักยภาพของการทำงานในลักษณะของเครือข่าย จะเป็นการท่องเที่ยวที่มีนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเข้ามาอธิบายเล่ารายละเอียดในแต่ละจุด รฟท.จึงขอให้ทาง บพข. ช่วยให้การสนับสนุนการวิจัย โดยให้มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา ดำเนินการศึกษาในเรื่องของการเชื่อมเส้นทางระหว่างสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ไปยังชุมทางทุ่งสง และสิ้นสุดที่สถานีกันตัง โดยมุ่งเน้นการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ของการท่องเที่ยวของการรถไฟภาคเหนือและการรถไฟภาคใต้ พร้อมทั้งขอเชิญชวนทุกท่านที่มีโอกาส โดยเชื่อว่าทางการรถไฟก็เตรียมเสนอเส้นทางดีๆ เหล่านี้ โดยใช้ฐานการวิจัยจากกองทุน ววน.” ผศ.สุภาวดี กล่าวทิ้งท้าย
.
ขณะที่ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย “นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์” กล่าวว่า ความร่วมมือในกิจกรรมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อต้องการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ กระตุ้นให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและเศรษฐกิจฐานล่าง ตลอดจนสนับสนุนให้คนไทยลดการใช้รถส่วนบุคคลและหันมาเดินทางท่องเที่ยวโดยรถไฟ ตามนโยบายการรณรงค์ลดใช้พลังงานของรัฐบาล โดยได้นำจุดเด่นของทั้งสองหน่วยงานมาสร้างสรรค์เป็นการท่องเที่ยวที่แตกต่าง และยังไม่เคยเกิดขึ้นในเส้นทางใดมาก่อนในภาคเหนือ ที่มีทิวทัศน์สองข้างรถไฟที่มีความสวยงาม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผสมผสานบริการแบบ Luxury เสิร์ฟอาหารสุดหรูบนขบวนรถตู้โดยสารพิเศษแบบ VIP Gourmet Car ด้วยเมนูอาหารเช้าสไตล์อังกฤษ เช่น สลัดผักออร์แกนิคกับน้ำสลัดวินิแกรต ขนมปังนานาชนิด ซุปผักสไตล์ผู้ดีอังกฤษ ไข่แบบเบเนดิกต์เสิร์ฟพร้อมผักย่างและเบคอนกรอบ ฯลฯ นอกจากนี้ วันสุดท้ายของการเดินทางเที่ยวกลับจากเชียงใหม่ ยังมีบริการอาหารเย็นแบบ VIP Gourmet Car ด้วยเมนูย้อนอดีตสมัยเส้นทางการค้าอังกฤษ – อินเดีย – ล้านนา อาทิ แกงฮังเลเสิร์ฟพร้อมโรตีและเครื่องเคียงสไตล์อินเดีย กล้วยเชื่อมล้านนาราดซอสเกลือคาราเมล เสิร์ฟพร้อมไอศกรีม
.
สำหรับ ขบวนรถนำเที่ยวดังกล่าว เดินทางด้วยขบวนรถไฟด่วนที่ 51 กรุงเทพ – ลำปาง วันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ออกจากกรุงเทพเวลา 22.00 น. ถึงสถานีศิลาอาสน์ รับประทานอาหารเช้าแบบ Chef’s Table 5 คอร์สแบบอังกฤษ นำผู้โดยสารลงสถานีลำปาง เที่ยวมิวเซียมลำปาง รถม้าชมเมือง ชิมอาหารท้องถิ่น ชอปปิ้งเซรามิค สักการะ 3 จอมเจดีย์ลำปาง – ลำพูน พักค้างคืนจังหวัดเชียงใหม่ บูชา 2 จอมเจดีย์เชียงใหม่ ชอปปิ้งของฝาก อาหารเย็นบนรถแบบ Chef’s Table 5 คอร์ส แบบยุโรป อินเดีย ล้านนา เช้าวันใหม่ถึงกรุงเทพโดยสวัสดิภาพ
.
ทั้งนี้ โครงการวิจัยดังกล่าว เกิดขึ้นภายใต้งานวิจัยการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยรถไฟ บนเส้นทางยุคสมัยแห่งล้านนา โดย ผศ. ดร.ณัฐนันท์ ฐิติยาปราโมทย์ และดร.ปัณณฑัต กัลยา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง สนับสนุนทุนวิจัยโดย บพข. งบประมาณจากกองทุน ววน. มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวทางรถไฟและย่านเมืองเก่า ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ของประเทศไทย