ADS


Breaking News

วว. ยกระดับวิจัยเพิ่มสารสำคัญของถั่งเช่าในพืชหลายชนิด เสริมคุณค่าโภชนาการ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ สร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย

วว. ต่อยอดวิจัยพัฒนาเพิ่มสารสำคัญของถั่งเช่าในพืช เพิ่มคุณค่าโภชนาการ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ  สร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย























     กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม  (อว.)  โดย  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  ต่อยอดงานวิจัยพัฒนาขับเคลื่อนนโยบาย  BCG  พัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมและนวัตกรรมอาหารปลอดภัย  ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  เพิ่มสารสำคัญของถั่งเช่าที่มีคุณสมบัติเด่นช่วยต้านอนุมูลอิสระ  สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย  ในข้าวและต่อยอดองค์ความรู้ในการปลูกพืชให้มีสารสำคัญของถังเช่า พร้อมแปรรูปใบข้าวให้เป็นผงสำหรับนำไปผสมกับอาหารเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ มุ่งสร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค สร้างงาน สร้างเงินที่ยั่งยืนให้แก่พี่น้องเกษตรกร/ผู้ประกอบการ
ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา    เอี่ยมโชติชวลิต    ผู้ว่าการ วว.   กล่าวว่า   จากความสำเร็จของ วว. โดย ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา  กลุ่มงานบริการอุตสาหกรรม  ภายใต้การดำเนิน “โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมและนวัตกรรมอาหารปลอดภัย”  ในการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ข้าวหอมมะลิ 105  ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ให้มีสารสำคัญทางยาสมุนไพร อย่างเช่น Cordycepin และ Adenosine ซึ่งมีอยู่ในถั่งเช่า ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือดและช่วยเรื่องภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย  ป้องกันภัยคุกคามจากเชื้อโรคในปัจจุบัน และสารสำคัญอื่นๆที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย  ปัจจุบันเกษตรกรร่วมกับ วว. อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาต่อยอด ที่จะทำให้เกิดสารสำคัญในข้าวสายพันธุ์อื่นๆ อีกหลายสายพันธุ์ รวมทั้งทำการทดลองกับพืชเกษตรชนิดอื่นที่มีอยู่ในพื้นที่และมีศักยภาพเศรษฐกิจด้านสมุนไพร  เช่น  เตยหอม  ต้นใบบัวบก  ข่าตาแดง  รวมทั้งมะพร้าวน้ำหอม  พร้อมทั้งอยู่ระหว่างการแปรรูปใบข้าวที่มีสารสำคัญของถั่งเช่า โดยวิธีการสกัดให้เป็นผงสำหรับนำไปผสมกับอาหารอื่นๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ  เช่น   ผงชงดื่ม  เป็นต้น  ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ทดสอบของห้องปฏิบัติการ วว. พบว่าในใบข้าวสมุนไพรที่มีสารสำคัญของถั่งเช่ายังมีโปรตีนในปริมาณที่สูงมาก ซึ่งสามารถต่อยอดองค์ความรู้นี้ไปสู่การแปรรูปเป็นโปรตีนจากพืช (Plant Based Protein) ที่มีทั้งสารสำคัญของถังเช่าและโปรตีนจากพืชที่เหมาะกับการลดน้ำหนัก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด เพื่อมุ่งไปสู่  ZERO WASTE  ตามนโยบาย BCG และเป็นการสร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค สร้างงาน สร้างเงินให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน
     “...การวิเคราะห์ทดสอบสารสำคัญในถั่งเช่าของ วว. ได้นำไปสู่การพัฒนาเชิงนวัตกรรมในการผลิตข้าวที่มีสารสำคัญของถั่งเช่า รวมถึงการทดสอบปริมาณสารสำคัญอื่นๆ  เช่น  สารแกมมา โอริซานอล  (Gamma  Oryzanol) ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ  ช่วยกระตุ้นการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน  (Endorphin) ช่วยผ่อนคลายความเครียดและหลับสบาย ร่วมถึงช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน อย.  สนับสนุนการกล่าวอ้างทางสุขภาพ  (Health Claim)  บนฉลาก  เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ เพิ่มช่องทางการขายด้วยการหาเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์  ส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน  ได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ  จากความสำเร็จและความพร้อมในการให้บริการดังกล่าว วว. จึงได้ขยายขอบข่ายต่อยอดการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มสารสำคัญของถั่งเช่าไปสู่พืชเกษตรอื่นๆ ...”  ผู้ว่าการ วว. กล่าว
     อนึ่ง ข้าวสมุนไพรที่มีสารสำคัญของถั่งเช่า ซึ่ง วว. เข้าไปร่วมพัฒนาให้กับ นายบัณฑิต   ศิริสัมพันธ์ และกลุ่มเกษตรกร  ตำบลหนองพระ   อำเภอวังทอง    จังหวัดพิษณุโลก   ได้มีการจดอนุสิทธิบัตรในรูปการปลูกข้าวให้มีสารสำคัญของถั่งเช่าเรียบร้อยแล้ว  โดยผลิตภัณฑ์ข้าวที่ปลูกภายใต้การดำเนินโครงการฯ ได้วางจำหน่ายในท้องตลาด ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์คอร์ดี้พาวเวอร์ไรซ์  (Cordy  Power Rice)  นอกจากนั้นยังสามารถนำใบข้าวมาผลิตเป็นชาชงดื่มเพื่อสุขภาพ และอยู่ในขั้นตอนการวิจัยต่อยอดการแปรรูปเป็นโปรตีนจากพืช (Plant Based Protein) ที่มีทั้งสารสำคัญของถังเช่าและโปรตีนจากพืชที่เหมาะกับการลดน้ำหนัก ซึ่งจะเป็นประโยชน์และเพิ่มมูลค่าทางการเกษตร อีกทั้งการนำซังข้าวไปเป็นปุ๋ยสำหรับใช้หมุนเวียนในระบบการเกษตรของกลุ่มด้วย นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของ วว. ในการร่วมขับเคลื่อนนโยบาย BCG  ที่สามารถนำองค์ความรู้ที่เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยตอบโจทย์ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ
     สอบถามรายละเอียดและรับบริการจาก วว. ติดต่อได้ที่  โทร. 0  2577  9000, 0  2323  1672-80  (ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา)  โทรสาร. 0 2323  9165  อีเมล tistr@tistr.or.th