กรมศุลกากร แถลงผลงานประจำเดือน พฤศจิกายน 2565
วันนี้ (วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565) นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากร มีการดำเนินงานเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าและส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ของประเทศ การส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศด้วยมาตรการทางศุลกากรและข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ การเพิ่มขีดความสามารถในการปกป้องสังคมให้ปลอดภัยด้วยระบบควบคุมทางศุลกากร และการจัดเก็บภาษีอากรอย่างเป็นธรรม โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2565 มีผลงานที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ความก้าวหน้าของระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (National Single Window) และการเชื่อมโยงข้อมูลกับ ASEAN Single Window (ASW)
สถานะปัจจุบันของระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (National Single Window) เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ มีความก้าวหน้าดังนี้
1.1 ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (National Single Window)
เปิดให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลแบบไร้เอกสารระหว่างกรมศุลกากรกับผู้ประกอบการทั่วประเทศ และเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลกับ ASEAN Single Window (ASW) รวม 105 ล้าน Transactions หรือเฉลี่ยประมาณเดือนละ 10.5 ล้าน Transactions มีผู้ประกอบการลงทะเบียนแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 15,751 ราย ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ประกอบการประมาณ 100,000 ราย ในการทำธุรกรรมเพื่อเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องการนำเข้า การส่งออก การนำผ่าน และโลจิสติกส์ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่ทำหน้าที่แทนหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบ NSW จำนวน 34 หน่วยงาน และหน่วยงานอื่น ๆ โดยแบ่งเป็นตามรูปแบบการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ ดังนี้
1) หน่วยงานที่เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบ G2G ผ่านระบบ NSW จำนวน 33 หน่วยงาน (สำหรับใช้ในการผ่านพิธีการศุลกากรแบบไร้เอกสาร ข้อมูลกระบวนงานที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ ข้อมูลบัญชีสินค้าทางเรือ/อากาศยาน)
2) หน่วยงานเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบ B2G ผ่านระบบ NSW จำนวน 22 หน่วยงาน
3) หน่วยงานเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบ B2B ผ่านระบบ NSW จำนวน 5 หน่วยงาน/กลุ่ม
4) ธนาคารพาณิชย์ ที่ให้บริการ e-Payment และ e-Guarantee จำนวน 18 แห่ง
1.2 ความก้าวหน้าการพัฒนาระบบ NSW ในการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับ ASW
1.2.1 การเชื่อมโยงข้อมูล ATIGA e-FORM D
ประเทศไทยโดยกรมศุลกากร และกรมการค้าต่างประเทศ ได้เชื่อมโยงข้อมูล ATIGA e-FORM D กับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อใช้ในการผ่านพิธีการศุลกากรแบบไร้เอกสารตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2562 ซึ่งขณะนี้ ครบทั้ง 10 ประเทศ ได้แก่ 1) อินโดนีเซีย 2) มาเลเซีย 3) สิงคโปร์ 4) ไทย 5) เวียดนาม 6) บรูไน 7) กัมพูชา 8) เมียนมา 9) สปป.ลาว และ 10) ฟิลิปปินส์ โดยมีสถิติการรับส่งข้อมูล ATIGA e-FORM D ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2563 – 31 ตุลาคม 2565 จำนวน 1,600,818 เอกสารอิเล็กทรอนิกส์
1.2.2 การเชื่อมโยงข้อมูล ASEAN Customs Declaration Document (ACDD)
ประเทศไทยได้เข้าร่วมการเชื่อมโยงข้อมูล ASEAN Customs Declaration Document (ACDD) อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2564 ปัจจุบันเชื่อมโยงข้อมูล ACDD กับประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว 7 ประเทศ ประกอบด้วยกัมพูชา สิงคโปร์ มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบรูไน โดยมีสถิติการรับส่งข้อมูล ACDD ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2564 – 31 ตุลาคม 2565 จำนวน 945,278 เอกสารอิเล็กทรอนิกส์
1.2.3 การเชื่อมโยงใบรับรองสุขอนามัยพืช (e-Phyto Certificate)
การเชื่อมโยงใบรับรองสุขอนามัยพืช (e-Phyto Certificate) ประเทศสมาชิกได้ตัดสินใจที่จะปรับปรุงโครงสร้างข้อมูลของ e-Phyto Certificate ใหม่ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานปัจจุบันที่ International Plant Protection Convention ใช้ เพื่อรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลกับประเทศนอกอาเซียนได้ โดยปัจจุบันมีการรับรองโครงสร้างข้อมูลใหม่ของ e-Phyto Certificate เรียบร้อยแล้ว ซึ่งไทยและอินโดนีเซีย ได้เริ่มทดสอบเชื่อมโยงข้อมูลตามโครงสร้างใหม่ร่วมกัน ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2564 โดยมีกำหนดการเริ่มใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 ธันวาคม 2565
1.2.4 การเชื่อมโยงข้อมูลหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-CO) ระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น
ไทยและญี่ปุ่น ได้มีการหารือทางเทคนิคอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-CO) ระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และหารือประเด็นทางเทคนิคและกฎระเบียบเพื่อรองรับการเชื่อมโยงข้อมูล e-CO ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ จำนวน 6 ครั้ง
1.3 สถานะการพัฒนากระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ สำหรับประกอบการผ่านพิธีการศุลกากรนำเข้า-ส่งออก (ราย Shipment) ผ่านระบบ NSW
ปัจจุบันกรมศุลกากรสามารถดำเนินการพัฒนากระบวนการที่เกี่ยวกับการนำเข้า ส่งออกและโลจิสติกส์ สำหรับประกอบการผ่านพิธีการศุลกากรนำเข้า ส่งออก ผ่านระบบ NSW ได้ถึง 444 กระบวนงาน จาก 473 กระบวนงาน(ร้อยละ 93.87) ซึ่งคาดว่าจะสามารถพัฒนาอีก 29 กระบวนงานให้บริการผ่านระบบ NSW ได้ในระยะเวลาอันใกล้
2. ผลการตรวจพบการกระทำความผิดประจำเดือนตุลาคม 2565
กรมศุลกากร มีนโยบายในการเร่งรัดปราบปรามการลักลอบและหลีกเลี่ยงการนำเข้าและส่งออกสินค้าจากราชอาณาจักร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงให้หน่วยงานในสังกัดพร้อมหน่วยปฏิบัติการวางแผนตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สินค้าเกษตร น้ำมัน ยาเสพติด IPRs และสินค้าละเมิดอนุสัญญา CITES โดยสืบสวนหาข่าวและออกลาดตระเวนด้วยรถยนต์ ตรวจค้นรถบรรทุก โกดัง แหล่งจำหน่าย สถานที่เก็บรักษาที่เชื่อได้ว่ามีของผิดกฎหมายเก็บซุกซ่อนอยู่ อีกทั้งยังมีแผนการป้องกันและปราบปรามสินค้าดังกล่าวในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงในการลักลอบนำเข้า-ส่งออกสินค้า นอกจากนี้ มีการบูรณาการกับหน่วยงาน และพันธุ์พืช สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สถานทูตต่าง ๆ องค์การตำรวจสากล (Interpol) สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (Drug Enforcement Administration: DEA) เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวระหว่างกัน
โดยในเดือนตุลาคม 2565 มีจำนวน 3,027 คดี คิดเป็นมูลค่ารวม 99.44 ล้านบาทมีผลงานที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ผลการจับกุมยาเสพติด
ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายเดินหน้าปราบปรามยาเสพติดทั้งการผลิต การนำเข้า การนำผ่าน และการลักลอบจำหน่าย โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน
เพื่อปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวด ด้านกระทรวงการคลังโดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง เพิ่มความเข้มงวดและเดินหน้าปราบปรามการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักรทุกเส้นทาง กรมศุลกากรจึงเพิ่มการเฝ้าระวังการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งทางบก ทางเรือและทางอากาศ โดยเฉพาะทางพัสดุไปรษณีย์ที่ต้องใช้ประสบการณ์และความระมัดระวังในการเปิดตรวจพัสดุต่าง ๆ เป็นอย่างมาก
1.1 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ตรวจพบพัสดุไปรษณีย์ต้องสงสัย เมื่อเปิดตรวจพบเครื่องทำน้ำอุ่น จำนวน 1 เครื่อง และทุเรียนอบแห้ง จำนวน 4 ลัง ต้นทางจากประเทศกัมพูชา ผ่านประเทศไทย ปลายทางไต้หวัน ทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พบเฮโรอีนอัดแท่ง ตราสัญลักษณ์สิงโตเหยียบลูก จำนวน 10 แท่ง น้ำหนักประมาณ 3,700 กรัม ซุกซ่อนอยู่ในเครื่องทำน้ำอุ่น ดัดแปลงขึ้นใหม่จำนวน 1 เครื่อง และพบเฮโรอีนบรรจุอยู่ภายในซองกันชื้น น้ำหนักประมาณ 3,510 กรัม ซุกซ่อนอยู่ในถุงทุเรียนอบแห้ง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศกัมพูชา จำนวน 4 ลัง รวมเฮโรอีนที่ตรวจยึดทั้งหมด น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 7,210 กรัม มูลค่า 21,630,000 บาท จึงได้ทำบันทึก ตรวจยึด และนำของกลางส่งสถานีตำรวจภูธรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย
กรณีนี้เป็นความผิดฐานพยายามส่งออกยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เฮโรอีน) ออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ประกอบพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 ,166 และ 167
1.2 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2565 เวลาประมาณ 21.30 น. เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรพบพัสดุสำแดงชนิดสินค้าเป็น Cosmetic ปลายทางประเทศออสเตรเลีย ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ จากการตรวจสอบด้วยการ X-Ray พบสิ่งบ่งชี้ความผิดปกติ จึงดำเนินการตรวจสอบทางกายภาพโดยละเอียด
พบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เมทแอมเฟตามีน (ไอซ์) ลักษณะเป็นของเหลวซุกซ่อนในขวดคอนแทคเลนส์ น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 4,440 กรัม มูลค่า 2,664,000 บาท จึงยึดและประสานศุลกากรออสเตรเลีย เพื่อสืบสวนเครือข่ายต่อไป
1.3 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2565 เวลาประมาณ 23.30 น. เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรพบพัสดุสำแดงชนิดสินค้าเป็น Dry Food, Sock ปลายทางประเทศอิสราเอล ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ จากการตรวจสอบด้วยการ X-Ray พบสิ่งบ่งชี้ความผิดปกติ จึงดำเนินการตรวจสอบทางกายภาพโดยละเอียด
พบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เมทแอมเฟตามีน (ไอซ์) จำนวน 559 กรัม ซุกซ่อนในซองน้ำตาลทราย มูลค่า 335,400 บาท จึงยึดและประสานศุลกากรอิสราเอลเพื่อสืบสวนเครือข่ายต่อไป
1.4 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 เวลาประมาณ 23.30 น. เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรพบพัสดุสำแดงชนิดสินค้าเป็น Glove, Clothes ปลายทางประเทศอิสราเอล ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ จากการตรวจสอบด้วยการ X-Ray
พบสิ่งบ่งชี้ความผิดปกติ จึงดำเนินการตรวจสอบทางกายภาพโดยละเอียด พบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เมทแอมเฟตามีน (ไอซ์) จำนวน 515 กรัม ซุกซ่อนในกระดุมเสื้อ มูลค่า 309,000 บาท จึงยึดและประสานศุลกากรอิสราเอล เพื่อสืบสวนเครือข่ายต่อไป
กรณีที่ 1.2, 1.3, 1.4 ถือเป็นความผิดฐานพยายามนำยาเสพติดประเภท 1 เมทแอมเฟตามีน (ไอซ์) ออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 มาตรา 166 และ167
สำหรับ สถิติการตรวจยึดยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในเดือนตุลาคม 2565 มีจำนวน 8 คดี มูลค่า 28.16 ล้านบาท
2. ผลการจับกุมบุหรี่
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2565 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร โดยด่านศุลกากรสงขลาและเจ้าหน้าที่สำนักงานสรรพสามิต ภาคที่ 9 ได้ทำการตรวจค้น อาคารพาณิชย์ พื้นที่ ต.บ้านพร้าว อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง ตามหมายค้นศาลจังหวัดพัทลุง ผลการตรวจค้นพบ บุหรี่ มีถิ่นกำเนิดต่างประเทศ ไม่ปิดแสตมป์ตามกฎหมาย ขณะตรวจค้นไม่พบเอกสารการปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรโดยถูกต้อง จำนวน 424,760 มวน มูลค่า 1,792,614 บาท
กรณีดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 166 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาจมีความผิดตามมาตรา 242, 246 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 เจ้าหน้าที่จึงได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 167 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ยึดของดังกล่าวพร้อมจับกุมตัวผู้ต้องหา ส่งด่านศุลกากรสงขลา เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้สถิติการจับกุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเดือนตุลาคม 2565 ได้แก่ 1. บุหรี่ จำนวน 130 คดี มูลค่า 15.85 ล้านบาท 2. บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์ จำนวน 23 คดี มูลค่า 951,837 บาท
3. ผลการจับกุมสินค้าเกษตร
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร โดยด่านศุลกากรสงขลา ได้ตรวจค้นโกดังแห่งหนึ่งในตำบลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พบกระเทียม จำนวน 300 กระสอบ หอมหัวใหญ่ จำนวน 750 กระสอบ หอมแดง จำนวน 450 กระสอบ มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร จำนวน 15,000 กิโลกรัม มูลค่า 660,000 บาท
กรณีดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 242, 244 และมาตรา 246 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ สถิติการจับกุมสินค้าเกษตรในเดือนตุลาคม 2565 มีจำนวน 58 คดี มูลค่า 3.57 ล้านบาท