ADS


Breaking News

TCMA ชูปูนซีเมนต์ลดโลกร้อน สร้างอีโคซิสเต็มร่วมเคลื่อนไทยสู่ Net Zero 2050

TCMA ปักหมุดปูนซีเมนต์ลดโลกร้อน

ปั้นอีโคซิสเต็มร่วมเคลื่อนไทยสู่ Net Zero 2050

นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA)

     สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ผนึก 30 พันธมิตรเดินหน้าลดโลกร้อน สร้างการเปลี่ยนแปลงมิติใหม่วงการวัสดุก่อสร้าง ปูทางโลกยั่งยืน ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ลดก๊าซเรือนกระจก สู่เป้าหมายลดโลกร้อน ตามทิศทางระดับโลก COP 27 แสดงพลังความพร้อม สร้างความตระหนักรู้ ชูปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (ปูนลดโลกร้อน) พลิกโฉมใหม่ นำไทยสู่ “2024 Thailand’ s New Era of Low Carbon Cement: Hydraulic Cement”

     นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวว่า TCMA ร่วมขับเคลื่อนสู้วิกฤตโลกร้อน ในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2565 ชูแนวคิด “Together for Our World ผนึกกำลังขับเคลื่อนลดโลกร้อน...ลดก๊าซเรือนกระจก” เพราะปัญหาโลกร้อนนั้นรุนแรงและใกล้ตัวกว่าที่ทุกคนคิด ทั้งภัยพิบัติรุนแรง สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็น ฝนตก น้ำท่วม ฝนแล้ง ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบ และส่งผลต่อผู้คนที่อยู่อาศัยในโลกใบนี้ ทุกภาคส่วนจึงต้องมีความตระหนักถึงสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ทำอย่างไรที่จะทำให้การดำเนินการในทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ส่งผลกระทบทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น โดยมีเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นศตวรรษนี้

ทั้งนี้ ทางออกของปัญหาที่ผ่านการพัฒนาและวิจัย ที่ทำให้เกิดความยั่งยืน คือ “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก”ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต ลดการเผาหินปูนซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก นำเทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมเข้ามาใช้ ทำให้ “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” ช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก โดยยังคงคุณลักษณะตามมาตรฐาน นำไปสู่การวางมาตรฐานวิศวกรรมงานก่อสร้างให้นำมาใช้แทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ในทุกประเภทงานก่อสร้าง

“นับเป็นมิติใหม่ที่ผู้ผลิตปูนซีเมนต์รวมตัวกันเป็นหนึ่ง และได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดียิ่งจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันผลักดันการลดโลกร้อน แสวงหาร่วมมือและลงมือทำอย่างจริงจัง ทั้งภาควิชาชีพที่สนับสนุนการรับรองมาตรฐาน ด้านภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้ผลิตที่ต้นกำเนิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้านภาคการศึกษาสนับสนุนการวิจัยรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยลดโลกร้อน”นายชนะกล่าว

ภาคประชาชนร่วมมือกันใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และภาครัฐเป็นผู้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์นำร่องให้หน่วยงานในสังกัดเริ่มใช้ “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” ในโครงการก่อสร้างต่างๆ จึงนำไปสู่ความสำเร็จแรกในการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 3 แสนตัน CO2 เมื่อปี พ.ศ. 2564 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมาย NDC Roadmap ถึง 9 ปี

ความก้าวหน้าในการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมพร้อมผลตอบรับที่สำเร็จเร็วเกินคาด ทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอันดับ 1 ในการดำเนินการสอดคล้องกับทิศทางของโลก ไปสู่ Net Zero 2050 นอกจากนี้ มีการสร้างกลไกความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมายความสำเร็จร่วมกันมีการกำหนดมาตรฐาน กระบวนการนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มาใช้ได้อย่างรวดเร็วและชัดเจนขึ้น จึงขยายความร่วมมือและตั้งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น ด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกไซด์ให้ได้อีก1 ล้านตัน CO2 ในปี พ.ศ. 2566 เทียบเท่าไม้พื้นเมือง 110 ล้านต้นในการดูดซับ CO2

TCMA ได้เข้าไปประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ เดิมเมื่อแรกเริ่ม 16 หน่วยงาน  5 กระทรวง เข้ามาร่วมมือกันตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับบริหาร ผู้อำนวยการ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกันขับเคลื่อนดำเนินการตามนโยบายมาตรการทดแทนปูนเม็ด เปลี่ยนมาใช้ “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังจนประสบความสำเร็จ นำไปสู่การขยายผล ปัจจุบันภาคีร่วมดำเนินการเพิ่มเป็น 31 หน่วยงาน โดยการสนับสนุนของ 6 กระทรวง สามารถสร้างมาตรฐาน กฎระเบียบที่ซับซ้อนให้ขับเคลื่อนได้อย่างสมบูรณ์จากความร่วมมือกันอย่างบูรณาการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

นายชนะ กล่าวย้ำว่า  ความสำเร็จและความก้าวหน้าของการเปลี่ยนแปลงมาใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกนี้ มาจากความร่วมมือสนับสนุนของทุกภาคส่วน นับเป็นต้นแบบของการสร้างกระบวนการขับเคลื่อนการลดอุณหภูมิโลกอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นความภูมิใจของเราทุกคน ที่จะช่วยกันปลูกจิตสำนึกคนในประเทศในทุกภาคส่วน ให้เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือส่งผลกระทบต่อการเกิดโลกร้อนให้น้อยที่สุด ไม่เพียงแต่การเลือกใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเท่านั้น แต่ขยายรวมไปถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ TCMA ได้ทำงานร่วมกับ GCCA (Global Cement and Concrete Association) องค์กรชั้นนำด้านซีเมนต์และคอนกรีต และได้รับเกียรติเชิญเข้าร่วมประชุม COP 27 ที่ประเทศอียิปต์ โดยจะนำวิธีการทำงานนี้ไปแลกเปลี่ยนกับสมาชิก GCCA และประเทศต่างๆ ที่เข้าประชุม COP 27 เพื่อแสวงหาความร่วมมือ ทั้งด้านเทคโนโลยี แหล่งทุน และอื่น มาสู่ประเทศไทยในการร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุตามเป้าหมายต่อไป

     ศาสตราจารย์ ดร. สมนึก ตั้งเติมสิริกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีก่อสร้างและบำรุงรักษา สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร กล่าวว่า ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์มีการเผาไหม้ในอุณหภูมิที่สูงจึงมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา การผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมีกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่คุณภาพของปูนซีเมนต์ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ในทางกลับกัน จะดีขึ้นในบางมิติของการใช้งานอีกด้วย ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ปูนซีเมนต์อยู่ที่ 20-30 ล้านตันต่อปี หากโครงการก่อสร้างต่างๆ เปลี่ยนมาใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้หลายแสนตันต่อปี

     ภาคการศึกษาต้องช่วยกันสนับสนุนสร้างความรู้ความเข้าใจ การสร้างความมั่นใจในการนำไปใช้งาน รวมถึงการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ลดโลกร้อนชนิดใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาให้อุตสาหกรรรมก่อสร้างได้มีบาทบาทในการช่วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน

#TCMAxวิศวกรรมแห่งชาติ2565

#TCMA_ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก

#TCMA_ปูนลดโลกร้อน