ADS


Breaking News

CUNM ผนึก Medtronic ยกศูนย์การเรียนรู้ทางด้านการแพทย์ระดับภาคพื้นเอเชีย เผยศูนย์ฝึกอบรมทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร

CUNM ร่วมกับ Medtronic พัฒนาศูนย์การเรียนรู้ทางด้านการแพทย์ระดับภาคพื้นเอเชีย

เปิดศูนย์ฝึกอบรมทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ศ.นพ.สุเทพ กลชาญวิทย์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คุณรานีวรรณ รามศิริ รองประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 : คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร หรือ Center of Excellence in Neurogastroenterology and Motility Chulalongkorn University (CUNM) ร่วมกับ บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เปิดตัวศูนย์ฝึกอบรมทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร (ภาคพื้นเอเชีย)” ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกอบรมและให้ความรู้เฉพาะทางแก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรการแพทย์จากประเทศไทย และหลากหลายประเทศในเอเชียแปซิฟิก โดยมี รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คุณรานีวรรณ รามศิริ รองประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด และ ศ.นพ. สุเทพ กลชาญวิทย์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุม 1301 โซน C ชั้น 13 อาคาร
ภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นโรงเรียนแพทย์ที่มีองค์ความรู้และความสามารถในการเรียนการสอน เพื่อเพิ่มบุคคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพในประเทศไทย โดยมีนโยบายสนับสนุนการจัดประชุมและอบรมทางวิชาการต่าง ๆ เพื่อให้แพทย์ที่สําเร็จการศึกษาไปแล้วได้กลับเข้ามารับความรู้ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องผ่านหลากหลายช่องทางการเรียนรู้ที่พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการเรียนรู้ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน

ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร หรือ CUNM ถือได้ว่ามีส่วนสําคัญ ในการบุกเบิกและพัฒนาการให้บริการผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อนทางด้านโรคระบบทางเดินอาหารที่ครบวงจร และยังสามารถเป็นศูนย์การเรียนการสอน เป็นสถาบันฝึกอบรมและผลิตแพทย์ ที่ทันสมัยที่สุดอีกที่หนึ่งในประเทศไทย โดยได้ก่อตั้งและเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2546

นับว่าเป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่งที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท เมดโทรนิค
(ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมมือในการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ทางด้านการแพทย์ระดับภาคพื้นเอเชีย เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ในการรักษาโรคทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งๆ ขึ้น และมีเป้าหมายร่วมกันที่จะเป็นสถาบันต้นแบบทางการการแพทย์และถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งในและต่างประเทศที่ได้มาตรฐานในระดับสากล โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการยกระดับการเรียนรู้ และการรักษาโรคที่เกิดจากความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

ด้าน คุณรานีวรรณ รามศิริ รองประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เมดโทรนิคเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตจำหน่ายและให้บริการด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลก เรามีความมุ่งมั่นในการแก้ไขความท้าทายทางด้านสุขภาพ ในการบรรเทาความเจ็บปวดจากโรคภัยต่าง ๆ ส่งเสริมให้ประชากรทุกคนมีสุขภาพที่ดีและมีชีวิตที่ยืนยาว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เมดโทรนิคได้ดําเนินธุรกิจในประเทศไทยมานานกว่า 20 ปี 

เราเป็นผู้นําระดับโลกทางเทคโนโลยีด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยมีพนักงานมากกว่า 90,000 คนทั่วโลก เพื่อช่วยนำเทคโนโลยีสุขภาพระดับโลก มาส่งให้ถึงมือของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการรักษาคนไข้ในประเทศไทย ด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ การรักษาที่มีประสิทธิภาพและบริการที่ดีที่สุด ใน 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. Cardiovascular Portfolio 2. Medical Surgical Portfolio, 3. Neurosciences Portfolio และ 4. Diabetes Portfolio

“ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับภาครัฐและผู้ให้บริการด้านสุขภาพในทุกภาคส่วน ผ่านหลากหลายโครงการความร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำทางการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในด้านการส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี การอบรมบุคลากรที่มีคุณภาพในการทำหัตถการที่มีความซับซ้อน เพิ่มบุคลากรที่มีความรู้และทักษะไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพิ่มการเข้าถึงการรักษาที่มีทันสมัยให้กับประชาชน ขับเคลื่อนนวัตกรรมผ่านงานวิจัย ยกระดับศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งล้วนถือเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาของระบบสาธารณสุขของประเทศไทยให้อยู่ในระดับสากล และในปี พ.ศ. 2565 นี้ เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จึงมีเป้าหมายที่จะร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการร่วมกันจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารระดับภาคพื้นเอเชีย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงการเรียนรู้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ” คุณรานีวรรณ กล่าว

ปัจจุบันการตรวจทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารนี้ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีความสำคัญและมีประสิทธิภาพในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ได้แก่ โรคกรดไหลย้อน โรคท้องผูกเรื้อรัง และการขับถ่ายผิดปกติ โดยการตรวจดังกล่าวจะบอกถึงกลไกการเปลี่ยนแปลงในระบบทางเดินอาหารที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ เพื่อรักษาได้ตรงตามสาเหตุที่พบได้อย่างถูกต้องแม่นยำ อย่างไรก็ดีเนื่องด้วยเป็นการตรวจแบบใหม่ ปัจจุบันจึงยังขาดแพทย์ที่มีความชำนาญในการใช้อุปกรณ์การตรวจดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในฐานะของผู้ให้บริการ คิดค้นและวิจัยเทคโนโลยีสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) มีความภูมิใจที่จะนำเสนอรูปแบบการเรียนรู้ที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ สามารถได้รับองค์ความรู้ พัฒนาทักษะการทำหัตถการ และการใช้เครื่องมือให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ที่จะมอบประสบการณ์ในการเรียนรู้ และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการอบรมที่มีคุณภาพของคณาจารย์จากศูนย์ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ และเรายังมองเห็นโอกาสในการต่อยอดความร่วมมือในครั้งนี้ ไปยังหัตถการที่มีความสำคัญอื่น ๆ อีกมากมายในอนาคต 

ทางบริษัทฯ มีความยินดี และพร้อมจะสนับสนุนโครงการความร่วมมือ ในการพัฒนาองค์ความรู้ลักษณะนี้กับทุกสถาบัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย ทั้งทางด้านการศึกษา การแพทย์ และสังคมไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยแบบยั่งยืน และเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีสุขภาพของประชาชนไทยได้มากขึ้นในอนาคต

ศ.นพ.สุเทพ กลชาญวิทย์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรคความผิดปกติเกี่ยวกับระบบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร สามารถเกิดได้ตั้งแต่การกลืนหรือหลอดอาหารไปจนถึงทวารหนัก ได้แก่ ภาวะกลืนลำบากที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากเนื้องอกหรือหลอดอาหารอุดตัน โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหารเรื้อรัง โรคลำไส้แปรปรวน โรคท้องผูกเรื้อรังและโรคที่เกี่ยวกับการขับถ่ายผิดปกติ เช่น กลั้นอุจจาระไม่ได้ ถ่ายอุจจาระไม่สุด เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้มีความสำคัญ และเนื่องจากประชากรชาวไทยและทั่วโลกเป็นโรคเหล่านี้ในแต่ละโรค  ในอัตราที่สูงประมาณร้อยละ 15-25 ของประชากร โดยในปัจจุบันการรักษาโรคเหล่านี้ ยังมีการรักษาที่ไม่เหมาะสมในผู้ป่วยจำนวนมาก ผู้ป่วยยังคงต้องรับยาต่อเนื่องอย่างไม่เหมาะสม ทั้งที่โรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุที่ชัดเจนและรักษาที่สาเหตุนั้น ทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรทางการแพทย์มาก ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการรักษาโรคต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น โรคท้องผูกเรื้อรัง ถือเป็นศูนย์แห่งแรกที่สามารถพัฒนาขั้นตอนการรักษาภาวะท้องผูกเรื้อรังที่เป็นขั้นตอนที่เข้าใจง่ายทั้งผู้ป่วยและผู้ให้การรักษาและมีการเผยแพร่จนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ รวมทั้งโรคกรดไหลย้อน โรคลำไส้แปรปรวนและภาวะท้องอืดเรื้อรัง  

    ทั้งนี้คาดว่าหลักสูตรการเรียนรู้ที่จัดเตรียมขึ้นและดำเนินการในศูนย์ฝึกอบรมทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร (ภาคพื้นเอเชีย) นี้ จะช่วยทำให้การดูแลรักษาคนไข้ในกลุ่มต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น จะได้รับการรักษาที่ดีขึ้นส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถลดค่าใช้จ่ายทั้งภาครัฐและภาคครัวเรือน

 ความร่วมมือระหว่างศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และบริษัทเมดโทรนิค จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยได้ทบทวนองค์ความรู้ ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะต่าง ๆ ข้างต้นได้ลึกซึ้งขึ้น  ซึ่งจะทำให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาเกี่ยวกับภาวะต่าง ๆ เหล่านี้มากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาความสามารถในการให้บริการ เพื่อเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลที่แพทย์จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มารับการฝึกอบรมให้สามารถกลับไปทำหัตถการต่าง ๆ ได้ตามแนวทางมาตรฐาน อันจะส่งผลให้การดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ที่รับผิดชอบมีประสิทธิภาพมากขึ้น