อินโดเยือนซินโครตรอนไทยร่วมสร้างบัณฑิตเครื่องเร่งอนุภาค
อินโดเยือนซินโครตรอนไทยหารือสร้างบัณฑิตเครื่องเร่งอนุภาค
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEgPAYKMFBO5oixAi2DwmD7muradr5VMsAR2hcQFJG1eYqy-O6qEDDri6B3RTGB2xNgUtDco4CAW4akQ9C-zSWqxOEcv6qoMdXekc6rhSqQPLO2wkHOgvcpSb_jZ4OnMFfnoKcmaY9yS-yA5jwY1sAmTeabjQciYiowZYVEqqEj9cYETiIGH5Fzoc7eGaw/w640-h360/%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84.jpg)
ผู้บริหารหน่วยงานวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติอินโดนีเซียเยือนสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) พร้อมหารือสามฝ่ายร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) สร้างบันฑิตเครื่องเร่งอนุภาค
นครราชสีมา – ดร.เอดี กีรี รัชมัน ปูตรา (Dr. Edy Giri Rachman Putra) รองประธานฝ่ายทรัพยากรบุคคลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ดร.ยาน ยาเรียนโน (Dr. Yan Yarianto) รองประธานฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานงานวิจัยและนวัตกรรม พร้อมคณะจากสำนักงานวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (National Research and Innovation Agency: BRIN) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มาเยี่ยมชมการดำเนินงานของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ระหว่างวันที่ 4-5 ตุลาคม 2565 โดยมี รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน คณะผู้บริหารและนักวิจัยของสถาบันฯ และคณะผู้บริหาร อาจารย์ มหาวิทยาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ให้การต้อนรับ
ดร.เอดี กีรี รัชมัน ปุตรา กล่าวแนะนำและให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการการพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศอินโดนีเซีย พร้อมทั้งได้แสดงความจำนงที่จะส่งนักวิจัยของ BRIN และนักศึกษามาศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาด้านฟิสิกส์ของเครื่องเร่งอนุภาคที่ มทส. โดยให้อาจารย์ของมหาวิทยาลัยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก และนักวิจัยของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนและ BRIN เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม และ BRIN ยังมีแผนการดำเนินการพัฒนากำลังคนทางด้านอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย อาทิ ด้านอาหาร สุขภาพ และเทคโนโลยีการเกษตรอีกด้วย
พร้อมกันนี้ คณะผู้บริหารสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนได้นำผู้บริหารและคณะจากอินโดนีเซียเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงสยาม เครื่องเร่งอนุภาคเพื่อผลิตแสงซินโครตรอน ห้องปฏิบัติการแม่เหล็กต้นแบบสำหรับเครื่องผลิตแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ขนาด 3GeV ซึ่งรับความสนใจอย่างดียิ่ง
สำหรับ BRIN เป็นองค์กรรูปแบบพิเศษด้านการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติของประเทศอินโดนีเซีย ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้โดยอยู่ภายใต้การกำกับของประธานาธิบดี และประกอบด้วย 48 หน่วยงานวิจัยของอินโดนีเซีย มีหน้าที่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงด้านนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมของประเทศอินโดนีเซีย