วช.นำวิจัยสู่ชุมชนความรู้พร้อมใช้ ส่งนวัตกรรม 3P ปุ๋ยคอกอัดเม็ดผสมจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ บนเวที NRCT TALK : ผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา
วช. ดันวิจัยสู่ชุมชนความรู้พร้อมใช้ ด้วยนวัตกรรม “3P ปุ๋ยคอกอัดเม็ดผสมจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์” ในเวที NRCT TALK : ผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา
นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ |
รศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ แห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา |
นายสุวิจักขณ์ ขาวทอง นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี |
นางสาวเทียนนภา รองพนัง นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี |
วันที่ 17 ตุลาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรมแถลงข่าว “เปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม By NRCT ภายใต้ชื่อ NRCT TALK : ผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ครั้งที่ 4” ด้วยนวัตกรรม “3P ปุ๋ยคอกอัดเม็ดผสมจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดกิจกรรมฯ ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้จัดให้มี “การประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษาประจำปี 2565” เพื่อสร้างและพัฒนาเยาวชนให้เป็นนักวิจัย/นักประดิษฐ์ที่มีคุณภาพและศักยภาพพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อบ่มเพาะความรู้ในการเป็นนักวิจัย/นักประดิษฐ์ พร้อมทั้งการสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนานวัตกรรมที่จะมุ่งไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และให้นิสิต นักศึกษาระดับอุดมศึกษามีเวทีนำเสนอผลงานนวัตกรรมที่มีศักยภาพให้สามารถเผยแพร่สู่สาธารณชนและการแข่งขันในเวทีระดับชาติและนานาชาติ อีกทั้งสร้างเครือข่ายด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ได้ร่วมนำเสนอภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 2 – 5 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยมีผลงานเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 155 ผลงาน จาก 33 สถาบัน ซึ่งผลงาน 3P ปุ๋ยคอกอัดเม็ดผสมจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เป็นอีก 1 ผลงานที่ได้รับรางวัลระดับดีเด่น ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร (ระดับปริญญาตรี) โดย นายสุวิจักขณ์ ขาวทอง และนางสาวเทียนนภา รองพนัง นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมี รศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ แห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ถือเป็นผลงานจากความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาให้ก้าวไปสู่เส้นทางการเป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณภาพ ศักยภาพ และกลายเป็นบุคลากรทางการวิจัยของประเทศต่อไป
รศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ และคณะ เปิดเผยว่า การเผาฟางและตอซังข้าว ก่อให้เกิดมลพิษปล่อยขึ้นสู่บรรยากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลง สมบัติของดินทั้งทางด้านกายภาพ เคมี ชีวภาพ เนื่องจากความร้อนจากการเผาฟางและตอซังข้าว จากปัญหาดังกล่าวจึงเกิดความคิดที่จะพัฒนาผลิตปุ๋ยเม็ดรักษ์โลกด้วยนวัตกรรม 3P ปุ๋ยคอกอัดเม็ดผสมจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ประกอบด้วย ฟางข้าว nanocellulose และจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ Bacillus subtilis TU-Orga1, Pseudomonas aeruginosa และ Trichoderma harzianum พร้อมเติมธาตุอาหารเสริมประสิทธิภาพต่าง ๆ รวมอยู่ใน 3P ปุ๋ยคอกอัดเม็ดผสมจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ โดยมีการทดสอบประสิทธิภาพของ 3P ปุ๋ยคอกอัดเม็ดในพืชต่าง ๆ เช่น ทุเรียน ส้มโอ และพริก พบว่าพืชให้ผลผลิตในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ปุ๋ยคอกจะอยู่ในรูปแบบอัดเม็ดแห้ง เมื่อพืชที่ใส่ปุ๋ย 3P ปุ๋ยคอกอัดเม็ดผสมจุลินทรีย์ได้รับน้ำจะเกิดการกระตุ้นและส่งเสริมการเจริญเติบโต พืชจะได้รับธาตุอาหารจากปุ๋ยคอกและจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเพิ่มธาตุอาหาร และกระตุ้นภูมิคุ้มกันของพืช ทำให้พืชเกิดความต้านทานต่อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันโรครากเน่าโคนเน่า นำไปสู่การผลิตพืชอาหารที่ปลอดภัยกับผู้บริโภค และยังช่วยฟื้นฟูบํารุงรักษาสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศให้คงอยู่ในสภาพที่สมดุล และเกษตรกรสามารถนำองค์ความรู้จากการทำ 3P ปุ๋ยคอกอัดเม็ด ผสมจุลินทรีย์ นำไป ผลิต เพื่อจัดจำหน่ายนำไปสู่การสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกร ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยเพื่อใช้ในชุมชน นับเป็นความรู้พร้อมใช้สู่ชุมชน เกษตรสร้างสุข วิถีพอเพียงด้วยนวัตกรรม “3P ปุ๋ยคอกอัดเม็ดผสมจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์”
กิจกรรมแถลงข่าว NRCT TALK : ผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ครั้งที่ 4 “เปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม By NRCT” จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชน ตลอดจนการผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น กิจกรรม ภารกิจ และผลการดำเนินงาน ของ วช. เพื่อให้สื่อมวลชนเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานและกิจกรรมของ วช. ไปสู่ชุมชนและสาธารณชนเพื่อให้ได้ทราบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไป