ADS


Breaking News

NRCT Talk ขยายผลงานส่งท้าย วันคล้ายวันสถาปนา 63 ปี วช.

 NRCT Talk คึกคักส่งท้าย วันคล้ายวันสถาปนา 63 ปี วช.

นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

     วันที่ 28 ตุลาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดเวทีเสวนา NRCT Talk เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 63 ปี เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่โดดเด่นมาแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัยไทย โดยมี นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการเสวนาฯ ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย ชั้น 1 อาคาร วช.1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร 

     โดยในวันนี้มีผลงานที่ร่วมเสวนาบนเวที NRCT Talk เป็นผลงานที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 4 ผลงาน ได้แก่

     ผลงานที่ 1 : การพัฒนาตำรับอาหารโต๊ะจีนเพื่อสุขภาพ ยกระดับในการให้บริการให้ปลอดภัย และการพัฒนารูปแบบการจัดการแบบเดลิเวอรี่ โดย ดร.จันทร์จนา ศิริพันธ์วัฒนา และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยคณะนักวิจัยได้พัฒนาสำรับอาหารโต๊ะจีนเพื่อสุขภาพ ซึ่งได้คัดเลือกรายการอาหารจำนวน 17 รายการ ปรับตำรับเพื่อให้เป็นรายการอาหารโต๊ะจีนเพื่อสุขภาพ จัดทำสำรับอาหารโต๊ะจีนเพื่อสุขภาพจำนวน 8 สำรับ โดยมีคุณค่าทางอาหารที่เหมาะสม ยกระดับในการให้บริการให้ปลอดภัย รวมทั้งพัฒนารูปแบบการจัดการอาหารโต๊ะจีนเพื่อสุขภาพแบบเดลิเวอรี่ โดยใช้บรรจุภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ และสร้างต้นแบบการบริหารจัดการธุรกิจโต๊ะจีนเพื่อสุขภาพแบบเดลิเวอรี่อย่างมีผลิตภาพสูง 

     ผลงานที่ 2 : การพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพแนวใหม่จากสาหร่ายอาร์โรรสไปร่า พลาเท็นซิส โดย ดร.สราวุธ สัตยากวี แห่งคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยผลงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการต่อยอดมาจากผลงานวิจัยที่มีอยู่เดิมซึ่งได้ทดสอบว่าโปรตีนไฮโดรไลเสท จากไฟโคไซยานินของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินสามารถฟื้นฟูกล้ามเนื้อจากความเครียดออกซิเดชันในระดับเซลล์จึงมีแนวคิดที่จะนำโปรตีนไฮโดรไลเสทที่พัฒนาขึ้นมาผลิตเป็นเครื่องดื่มฟื้นฟูร่างกายที่ทดสอบในระดับสัตว์ทดลองถึงการลดการสลายของกล้ามเนื้อ โดยการเสื่อมสลายของกล้ามเนื้อ เป็นปัญหาทั่วไปที่เกิดขึ้นกับคนทุกคนซึ่งส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหว การเหนื่อยล้า น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นและภูมิคุ้มกันลดลง ทั้งนี้ อัตราการสลายของกล้ามเนื้อขึ้นอยู่กับอายุ การออกกำลัง การเคลื่อนไหวในแต่ละวัน

     ผลงานที่ 3 : ผลิตภัณฑ์สิ่งทอแปรรูปจากผ้าพื้นเมืองด้วยเทคนิคการม้วนเส้นยืนและการย้อมสีจากธรรมชาติ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ อริยะเครือ และคณะ แห่งคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โดยเครื่องม้วนเส้นด้ายยืนที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นใหม่นี้ สามารถช่วยลดปัญหาการใช้พื้นที่ในการม้วนเส้นด้ายยืน ซึ่งการม้วนแบบเดิม จะต้องใช้พื้นที่เท่ากับความยาวของเส้นยืน ซึ่งความยาวของเส้นด้ายยืนโดยเฉลี่ยจะยาว 15 - 25 เมตร ในขณะที่ใช้อุปกรณ์วนเส้นด้ายยืนที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นใหม่ จะใช้พื้นที่ 4 - 5 เมตร การใช้เวลาในการม้วนลดจากเดิมถึง 2 เท่า ลดการใช้แรงงานจากเดิม 5 - 7 คน เมื่อเปรียบเทียบกับการม้วนเส้นไหมด้วยเครื่องที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นใหม่ จะใช้แรงงานเพียง 2 คนเท่านั้น

     ผลงานที่ 4 : นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศไทย โดย นายแพทย์ณัฐกร  จำปาทอง และคณะ แห่งกรมสุขภาพจิต เป็นการดำเนินการในรูปแบบความร่วมมือขององค์กรเครือข่ายทุกภาคส่วน มีรูปแบบการป้องกันการฆ่าตัวตายสำหรับกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย มีการเสริมสร้างวัคซีนใจในชุมชนเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับคัดกรองและประเมินความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย รวมถึงผลการประเมินโครงการการฆ่าตัวตายระดับชาติ

     สำหรับเวทีเสวนา NRCT Talk ที่จัดขึ้นในงานวันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 63 ปี ภายใต้แนวคิด “63 ปี วช. มุ่งสู่สังคมอุดมปัญญา พัฒนาไทย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพจากฝีมือนักวิจัยไทย โดยผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำมาร่วมเสวนาในเวทีนี้ได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการ ชิม ช็อป เพลิน เดินตลาดงานวิจัย ซึ่งมีผลงานวิจัยพร้อมใช้ประโยชน์มาจัดแสดงมากมาย ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารงานวิจัยและนวัตกรรมได้ที่ Website : www.nrct.go.th และ Facebook Fanpage : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ