ADS


Breaking News

วช. - สกสว. - อว. หนุนงานวิจัยรับมือแผ่นดินไหว หวังลดภัยพิบัติ

วช. - สกสว. - อว. หนุนงานวิจัยรับมือภัยธรณีพิบัติ ลดความเสี่ยง ลดสูญเสีย

รองศาสตราจารย์ ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ศาสตราจารย์ ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย แห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เครื่องวัดการสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว

     กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนทุนวิจัยโครงการการสร้างแบบจำลองระบบธรณีแปรสัณฐานของประเทศไทย เพื่อประเมินสภาวะความเค้นของธรณีภาคและความเสี่ยงแผ่นดินไหว ภายใต้ชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย และโครงการการศึกษาแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวของประเทศไทย และการกำหนดตำแหน่งและประเมินผลกระทบของรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวในเขตเมืองจากการตรวจวัดแผ่นดินไหว 

     รองศาสตราจารย์ ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวจังหวัดแพร่เกิดในบริเวณที่มีกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังเถินพาดผ่าน ซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวมาแล้วหลายครั้ง เช่น แผ่นดินไหวขนาด 5.0 ที่อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ในปี 2538 และแผ่นดินไหวขนาด 2-3 ในช่วงปี 2560-2562 ที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ห่างจากแผ่นดินไหวปัจจุบันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 70 กิโลเมตร ส่วนแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงใหม่เกิดในบริเวณที่มีกลุ่มรอยเลื่อนมีแม่ทาพาดผ่าน ซึ่งมีแผ่นดินไหวมาโดยตลอดโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แผ่นดินไหวครั้งสำคัญมีขนาด 5.1 ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2549 สร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง

     ศาสตราจารย์ ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย แห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าว่า ฝั่งตะวันตกของประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนลงมามีรอยเลื่อนที่มีพลังมาก แม้จะสะสมพลังงานช้าแต่มีศักยภาพทำให้สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้สูงถึง 7 ริกเตอร์ คณะวิจัยจึงได้นำข้อมูลมาแปลงเป็นแผนที่เสี่ยงภัยเพื่อหามาตรการรองรับที่เหมาะสม เช่น ออกแบบอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหว จำกัดพื้นที่ควบคุม 10 จังหวัดตั้งแต่อาคาร 3 ชั้นขึ้นไป บังคับใช้อาคารสาธารณะ อาคารสำคัญ อาคารเก็บวัสดุอันตราย และอาคารทั่วไปที่สูงเกิน 15 เมตร หลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 6.3 ที่จังหวัดเชียงรายเมื่อปี 2557 เป็นเหตุให้อาคารถล่มกว่าหมื่นหลังทั้งบ้าน วัด โรงเรียน คณะวิจัยได้เข้าไปเสริมกำลังด้วยโครงสร้างเหล็กให้โรงเรียนนำร่อง 7 โรงเรียน ใช้งบประมาณ 1 ใน 7 ของการสร้างใหม่ ภายใต้ความร่วมมือของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของไทย รวมทั้งมหาวิทยาลัยนานยาง ประเทศสิงคโปร์ และหน่วยงานของไต้หวัน

     ทางด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงใหม่มีระยะทางห่างจากอาคารโรงพยาบาลในเขตอำเภอเมืองประมาณ 15 กิโลเมตรจากการวิเคราะห์สัญญาณการโยกตัวของอาคารที่ตรวจวัดได้จากอุปกรณ์ราคาประหยัด ซึ่งคณะวิจัยได้ติดตั้งไว้ภายในอาคารโรงพยาบาล พบว่าค่าความเร่งที่ตรวจวัดได้บ่งชี้ว่าอาคารมีการสั่นสะเทือนที่มีความรุนแรงพอที่ประชาชนที่อยู่ในอาคารอาจจะรู้สึกการสั่นสะเทือนได้ แต่ยังไม่ถึงระดับที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่อาคารได้ ทั้งนี้คณะทีมวิจัยพยายามพัฒนาระบบที่สามารถประเมินความปลอดภัยของอาคารสำหรับการให้ข้อมูลผู้ใช้งานอาคารเกิดความมั่นใจ และสามารถใช้งานอาคารได้ทันทีหลังเกิดเหตุการณ์ภัยแผ่นดินไหว 

     สำหรับชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย และโครงการการศึกษาแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวของประเทศไทย และการกำหนดตำแหน่งและประเมินผลกระทบของรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวในเขตเมืองจากการตรวจวัดแผ่นดินไหว มี ศาสตราจารย์ ดร.นคร ภู่วโรดม แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก วช. ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม