ADS


Breaking News

63 ปี วช.ถอดบทเรียน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ นักวิจัย สู่การพัฒนาพรรณไม้ดอกไม้ประดับไทย ผงาดในเวทีโลก คึกคัก

63 ปี วช.จัดเวทีเสวนา ถอดบทเรียน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ นักวิจัย สู่การพัฒนาพรรณไม้ดอกไม้ประดับไทย ผงาดในเวทีโลก
นางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
     สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดเวทีเสวนา อัศจรรย์นานาพรรณไม้ดอกไม้ประดับ เนื่องในวันคล้ายสถาปนา วช.ครบรอบ 63 ปี เป็นวันที่สอง เมื่อ 26 ตุลาคม 2565 ภายใต้แนวคิด “ 63 ปี วช. มุ่งสู่สังคมอุดมปัญญาพัฒนาไทย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม “ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ในการผลักดันอุตสาหกรรมไม้ดอกไม้ประดับสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จากงานวิจัย
     โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม1 เป็นประธานเปิดเสวนา
     นางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเปิดงานว่า ในโอกาสที่ วช.ครบรอบ 63 ปี เวทีเสวนาครั้งนี้ ถือเป็นอีกกิจกรรมที่สำคัญต่อกลุ่มงานด้านการเกษตร เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ค้นพบพืชพันธุ์ใหม่ ที่มีชื่อว่า เหลืองปิยะรัตน์ เป็นพืชกลุ่มกระดังงา บ่งบอกให้เห็นว่าประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งการมีพืชพันธุ์ใหม่ๆ จะเป็นการสร้างรายได้ฐานรากทางเศรษฐกิจ กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับให้ความสำคัญกับการคัดเลือกพันธุ์ การพัฒนาการเกษตร การปลูก การเก็บเกี่ยว ไปจนถึงการใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก วช.ในการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน
     รศ.ดร.พีรนุช จอมพุก หัวหน้าศูนย์วิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อการพัฒนาพันธุ์พืชมานานแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นการฉายรังสีแกมม่า เพื่อให้เกิดการกลายพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ เช่น การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนี่ยว กข.6 โดยการฉายรังสี  นอกจากนี้ยังมีไม้ผล เช่น ส้มไร้เมล็ด และไม้ดอกไม้ประดับอีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากตลาดไม้ดอกไม้ประดับมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามความชอบของผู้บริโภค  เทคโนโลยีนิวเคลียร์จะเข้ามาตอบโจทย์ให้กับสายพันธุ์ที่ดีอยู่แล้วแต่เราอยากได้พันธุ์ที่แปลกไปจากเดิม เช่น เปลี่ยนสีดอก หรือ เปลี่ยนฟอร์มดอก หรือ ถ้าเป็นไม้ใบก็เปลี่ยนสีใบให้เป็นไม้ด่าง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเป็นเทรนด์ที่มีคนสนใจกันมาก ในช่วงโควิด-19 คนหันมาปลูกต้นไม้ และเป็นเทรนด์ว่าอะไรที่ด่างจะมีราคา จนต้องยอมรับว่าศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีผู้มาขอใช้บริการเป็นจำนวนมากในเรื่องนี้ โดยศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ฯ มีความร่วมมือกับ วช. ในการให้องค์ความรู้และมีการฝึกปฏิบัติในการนำพืชมาฉายรังสี เพื่อจะให้ได้พันธุ์ใหม่ๆ เกิดในตลาดต่อไป โดยขณะนี้ค่าบริการยังเป็นราคาเดิมซึ่งไม่มากมาย และพืชที่ผ่านการฉายรังสีมีความปลอดภัย เพราะปริมาณรังสีน้อยมาก
     ดร.นุชรัฐ บาลลา อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เข้าไปพัฒนาพันธุ์ไม้ดอก เบญจมาศและลีเซียนทัส โดยลีเซียนทัสเป็นไม้ดอกที่ประเทศไทยไม่มีการปลูก แต่ถูกนำมาใช้ในงานอีเว้นท์เป็นจำนวนมาก ขณะนี้เราสามารถพัฒนาจนสามารถนำพืชทั้ง 2 ชนิดไปปลูกในภาคเหนือและในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะที่เบตง จ.ยะลา อุณหภูมิเหมาะสม ไม่ต้องทำนอกฤดูกาล คาดหมายว่าเดือนมกราคม 2566 จะได้เห็นดอกไม้สายพันธุ์นี้ที่เบตง เป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้  ส่วนที่จังหวัดเลย เกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกภูเรือต้องการขายไม้ดอกได้ราคาดีกว่าที่ผ่านมา จึงได้แนะนำลีเซียนทัสไปทดลองปลูกเป็นไม้กระถางและไม้ตัดดอก เกษตรกรสามารถขายได้กระถางละ 100-150 บาท สร้างรายได้ในปีที่ผ่านมาถึง 60,000 บาทจากต้นทุน 20,000 บาท โดยลูกค้าจะนำไม้กระถางไปตกแต่งสวน ลักษณะฟอร์มดอก และสีสันแปลกตา คนไม่ค่อยรู้จัก ทำให้ขายได้ราคาดี จนปีนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพิ่มจาก 3 รายเป็น 20 ราย
     ด้านผู้ประกอบการที่เข้าร่วมเสวนาต่างมีมุมมองที่ต่างออกไปอย่างน่าสนใจ โดย นายภูเบศร์ เจษฎ์เมธี รองประธานสภาดอกไม้โลก ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ผู้ประกอบการอยากจะเห็นนักวิจัยสนองความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์จากดอกไม้ ไม่ใช่ปรับปรุงพันธุ์แต่เพียงอย่างเดียว ให้คิดถึงผู้ใช้งาน สายพันธุ์อาจไม่ต้องดีเลิศ ต้นน้ำ กลางน้ำ ควรจะช่วยเติมเต็ม ปลายน้ำ ให้แก่ผู้ประกอบการจะดีกว่า
     “เราอยากได้ดอกกล้วยไม้ หรือ ดาวเรืองที่มีก้านตรง หรือ ถ้าผลิตดาวเรืองที่มีก้านแข็งแรงไม่ต้องเสียบไม้จิ้มฟัน เราก็ยินดีจ่าย แต่นักวิจัยไม่เคยมาถาม เราไม่เคยพบกัน เหมือนในต่างประเทศที่จะพบกันตามงาน Flower Show แต่ของเรายังไม่เคยมีงานใหญ่ขนาดนั้น ทั้งที่ กทม. เคยคิดจะจัดงานไม้ดอกไม้ประดับ การเจอกันอย่างงานที่ วช. ทำนับเป็นแพลตฟอร์มที่ดีที่ทำให้นักวิจัยและผู้ประกอบการได้พบกัน และมีปฏิสัมพันธ์กันต่อไป และอยากให้นักวิจัยเปิดใจ ทำงานให้เร็วฉับไว ส่วนเรื่องการตลาด ไม่ควรจะปล่อยให้เป็นเรื่องของกลไกตลาด เกษตรกรควรจะเป็นคนคิดเองได้ว่าจะขายอะไรดี อย่างที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ จะใช้หลัก สร้าง Original คือ ความเป็นของแท้ดังเดิม สร้างความแตกต่าง จะขายของเดิมไม่ได้ต้องหาความแปลกใหม่ สร้างความยั่งยืน Sustainable ไม่ใช่แค่ปลูกได้ขายได้ แต่ต้องทำให้กลับมาซื้อซ้ำ ความยั่งยืนที่แท้จริงของเราที่ทุกประเทศยอมรับคือ ดอกไม้ไหว้พระ มาลัยดอกไม้ซึ่งขายได้ตลอดกาล และสุดท้าย คือตอบโจทย์ Customer Oriental ตลาดเป็นของผู้ใช้ ” และงานวิจัยต้องตอบโจทย์ รวดเร็ว อย่านาน 3-6 เดือนต้องเสร็จ ไม่ใช่ 3-5 ปี ต้องให้ทันเทรนด์ ทันความต้องการของตลาด
     ขณะที่นางณวิสาร์ มูลทา เจ้าของ Love Flower Farm จ. เชียงใหม่ ให้ทัศนะว่า จากงานวิจัย 3 ปี ได้เริ่มผลิตดอกไม้มากขึ้นโดยเลือก มาร์กาเร็ต และคัตเตอร์ ซึ่งเป็นไม้ดอกมหัศจรรย์ที่นำไปใช้ในงานแต่งงานในปริมาณมาก และเป็นการใช้ครั้งเดียวทิ้ง เราสามารถหาช่องทางจากดอกไม้ทั้ง 2 ชนิดได้มากมาย จนปัจจุบันผลิตดอกไม้ใน 5 อำเภอ ในจังหวัดเชียงใหม่ บนพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ ครึ่งหนึ่งเป็นคลัสเตอร์ แต่ปริมาณยังไม่เพียงพอกับความต้อง การซึ่งก่อนโควิด-19 มีความต้องการมากถึง 800,000 กิโลกรัมต่อปี ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลาย ความต้องการของตลาดน่าจะสูงขึ้นกว่านี้มาก นอกจากนี้ ยังเปิดการท่องเที่ยวเป็นท่องเที่ยวชุมชน ที่ Love Flower Farm จ. เชียงใหม่ โดยฤดูท่องเที่ยวจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ มีคนขอเข้าเยี่ยมชมถึง วันละ 5,000 คน แต่รองรับได้แค่ 400 คน ต้องจำกัดคนเข้าชม
     “สิ่งที่อยากจะฝากก็คือ การแบ่งปัน และการนำศิลปะเข้ามาสู่ชุมชน เราพัฒนาทั้งเรื่องกลิ่นดอกไม้ เป็นกลิ่น I Love Flower Farm และยังมีเพลง ของที่ระลึก ขนมที่มาแล้วจะไม่ซ้ำกัน ดอกไม้จึงเป็นความภาคภูมิใจของเรา “
     ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ จันจุฬา กล่าวว่า การเสวนาในวันนี้ ทำให้นักวิจัยและผู้ประกอบการซึ่งไม่ค่อยได้เจอกัน จึงเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้กับนักวิจัย ผู้ประกอบการและผู้ใช้ประโยชน์จากดอกไม้ได้มาเจอกันในงาน ซึ่งโดยปกติแล้ว งานวิจัยทำแล้วจะขึ้นหิ้งแต่การตลาดจะไปไม่ได้ เราไม่สามารถออกสู่ชุมชนผู้ใช้หรือท้องถิ่นได้โดยตรง การพบกันแบบนี้ก็จะทำให้เรารู้ว่า เทรนด์ดอกไม้จะเป็นแบบไหน การใช้งานในอนาคตจะเป็นอย่างไร เพื่อเป็นโจทย์มารองรับงานวิจัยที่จะเกิดมา เพราะไม้ดอกเป็นสินค้าแฟชั่น เปลี่ยนแปลงได้ทุกฤดูกาล และตลอดเวลา ทั้งการทำไม้กระถางและการท่องเที่ยว ดังนั้นการมาพบกันครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเชื่อมโยงกัน ระหว่างนักวิจัย ผู้ประกอบการ และนักการตลาด ความสวยของดอกไม้นักวิจัยอาจมองว่าสวยแต่การตลาดไปไม่ได้ ดังนั้นเวทีนี้จึงมีความสำคัญอีกเวทีที่จะตอบโจทย์งานวิจัยได้เป็นอย่างดี