ADS


Breaking News

ขบวนการแก้จน การ์ตูนแอนิเมชั่น เปิดตัวแล้ว โดย คณะยอดชายนายศุขเล็ก แถลงข่าวคึกคัก

เรื่องราวสนุกสนานที่เกิดขึ้นในบ้านสวนริมคลองของ “นายศุขเล็ก” กับสมาชิกในบ้าน “สุขี” “คำหล้า” และ “ด่าง”
     วันนี้ (19 ต.ค.) ณ ร้านอาหาร ตะลิงปลิง ซอยสุขุมวิท 34 กรุงเทพฯ มูลนิธิประยูร จรรยาวงษ์ โดยนายศุขเล็ก จรรยาวงษ์ ได้จัดงานแถลงข่าว เปิดตัวการ์ตูนแอนิเมชั่น ชุด ขบวนการแก้จน ซึ่งสร้างมาจากแนวคิดของการ์ตูนลายเส้น ผลงานของนายประยูร จรรยาวงษ์ ในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งเป็นคอลัมน์การ์ตูนให้สาระความรู้เรื่องอาหารไทย ภูมิปัญญาไทย และสร้างแรงบันดาลใจในการทำมาหากิน ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและมีความสุข

 โครงการแอนิเมชั่น ขบวนการแก้จน อำนวยการสร้างโดยมูลนิธิประยูร จรรยาวงษ์  นายศุขเล็ก จรรยาวงษ์ รองประธานกรรมการมูลนิธิฯเปิดเผยว่า มูลนิธิฯ มีวัตถุประสงค์ที่จะผลิตและเผยแพร่การ์ตูนชุดขบวนการแก้จน จากสื่อเดิมที่เป็นลายเส้นขาวดำบนหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มาเป็นสื่อดิจิทัล ในรูปแบบการ์ตูนแอนิเมชั่น ให้เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน 

เพื่อจะได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเด็กเยาวชนและผู้รับชมทั่วไป ให้หันมาสนใจอาหารไทย อีกทั้งยังส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจ สร้างความภูมิใจในอาหารไทย เพื่อสืบสานวัฒนธรรมอาหารไทย  และวัฒนธรรมการกินของคนไทยให้สามารถต่อยอดการพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืน  

โครงการการ์ตูนแอนิเมชั่น ขบวนการแก้จน ชุดนี้ ได้รับทุนสนับสนุนประเภทความร่วมมือประจำปี 2565 จากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  ดร. ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนฯได้กล่าวว่า  กองทุนมีพันธกิจในการสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิด “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ให้กับสังคมไทย  อีกทั้งสร้างนวัตกรรมสื่อแบบต่างๆ เพิ่มเนื้อหานิเวศสื่อที่ดีและเป็นทางเลือกในการรับรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์  ได้มากขึ้น

 สำหรับโครงการแอนิเมชั่น ขบวนการแก้จน นั้นสอดคล้องกับกลยุทธ์ของกองทุนในด้านการส่งเสริมให้มีสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง ในเรื่องของการส่งเสริมและสืบสานวัฒนธรรมการกินของคนไทยไปสู่กลุ่มเป้าหมาย เด็กและเยาวชน ตลอดจนผู้รับชมทั่วไป โครงการนี้จึงเป็นหนึ่งผู้ได้รับทุนในปี 2565 

ในเรื่องช่องทางการเผยแพร่ การ์ตูนแอนิเมชั่น ชุด ขบวนการแก้จน มูลนิธิฯ มีความเห็นว่า เนื่องจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นสื่อแรกที่การ์ตูนขบวนการแก้จน ได้พิมพ์เผยแพร่และได้รับความนิยมยาวนานกว่า 20 ปี  ดังนั้น เมื่อจะผลิตออกมาใหม่โดยเปลี่ยนมาสู่สื่อดิจิทัล จึงควรที่จะคงสายสัมพันธ์ของการ์ตูน ขบวนการแก้จน ไว้กับไทยรัฐ จึงได้เสนอต่อทางสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ช่อง 32 เพื่อหาเวลาออกอากาศให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารไทยรัฐทีวีเป็นอย่างดี และกำหนดให้เวลาออกอากาศเป็นทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ตอนแรก จะเริ่มในวันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2565  

 คุณจิตสุภา วัชรพล เจ้าหน้าที่บริหารสายงานกลยุทธ์และการตลาด สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ได้กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ในนามของไทยรัฐทีวี มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ทางมูลนิธิประยูร จรรยาวงษ์ ซึ่งได้รับทุนผลิตและเผยแพร่ในรูปการ์ตูนแอนิเมชั่น ขบวนการแก้จน จากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะนำการ์ตูนขบวนการแก้จน มาออกอากาศทางไทยรัฐทีวี ซึ่งได้จัดเวลาออกอากาศในวันเสาร์เวลา 10.55-10.57 น. และวันอาทิตย์เวลา 10.51-10.53 น. ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว นับว่าเป็นเวลาสำหรับครอบครัว ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทุกเพศทุกวัย จึงคาดหวังว่าจะมีผู้รับชมจำนวนมากทั้งในกรุงเทพมหานครปริมณฑลและจังหวัดอื่นๆ

ขอเชิญติดตามรับชม ความสนุกสนานและสาระดีๆ ได้กับ แอนิเมชั่น “ขบวนการแก้จน” กับ “นายศุขเล็ก”และสมาชิกในครอบครัว ได้ทางไทยรัฐทีวี เอชดี 32 ทุกเช้าวันเสาร์ และวันอาทิตย์ เริ่มเทปแรก วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2565 นี้ และสามารถติดตามรับชมการฉายซ้ำได้ทาง Facebook.com/SooklekCartoon

ศุขเล็ก  สุขี  คำหล้า


การ์ตูนแอนิเมชั่น ขบวนการแก้จน อำนวยการผลิตโดย มูลนิธิประยูร จรรยาวงษ์

โดยการสนับสนุนของ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

แนะนำตัวละคร .......ศุขเล็ก

ชายหนุ่มวัยสามสิบเศษที่ค่อนข้างจะขี้อายและหวงความโสด รักธรรมชาติ และชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายแบบไทย สมัยก่อนยุคที่อินเตอร์เน็ตจะเกิด เขาไม่ได้ปฏิเสธหรือกลัวเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ทว่าเขาพอใจที่จะอยู่แบบเดิมๆสมัยคุณตาคุณยาย เพราะเชื่อว่าความสุขเกิดก็ได้ในการใช้ชีวิตแบบธรรมดา เขารักในการทำและกินอาหารไทย ใช้วัตถุดิบจำพวกพืชผักที่ปลูกไว้เองในบริเวณบ้านสวน รวมถึงการเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ไว้เพื่อกินไข่ เขาเชื่อในภูมิปัญญาไทยเรื่องกินอาหารเป็นยา และใช้วัตถุดิบตามฤดูกาลซึ่งจะดีต่อสุขภาพ เขาพยายามที่จะสอนให้หลานชายวัย ๙ ขวบ ให้เรียนรู้และซึมซับภูมิปัญญาเรื่องอาหารไทย ไปในตัว ด้วยโดยการสอนแบบไม่เป็นทางการ หรือเรียนด้วยการเล่นสนุก


คำหล้า

สาวน้อยจิตใจดี พื้นเพเป็นคนอีสาน ที่พ่อแม่ฝากให้มาอยู่ที่บ้านสวนเพื่อช่วยทำงานบ้าน และเป็นเพื่อนเล่นกับน้องสุขี และได้มีโอกาสเรียนหนังสือ กศน. ไปด้วยเพื่อมีอนาคตในวันข้างหน้า 

เป็นคนที่มีความกตัญญู รักพ่อแม่ ผู้มีพระคุณ แต่เธอก็ยังมีความเอะอะโวยวาย กระต่ายตื่นตูม และซุ่มซ่ามแถมมาด้วย จึงนำเสียงหัวเราะมาสู่ครอบครัวนี้เสมอ 

เธอมีวิธีคลายความคิดถึงบ้านและพ่อแม่  ด้วยการปรุงอาหารใส่ “ปลาร้า” ที่แม่มักทำใส่กระปุกส่งมาให้กินเสมอ จน“ปลาร้า” กลายเป็นซิกเนเจอร์ ลายเซ็นประจำตัวเธอที่จะขาดไม่ได้ในอาหารทุกมื้อ


สุขี

หนุ่มน้อยวัย ๙ ขวบที่โตมากับเทคโนโลยีทั้งอินเตอร์เน็ต เกมออนไลน์ และทีวีดิจิทัล ช่วงปิดเทอมก็ได้มาอยู่ที่บ้านสวนกับอาศุขเล็กผู้ใจดี และพี่คำหล้าที่ช่วยดูแล

“สุขี” ตื่นเต้นที่ได้มีที่วิ่งเล่น ปีนต้นไม้ ว่ายน้ำคลอง กระโดดท้องร่อง ท่ามกลางธรรมชาติในสวน 

อาศุขเล็กคอยสอนเขาให้เรียนรู้ หัดทำอาหารไทยๆ ตามที่ได้สืบทอดกันมา และได้เรียนรู้ภูมิปัญญาอาหารไทย รวมทั้งสอนการปลูกพืชผักสวนครัว  ปลูกพืชเลื้อยเกาะรั้ว ไว้เก็บมาปรุงอาหารกินได้ตามใจชอบด้วย ทำให้สุขีเกิดความภูมิใจ


ด่าง

สุนัขไทย พันธุ์ทางตัวผู้ ที่ศุขเล็กสงสาร เก็บมาเลี้ยงตั้งแต่เล็ก เจ้าด่างมีนิสัยทะเล้น ฉลาด แสนรู้ แต่ขี้ตกใจ ฟ้าร้องทีไรเป็นต้องมุดหัวหลบภัยอยู่เสมอ เจ้าด่างกลายเป็นสมาชิกของครอบครัวโดยปริยาย มีหน้าที่คอยเตือนภัย ส่งเสียงเห่า เมื่อเห็นคนแปลกหน้าเข้ามาในสวน  แต่เจ้าด่างก็มักจะแอบนอนงีบอยู่บ่อยๆ  เจ้าด่างมักจะต้องรับหน้าที่เป็นเพื่อนวิ่งเล่นกับ “สุขี” ทั้งยังเป็นตัวป่วนของคำหล้าเสมอ แต่ทุกคนในบ้านก็รักใคร่กลมเกลียวกันดี 

--------------------

ประยูร จรรยาวงษ์

ในช่วงชีวิต ๕๘ ปีของการเป็นนักเขียนการ์ตูน เขาได้สร้างผลงานการ์ตูนมากมายหลากหลายประเภท นับหมื่นภาพ ทั้งภาพล้อสังคม เศรษฐกิจและการเมือง เขียนการ์ตูนลิเกเรื่องยาวจากวรรณคดี ชาดก และนิทานพื้นบ้าน วาดการ์ตูนภาพประกอบคอลัมน์ต่างๆและหนังสือสำหรับเด็ก ฯลฯ

     เขาคือผู้สร้างตัวการ์ตูน “นายศุขเล็ก” ให้มีชีวิต และมีชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ “นายศุขเล็ก” ผู้เป็นทั้งพระเอกลิเก เจ้าของคณะยอดชายนายศุขเล็ก นักเขียน นักวิจารณ์การเมือง จึงเป็นเสมือนตัวแทนความรู้สึกนึกคิดของนายประยูร จรรยาวงษ์ ตลอดมา “นายศุขเล็ก” จึงแสดงออกถึงการใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายสอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ รักการทำอาหาร ชอบการปลูกต้นไม้และเลี้ยงสัตว์

กำเนิดการ์ตูน “ขบวนการแก้จน”     

ในพ.ศ. ๒๕๑๕ ประยูร จรรยาวงษ์ เขียนภาพล้อการเมืองและสังคมให้กับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ  แต่มีเหตุการณ์ที่ทำให้เขาต้องหยุดเขียนการ์ตูนล้อการเมืองไปชั่วคราว ประยูรจึงนำประสบการณ์และความรู้ที่เขามีเกี่ยวกับการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ทำอาหาร และการใช้ชีวิตแบบไทยๆ มาเขียนแทน  โดยตั้งชื่อคอลัมน์ใหม่นี้ว่า “ขบวนการแก้จน”

ในความหมายของประยูร “ความจน” มิได้ตรงข้ามกับ “ความรวย” ซึ่งเป็นความหมายในทางเศรษฐกิจ แต่เขาหมายถึง “ความจน” ในทางอื่นด้วย เช่น “จนใจ”  “จนปัญญา” 

ประยูรเคยเขียนไว้ว่า.... “จนทรัพย์ ไม่อาภัพเท่า จนใจ” 

จนทรัพย์ หมายถึงขาดแคลนทางวัตถุ แต่ “จนปัญญา” “จนใจ” “จนแต้ม” หมายถึงขาดแคลนความรู้ และกำลังใจที่จะต่อสู้กับชีวิต 

  “นายศุขเล็ก” ในการ์ตูน ขบวนการแก้จน จึงมาช่วยชี้แนะ กระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดกำลังใจ โดยมีความขยันหมั่นเพียร ฟันฝ่าอุปสรรค และให้ความรู้ด้านการทำอาหาร การเกษตร และเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นแนวทางไปทำอาชีพต่างๆ 

เมื่อการ์ตูน “ขบวนการแก้จน” ปรากฏออกสู่สายตาคนอ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คอลัมน์นี้ได้รับความนิยมจากผู้อ่านเป็นจำนวนมาก มีผู้สนใจเขียนจดหมายมาสอบถาม ขอความรู้ คำแนะนำต่างๆ เพื่อนำไปประกอบอาชีพหรือ ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันมากมาย “ขบวนการแก้จน” จึงเป็นหนึ่งในคอลัมน์ยอดฮิตในไทยรัฐอย่างยาวนาน

ในปี ๒๕๑๙-๒๕๒๑ ประยูร จรรยาวงษ์ ตัดสินใจรวบรวมการ์ตูนชุดนี้จัดพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือพ็อกเกตบุ๊ก จำนวน ๘ เล่ม ตามคำเรียกร้องของผู้อ่าน และได้รับความนิยมมากจึงมีการพิมพ์ซ้ำหลายครั้งด้วยกัน


เกียรติคุณที่ได้รับการยกย่อง

   ในปี ๒๕๔๐ ศูนย์วิจัยสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประกาศว่า หนังสือ “ขบวนการแก้จน” ชุดที่ประยูร จรรยาวงษ์ เป็นผู้รวบรวมจัดพิมพ์ ได้รับคัดเลือกให้เป็น ๑ ในหนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน  

ต่อมาในปี ๒๕๖๒ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศยกย่องว่า หนังสือ “ขบวนการแก้จน” โดยประยูร จรรยาวงษ์ เป็นหนึ่งในสารคดีวรรณกรรมยอดเยี่ยมในสมัยรัชกาลที่ ๙ ตามแนวคิดศาสตร์พระราชา