ADS


Breaking News

ทีมวิจัย ม.นเรศวร ปลื้ม! คว้ารางวัลนำเสนอผลงานดีเด่นภาคบรรยาย “ความหลากหลายทางชีวภาพของมันป่าทรัพยากรไทยสู่ความมั่นคงทางอาหาร”

     ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร(พุทธพงษ์ สร้อยเพชรเกษม , เชิดศักดิ์ ทัพใหญ่ , พีระศักดิ์ ฉายประสาท) ได้รับรางวัลนำเสนอผลงานดีเด่นภาคบรรยาย “ความหลากหลายทางชีวภาพของมันป่าทรัพยากรไทยสู่ความมั่นคงทางอาหาร” ในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ ทรัพยากรไทย : 30 ปี อพ.สธ. ประโยชน์แท้ แก่มหาชน“ ระหว่างวันที่ 19 – 25 กันยายน 2565 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท

ความหลากหลายทางชีวภาพของมันป่าทรัพยากรไทยสู่ความมั่นคงทางอาหาร

Biodiversity of Wild Yam (Dioscoreaceae), Thai resources for Food Security

โดย

พุทธพงษ์ สร้อยเพชรเกษม, เชิดศักดิ์ ทัพใหญ่, พีระศักดิ์ ฉายประสาท

คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร

บทคัดย่อ

การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของมันป่าหรือพืชวงศ์กลอย (Dioscoreaceae) ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ทำการสำรวจจำแนกชนิดของมันป่า โดยพบ 13 ชนิด ได้แก่ กลอย (D. hispida Dennst.) มันกะทาด (D. wallichii Hook.f.)  กลิ้งกลางดง (D. bulbifera L.) มันดง (D. glabra Roxb.) มันแดงดง (D. brevipetiolata Prain & Burkill) มันเทียน (D. filiformis Blume) มันแซง (D. oryzetorum Prain & Burkill) มันเลือด (D. alata L.) ยั้ง (D. birmanica Prain & Burkill) มันหนอน (D. arachidna Prain & Burkill) มันหนอนใบเกลี้ยง (D. craibiana Prain & Burkill) มันมือเสือ (D. esculenta (Lour.) Burkill) และมันคันขาว (D. pentaphylla L.) มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่พื้นที่ราบไปถึงพื้นที่ความสูงที่ระดับ 1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีการใช้ประโยชน์ 7 ชนิด โดยแบ่งเป็นการใช้ประโยชน์ทางอาหาร 5 ชนิด ได้แก่ กลอย มันเลือด มันแซง มันมือเสือ และมันคันขาว และมีการใช้ประโยชน์ทางเภสัชกรรม 2 ชนิด ได้แก่ กลิ้งกลางดงและยั้ง มันป่าส่วนใหญ่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง สำหรับมันป่าที่มีหัวขนาดใหญ่ เช่น มันเลือด มันพร้าว ใช้ทำอาหารคาวและของหวาน โดยบวดหรือนึ่งกับแป้งข้าวเจ้า อีกชนิด คือ กลอย นิยมใช้ผสมในขนมหรือใช้เป็นแป้งทำอาหาร สำหรับมันป่าชนิดที่มีหัวขนาดเล็ก เช่น มันมือเสือ มันแซง นิยมใส่ในแกงเลียงและนึ่งใส่น้ำตาลเป็นของหวาน และมันคันขาวใช้หัวอากาศมาบริโภค ในส่วนของมันป่าชนิดที่น่าสนใจ ได้แก่ มันแซง หัวทรงกลม เนื้อสีขาว ลำต้นไม่มีหนาม สามารถทยอยเก็บเกี่ยวได้ ทนต่อน้ำท่วมระยะสั้น ปลูกและดูแลรักษาง่าย แมลงศัตรูพืชมีน้อย เริ่มมีการนำมาปลูกในระบบเกษตรกรรม ในส่วนของกลอยนิยมใช้บริโภคแต่มีสารพิษในหัวต้องผ่านกระบวนการล้างสารพิษให้สะอาดก่อนจึงนำไปบริโภคได้ ซึ่งกลอยและมันมือเสือบางพันธุ์ที่มีหนามแหลมจะปลูกไว้ห่างจากที่อยู่อาศัย หรือป่าชุมชน หรือในสภาพธรรมชาติ พืชสกุลมันป่าเป็นพืชที่ควรอนุรักษ์ ส่งเสริมความรู้การใช้ประโยชน์ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต


คำสำคัญ ความหลากหลายทางชีวภาพ, มันป่า, ความมั่นคงทางอาหาร


           บทนำ

ประเทศไทยอยู่ในเขตอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือ มีความหลากหลายของระบบนิเวศน์ของป่าหลายประเภท มีพรรณพืชหลากหลายชนิด ในปัจจุบันพื้นที่ป่ามีจำนวนลดลงจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ล้วนทำให้พรรณพืชที่มีการใช้ประโยชน์มีน้อยหรือถูกทำลายลง การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพมันป่าเป็นการสำรวจและศึกษาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพืชที่มีในท้องถิ่น ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงมีพระราชดำริและดำเนินงานหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ เช่น โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (อพ.สธ.) และการจัดตั้งธนาคารพืชพรรณ ทรงสนับสนุนให้มีการรวบรวมพันธุ์พืชเฉพาะถิ่น พืชหายากและใกล้สูญพันธุ์ ตลอดจนประโยชน์ของพืชชนิดต่าง ๆ การทำเกษตรกรรม การแผ้วถางเพื่อปลูกพืชและภัยจากธรรมชาติ ล้วนแต่ทำให้พื้นที่ป่าแหล่งอาศัยมีจำนวนลดลง การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดมันป่าและการนำมาใช้ประโยชน์เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยในการอนุรักษ์ทรัพยากรพืชดังกล่าว

มันป่าหรือพืชวงศ์กลอย (Dioscoreaceae) อยู่ในสกุล Dioscorea วงศ์ Dioscoreaceae ลักษณะลำต้นเลื้อยพัน ใบเลี้ยงเดี่ยว ดอกแยกเพศต่างต้น ทั่วโลกมีจำนวนประมาณ 350-440 ชนิด (Caddick et al, 2002 ; เกศริน, 2556) มีการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งเป็นพืชอาหารและพืชสมุนไพร โดยชนิดที่รับประทานเป็นอาหารได้ทั่วโลกมีรายงานประมาณ 60 ชนิด (Martin, 1974 ; เกศริน, 2556) สำหรับในประเทศไทย วิลกิ้นและทัพใหญ่ (Wilkin & Thapyai, (2009) รายงานว่าพบพืชวงศ์กลอย สกุล Dioscorea จำนวน 42 ชนิด และมีชนิดที่รับประทานได้ 22 ชนิด โดยพบกระจายพันธุ์ไปในเขตร้อนชื้น ทั้งในบริเวณที่ชุ่มชื้นจนถึงพื้นที่แห้งแล้ง มีศูนย์กลางการกระจายพันธุ์อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่มีการแพร่พันธุ์ถึงเขตอบอุ่นและเขตหนาว นอกจากนี้ยังมีมันป่าชนิดที่หายาก คือ มันหนอน (D. arachidna Prain & Burkill) ซึ่งมีจำนวนน้อยในธรรมชาติ และเป็นพืชที่พบได้ในเฉพาะถิ่น (เชิดศักดิ์, 2555) พืชวงศ์กลอยในประเทศไทยพบกระจายตั้งแต่ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง พื้นที่รกร้าง พื้นเปิดโล่งจากกิจกรรมของมนุษย์ ไปจนถึงบริเวณชายฝั่งทะเลหรือลานหินที่แห้งแล้ง (Wilkin & Thapyai, 2009) สำหรับมันป่าที่คนไทยนิยมนำมารับประทาน ได้แก่ กลอย (D. hispida Dennst.) มันอ้อนหรือมันมือเสือ (D. esculenta (Lour.) Burkill) และมันเลือดหรือมันเสา (D. alata L.) เป็นต้น (เชิดศักดิ์, 2555) แต่สำหรับกลอยจะต้องนำไปล้างสารพิษในหัวก่อน โดยหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ นำไปแช่น้ำไหลผ่านหรือต้มในน้ำเกลือโดยเปลี่ยนน้ำหลายครั้ง (Flach and Rumawas, 1996) มันป่าที่บริโภคส่วนใหญ่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น มันเลือด ซึ่งมีคาร์โบไฮเดรต โปรตีน แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม สารแอนโทไซยานิน และแคโรทีนอยด์ (รงรอง, 2560) ในส่วนของการจำแนกชนิดทำได้โดยอาศัยลักษณะการเลื้อยพันของลำต้น ลักษณะของลำต้น ใบ ช่อดอก ผล และเมล็ด (เชิดศักดิ์, 2560)

วัตถุประสงค์

1. เพื่อสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

    สยามบรม ราชกุมารี (อพ.สธ.)

2. เพื่อศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ของมันป่า (Dioscorea) ในเขตภาคเหนือตอนล่าง

3. เพื่อรวบรวมสายพันธุ์มันป่าสำหรับเป็นธนาคารพันธุกรรมพืช

 

           ประเด็นปัญหาก่อนการวิจัย

มันป่า เป็นพืชที่อยู่ในสกุล Dioscorea หรือวงศ์ Dioscoreaceae มีประมาณ 630 ชนิดในประเทศไทยมีรายงานการศึกษาทบทวนพืชในสกุลนี้ พบจำนวน 42 ชนิด ส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้เป็นพืชอาหาร แต่รายงานเกี่ยวกับการนำมาใช้เป็นพืชสมุนไพรยังมีจำนวนน้อยชนิด ที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์แผนไทยมีทั้งสิ้น 3 ชนิด คือ D. bulbifera L. D. hispida Dennst. และ D. membranacea Pierre ex Prain &  Burkill และมีเพียง 1 ชนิดที่มีรายงานการวิจัยสนับสนุนฤทธิ์ทางชีวภาพ คือ  D. membranacea Pierre ex Prain &  Burkill  มันป่าเป็นพืชที่มีเถาเลื้อยมีลำต้นสะสมอาหารอยู่ใต้ดิน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน น้ำตาลและวิตามิน และมีสารสำคัญ เช่น saponin tanin diosgenin dioscorealide เป็นต้น มันป่าพืชที่เจริญเติบโตและให้ผลผลิตง่าย จึงเป็นอาหารเสริมหรือทดแทนอาหารอื่นในประเทศที่เกิดภาวะประชากรเพิ่มขึ้นหรืออาหารขาดแคลน ประกอบกับในปัจจุบันพืชพรรณชนิดต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน และภาวะโลกร้อน เป็นต้น ส่งผลให้พืชหลายชนิดสูญพันธุ์และไม่สามารถขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้ การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ เก็บรวบรวมพันธุ์ การศึกษาวิธีเพาะปลูกจึงเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของมันป่า และการส่งเสริมความรู้จากการใช้ประโยชน์จากพืชดังกล่าวเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

การแก้ปัญหาโดยใช้งานวิจัย

สำรวจและศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดมันป่า ข้อมูลการแพร่กระจายพันธ์ แหล่งอาศัย การรวมรวมพันธุ์ การขยายพันธุ์ และการนำมาใช้ประโยชน์ในเขตภาคเหนือตอนล่าง

การถ่ายทอดองค์ความรู้

           ถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร นิสิต นักศึกษาและผู้ที่สนใจ

ข้อค้นพบ

สำรวจมันป่าในเขตภาคเหนือตอนล่าง จำแนกชนิดด้วยลักษณะสัณฐานวิทยาและเครื่องหมายดีเอ็นเอชนิดไมโครแซทเทลไลท์พบ มันป่าทั้งสิ้น 13 ชนิด จากทั้งหมด 42 ชนิด ที่มีรายงานการพบในประเทศไทย ได้แก่ ได้แก่ กลอย (D. hispida Dennst.) มันกะทาด (D. wallichii Hook.f.)  กลิ้งกลางดง (D. bulbifera L.) มันดง (D. glabra Roxb.) มันแดงดง (D. brevipetiolata Prain & Burkill) มันเทียน (D. filiformis Blume) มันแซง (D. oryzetorum Prain & Burkill) มันเลือด (D. alata L.) ยั้ง (D. birmanica Prain & Burkill) มันหนอน (D. arachidna Prain & Burkill) มันหนอนใบเกลี้ยง (D. craibiana Prain & Burkill) มันมือเสือ (D. esculenta (Lour.) Burkill) และมันคันขาว (D. pentaphylla L.) มีการใช้ประโยชน์ 7 ชนิด โดยแบ่งเป็นการใช้ประโยชน์ทางอาหาร 5 ชนิด ได้แก่ กลอย มันเลือด มันแซง มันมือเสือ และมันคันขาว และมีการใช้ประโยชน์ทางสมุนไพร 2 ชนิด ได้แก่ กลิ้งกลางดงและยั้ง

     มันป่าที่ใช้เป็นอาหาร

1. กลอย (D. hispida Dennst.)
2. มันเลือด (D. alata L.)
3. มันแซง (D. oryzetorum Prain & Burkill)
4. มันมือเสือ (D. esculenta (Lour.) Burkill)
5. มันคันขาว (D. pentaphylla L.)

มันป่าที่ใช้เป็นสมุนไพร

1. กลิ้งกลางดง (Dbulbifera L.)
2. ยั้ง (Dbirmanica Prain & Burkill)
การจำแนกความหลากหลายทางชีวภาพของมันป่าด้วยเครื่องหมายดีเอ็นเอชนิดไมโครแซทเทลไลท์ โดยใช้เทคนิคปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรส (PCR) โดยใช้ไพรเมอร์ UBC822

ข้อเสนอแนะและการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์

จากการศึกษาทำให้เห็นความหลากหลายของชนิดมันป่าในเขตภาคเหนือตอนล่าง โดยมีการนำไปใช้ประโยชน์ทางอาหารและสมุนไพร มันป่าบางชนิดได้รับความนิยมในการบริโภคแต่ไม่มีการปลูกเป็นระบบ เนื่องจากไม่ค่อยมีแหล่งต้นพันธุ์ เช่น มันแซง จึงควรส่งเสริมการขยายพันธุ์ และการเก็บรักษาผลผลิต หรือชนิดที่เป็นที่รู้จัก เช่น กลอย ที่รสชาติดี แต่ต้องล้างสารพิษในหัวออกก่อนบริโภค หากมีกรรมวิธีในการล้างสารพิษออกได้เร็วขึ้น จะทำให้เกิดการปลูกในระบบเกษตรกรรม และการแปรรูปในเชิงอุตสาหกรรม

เอกสารอ้างอิง

เกศริน มณีนูน. (2556). สมุนไพรจากพืชสกุลกลอยในตำรับยาแผนไทย. วารสารวิทยาศาสตร์ มข, 41(4), 797-807.

เชิดศักดิ์ ทัพใหญ่, มานะ จิตฤทธิ์, และเทพณรงค์ ยะสุข. (2555, 26-27 มกราคม). พืชวงศ์กลอยถิ่นเดียวและหายากของประเทศไทย [เอกสารสัมมนา]. การประชุมสัมมนานิเวศวิทยาป่าไม้, กรุงเทพฯ.

เชิดศักดิ์ ทัพใหญ่, มานะ จิตฤทธิ์, และเทพณรงค์ ยะสุข. (2560). การศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านของของชนเผ่ามลาบรี กรณีศึกษา : มันป่าบริเวณศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตขุนน้ำสะเนียน-ห้วยลู่ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน. วารสารวนศาสตร์, 36(1), 33-46.

รงรอง หอมหวล. (2560). มันเลือดมันพื้นบ้านมากคุณประโยชน์. วารสารเกษตรอภิรมย์, 3(18), 36-38.

Burkill, I. H. (1951). Diocoreaceae. Flora Malesiana. 1(4), 295-335.

Flach, M. & Rumawas, F. (1996). Plant yielding non-seed carbohydrates. Backhuys.

Wilkin, P. & Thapyai, C. (2009). Dioscoreaceae. Forest Herbarium, Royal Forest Department