ADS


Breaking News

วช.ส่งงานวิจัยต้นแบบจัดร้านอาหารชีวิตวิถีใหม่ New Normal เสริมมาตรฐานสุขอนามัย

วช. หนุนงานวิจัยต้นแบบการจัดร้านอาหารชีวิตวิถีใหม่ New Normal ตามมาตรฐานสุขอนามัย
ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
นายศรัณยู  สว่างเมฆ อาจารย์สาขาวิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
    จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนตื่นตัวในด้านสุขอนามัยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม Social Distance ในชีวิตวิถีใหม่ยุค New Normal จึงมีการปรับพฤติกรรมในการเข้าไปใช้บริการในร้านอาหาร ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข สอดคล้องกับงานวิจัยของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ในการศึกษาพฤติกรรมการปรับตัวของผู้เข้ารับบริการร้านอาหารสำหรับออกแบบและพัฒนาต้นแบบร้านอาหารวิถีใหม่ในสังคมเปลี่ยนแปลง New Normal เพื่อสร้างมาตรฐานของการเสริมสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับผู้ใช้บริการร้านอาหาร โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช. ) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
   ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. เป็นองค์กรสำคัญของรัฐ ในการสนับสนุนงานวิจัย นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์คิดค้นต่างๆ สามารถใช้เป็นองค์ความรู้นำไปปรับใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เสริมศักยภาพด้านการผลิตในภาคส่วนต่างๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19  ทาง วช. ได้ให้การสนับสนุนผลงานวิจัยในหลายด้าน รวมไปถึงการจัดระเบียบพฤติกรรมของผู้บริโภคในร้านอาหาร หลังมีมาตรการผ่านคลายให้สามารถนั่งรับประทานอาหารที่ร้านได้ แต่ยังต้องยึดตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข โดยผลงานการดีไซน์ออกแบบร้านอาหารต้นแบบ เพื่อให้เป็นไปตามสุขอนามัย ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
   นายศรัณยู  สว่างเมฆ อาจารย์สาขาวิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เปิดเผยว่า ทางทีมวิจัยได้ร่วมกัน ออกแบบการจัดรูปแบบของร้านอาหารในยุค New Normal เพื่อลดความแออัดและเว้นระยะห่าง เริ่มตั้งแต่การออกแบบพื้นที่การใช้สอย ( Zoning ) ภายในร้าน การจัดโต๊ะอาหาร  การคัดกรองก่อนเข้าร้าน การสัญจรภายในร้าน จุดวางช้อน จาน  อุปกรณ์เสริม อาทิ ฉากกั้นโต๊ะจัดวางอาหาร ระบบการถ่ายเทอากาศภายในร้านทั้งระบบปิดและระบบเปิด ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขโดยนำวิทยาการเรื่องการออกแบบมาประยุกต์ใช้ตามลักษณะทางกายภาพของแต่ละร้าน ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ถือว่าเป็นการยกระดับมาตรฐานการใช้บริการร้านอาหาร ให้สูงกว่าอดีตที่ผ่านมา ก่อนที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 รวมถึงสามารถสร้างความอุ่นใจให้ผู้บริโภค ซึ่งถือว่าเป็นองค์ความรู้สามารถนำมาปรับใช้สำหรับเจ้าของกิจการร้านอาหาร โดยสามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช. )